เมื่อวาน เวลา 04:00 • ข่าว

ฝุ่นม่วงเถือก

อาทิตย์ก่อนบอกเลยว่าสาหัสจริงกับเรื่องฝุ่นpm2.5
ตัวเลขม่วงเถือกกันถ้วนหน้าวนรอบกัน24ชั่วโมง
ภาวะที่ว่าพอจะรู้ว่ามีเยอะในช่วงฤดูนี้เพราะลักษณะสภาพอุตุนิยมวิทยาของไทยในช่วงเวลานี้จะมีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจายและสะสมในพื้นที่จนเกินค่ามาตรฐาน
cr. กรุงเทพธุรกิจ
ผลของฝุ่นล่ะ?
มันทำให้คนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีโรคประจำตัวหรือสูงอายุแล้วเจ็บป่วยง่ายมาก
ผลของฝุ่นpm2.5ทั่วไปน้น อาจทำให้แสบคอแสบจมูก ระคายเคืองตาและผิวหนังเป็นเบื้องต้น ถ้าค่าฝุ่นสุงมากขนาด150ไมโครกรัม/ลบ.ม.อาจทำให้คนตายได้จากหัวใจขาดเลือดและสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนในกลุ่มเปราะบางถ้าค่าฝุ่นอยู่ที่37.5มคก./ลบ.ม. โรคหืดอาจกำเริบง่าย จมูกอักเสบ ภูมิแพ้กำเริบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ โรคหัวใจโรคสมองกำเริบ และถ้าเกิน75มคก/ลบ.ม.กลุ่มนี้ก็อาจตายได้เลย
มีการระบุจากกระทรวงสาธารณสุขว่าภาพรวมของเดือนมค.67นั้นพบกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบมากเป็นอันดับ1 ตามมาด้วยตาอักเสบ โรคปอดอุดตันเรื้อรัง โรคหืดและโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนมค.ปี68ก็ไม่แตกต่าง
ส่วนใกล้ตัวที่เห็นๆคือครอบครัวผมเอง
เด็กๆเป็นหวัดกับภูมิแพ้ง่ายกว่าปกติมาก ผมก็เหมือนกันทั้งที่แทบไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนแฟนตอนนี้พัฒนาจากหวัดกลายไปเป็นไซนัสอักเสบ ไอกันจนเจ็บชายโครงลามไปถึงหลังกันเลย กินยากันไปเป็นกำๆ ต้องถอยเครื่องฟอกอากาศกันให้วุ่น
cr. กรุงเทพธุรกิจ
น่ากลัวจริงๆ
เอาล่ะ ไหนๆก็ว่ากันถึงเรื่องฝุ่นแล้วก็จะว่าต่อเรื่องฝุ่นจากข่าวที่อ่านเจอ
เริ่มต้นกันที่กรมควบคุมมลพิษได้มีการจัดทำมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองปี68 โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน
สาระสำคัญคือมีรายงานสรุปข้อมูลปี67 พบว่าพื้นที่ภาคเหนือ17จังหวัดอยู่ในสถานการณ์แย่ที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยpm2.5ทั้งปีที่46มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่มีค่าเกินมาตรฐาน129วัน(4เดือนกว่าๆ) ส่วนกทม.และปริมณฑลอยู่ที่33มคก./ลบ.ม. จำนวนวันอยู่ที่97วัน(3เดือนกว่าๆ)
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจึงได้ตั้งเป้าลดพื้นที่การเผาไหม้ไว้ดังนี้
1.พื้นที่ป่า ควบคุมการเผาไหม้จุดเสี่ยง14กลุ่มป่าให้ลดลง25%จากปี67
2.พื้นที่เกษตร ควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ลดลง10-30%
3. พื้นที่เมือง ควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม จัดทำRisk Mapวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนด้วย
(ทั้งหมดนี้เห็นด้วยครับถ้าทำได้จริง)
...
ข้ามมาที่กระทรวงสาธารณสุขกัน
ทางกระทรวงมีแนวทางการปฏิบัติเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคจากการสัมผัสฝุ่นpm2.5 โดยจะกำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคเมื่อมีค่าการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝุ่นในช่วง24ชั่วโมงที่มากกว่า75มคก./ลบ.ม.เป็นระยะเวลาหนึ่งและยกเลิกเมื่อค่าน้อยกว่า37.5มคก./ลบ.ม.ติดต่อกันเป็นเวลา7วัน ถ้าค่าฝุ่นเกิน37.5มคก./ลบ.ม.จะยกระดับเฝ้าระวังสุขภาพ
เมื่อประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วจะมีมาตรการดังนี้
1.สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่นpm2.5กับกลุ่มเปราะบาง(เอ่อ...)
2.เวิร์คฟรอมโฮม/งดกิจกรรมกลางแจ้ง(หลายคนทำอยู่แล้วนา)
3.ทำศูนย์พักคอยกลุ่มเปราะบางและผู้มีโรคประจำตัว(ใครจะมารึ?)
4.ขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการเพื่อลดฝุ่น(เอ่อ...)
ประชุมกันตั้งนาน ได้มาตรการแบบนี้ครับ
...
ต่อไปก็ว่ากันที่ผลกระทบของฝุ่นครับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่าฝุ่นpm2.5ส่งผลกระทบหลายด้านทั้งค่าเสียโอกาส ค่ารักษาพยาบาลและผลกระทบต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยประเมินว่ากทม.และปริมณฑลในระยะเวลา1เดือน มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่ที่3-6พันล้านบาท
ส่วนสอท.แจงว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ4ด้านดังนี้
1.ด้านการเกษตร
2.ด้านการคมนาคม/ขนส่ง
3.ด้านการก่อสร้าง
4.ด้านอุตสาหกรรม
ในกทม.และปริมณฑลส่วนใหญ่ฝุ่นจะมาจากการคมนาคม/ขนส่งและรถโดยสารสาธารณะที่ปล่อยควันดำขาดการควบคุมลงโทษที่จริงจัง ส่วนโรงงานส่งผลน้อยกว่า และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือการท่องเที่ยว
(ตรงนี้ขอแทรกนิดครับ เท่าที่อ่านเจอ ฝุ่นในกทม.และปริมณฑลเกิดจากรถก็จริงแต่มันเป็นช่วงเวลา ส่วนโรงงานที่ตั้งอยู่รอบๆโดยเฉพาะแถวสมุทรสาครก็เป็นสาเหตุหลักอยู่ไม่น้อยที่ปล่อยมลพิษต่างๆออกมาล้อมกรอบกันไว้ พอไม่มีลมหรือระบายอากาศได้ต่ำอย่างในช่วงนี้ ทำให้เมืองเหมือนโดนล้อมเอาไว้ครับ)
ในส่วนภาครัฐได้มีการเสนอร่างพรบ.ฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ
พรบ.ที่ว่านี้คือพรบ.อากาศสะอาดที่มีข่าวว่ากำลังลุ้นให้ผ่านสภาในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะทันเพราะสภาจะปิดสมัยประชุมช่วงเดือนเม.ย.พอดี ถ้าไม่ทันก็ต้องรอเปิดประชุมใหม่อีกนาน
แหม ทีกับพรบ.กาสิโนนี่จะเร่งให้ได้ใน50วัน ทีพรบ.นี้ดันเอื่อยเฉื่อยพิกล ต้องรอกระทุ้งสีข้างอยู่เรื่อย
...
พรบ.นี้ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีสาระสำคัญที่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะควบคุมต้นเหตุของการเกิดฝุ่น6สาขาคือสาขาเกษตร สาขาป่าไม้ สาขาอุตสาหกรรม สาขาคมนาคม สาขาเมืองและฝุ่นข้ามแดน รวมทั้งจะกำหนดให้มี"กองทุนอากาศสะอาด"ด้วยเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาทุกๆด้าน และใช้ต่อยอดการแก้ปัญหาเชิงรุกให้ได้ผลเป็นรูปธรรม
ชูมือเห็นด้วยครับถ้าทำได้
...
พรบ.นี้น่าสนใจจริงๆถ้าผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้สำเร็จ แต่แว่วๆว่ามีหลายกลุ่มก็คัดค้านเพราะเรื่องเสียผลประโยชน์ต่างๆ
คงต้องดูกันไปอีกยาวๆทั้งที่น่าจะผ่านได้ฉลุยได้ไม่แพ้พรบ.กาสิโน
อย่างว่า ผลประโยชน์ล้วนๆ
cr. กรุงเทพธุรกิจ
ถ้าถามว่าเห็นด้วยกับพรบ.ไหม ก็ตอบว่าเห็นด้วยครับ
แต่ในขณะนี้ยังไม่พบรายละเอียดอะไรมากนักผมจึงไม่อยากมโนไปไกลว่าพรบ.นี้จะทำอะไรได้หรือเปล่า เพียงแค่อยากตั้งข้อสังเกตไว้นิดว่าพรบ.นี้ดูหลวมๆไปหน่อย ไม่ได้ตั้งอะไรไว้เป็นการเฉพาะ อาจจะผลักดันอะไรได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
อย่างว่า พอเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมดูเหมือนรัฐบาลจะตุปัดตุเป๋มากกว่าจะขยับตัวเทคแอคชั่น แถมยังแว่วว่าบรรดา สส.หรือรัฐมนตรีหลายคนก็เอี่ยวกับผลประโยชน์ที่มีอบจ.อบต.อะไรพวกนี้กับนายทุนของแต่ละที่ที่เขาเป็นแบ็คให้ ทำให้แทบไม่มีการขยับเขยื้อนกฎหมายหรือระเบียบบังคับต่างๆลงไปในพื้นที่เลย ทุกคนเงียบกริบ
นายทุนที่ว่าก็ไม่ใช่อื่นไกล เขาว่ากันว่าคือขาประจำตัวใหญ่มีระดับกันทั้งนั้น ชื่อคับประเทศ
ถ้ายังไม่ชัวร์ผมขอเสนอความเห็นจากดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมครับ
อาจารย์ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่กทม.สามารถบังคับใช้กฎหมายพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ2550กับพรบ.สาธารณสุข2535แก้ไข2560 ผู้ว่าฯสามารถกำหนดแหล่งกำเนิดมลพิษแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานอื่นได้เลย (สมัยอดีตผู้ว่าฯอัศวิน ขวัญเมืองก็เคยใช้) ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น ผู้ว่าฯจังหวัดนั้นๆสามารถใช้กฎหมายทั้ง2ฉบับนี้ได้เช่นกัน
อาจารย์ให้ความเห็นต่อไปว่าแปลกใจทำไมไม่มีผู้ว่าฯคนไหนใช้กฎหมายทั้ง2ฉบับนี้เลย หรือว่าเกรงใจใคร? หรือเพราะใกล้เลือกตั้งอบจ.หรือเปล่า อีกทั้งใกล้เลือกตั้งเทศบาลด้วย (แหม อาจารย์ครับ พูดตรงจริง และผมอ่านจากหลายแหล่งแล้วว่าประเด็นนี้มีมูล ถึงขนาดจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกันได้ด้วย เลื่อยขาเก้าอี้กันสุดฤทธิ์)
อาจารย์แกทิ้งท้ายว่า ตอนนี้มาบอกว่าตั้งแผนมาใหม่ พอประกาศใหม่ก็ต้องเริ่มใหม่ สุดท้ายเลยไม่ได้เทคแอคชั่นอะไร ของเก่าก็แก้ไม่หมด ของใหม่ก็ต้องคิดอีกทั้งที่ไม่ต้องคิดใหม่หรอก ของเก่ามีบอกไว้หมดแล้ว(ฮาดีครับ ชอบ)
...
เอาล่ะ ในเมื่อเป็นแบบนี้ กฎหมายก็เตรียมจะออกมาแล้ว คราวนี้ลองดูว่ามีอะไรที่ควรจะทำอีก
มีงานเสวนาทางวิชาการจากทางจุฬาฯว่าถ้ามัวแต่ใช้มาตรการเดิมๆคงไม่สามารถลดฝุ่นได้อย่างแน่นอน สิ่งที่ควรทำคือกลับไปสนใจเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ตั้งต้นที่ต้นทางจากบ้านไปยังระบบขนส่งสาธารณะด้วย ทางเดินเท้าที่สะดวก ทางจักรยานที่ต้องมีระบบนิเวศของระบบจักรยานด้วย
ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้นควรมีการตรวจสอบทำบัญชีว่าแต่ละโรงปล่อยอะไรออกมาบ้าง หลายที่ที่กรมโรงงานฯเข้าไม่ถึงก็ต้องมีท้องถิ่นร่วมด้วย ภาครัฐก็ต้องเต็มที่กับการแก้ไขปัญหาโดยนึกถึงประชาชนเป็นหลักรวมทั้งกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน(อันนี้คงยากหน่อย การดูแลมันหยวนมานาน ไม่อยากปรับแก้)
...
อันนี้เป็นมาจากการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA Forum) โดยคณะกรรมการสุขถาพแห่งชาติ(สช.)กับทางภาคีจัดที่เชียงใหม่ สรุปว่าขอให้ทางรัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขมาแก้ไขจัดการต่างๆและขอให้กำหนดแผนแม่บทแก้ไขปัญหาฝุ่นควันด้วย
เรียกร้องให้บริษัทเอกชนด้านเกษตรและอาหารแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาฝุ่นด้วยการปฏิเสธไม่รับซื้อผลผลิตที่มีการเผาในกระบวนการ(ส่วนนี้ผมว่าสำคัญมากเพราะเขามีอิทธิพลสูงกว่ารัฐ)
และเสนอให้ประชาชนยุติการใช้ไฟเตรียมการเพาะปลูก หาของป่าหรือล่าสัตว์ และเรียกร้องให้ประกาศใช้พรบ.อากาศสะอาดได้ทันปี68
แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างกับเรื่องฝุ่น?
ทำเท่าที่ตัวเองจะทำได้และสะดวกที่จะทำ
แหม พูดง่ายจริง
เราคงต้องทำอะไรบ้างล่ะครับ ไม่งั้นมีหวังเดี้ยง
สิ่งแรกที่ทำคือลดการจุดธูปเผากระดาษเผาขยะกับเศษใบไม้ต่างๆก่อนเลย (เรื่องเผาอ้อยผมหาข้อมูลก็ให้เห็นใจเกษตรกรกับคนตัดอ้อยอยู่ไม่น้อย ส่วนเผาทำลายทางการเกษตรอื่นๆของดหน่อยเถอะ)
ต่อมาก็พยายามใช้ระบบขนส่งสาธารณะบ้างนอกจากใช้รถส่วนตัว รถก็เอาไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตัวกรองต่างๆตามกำหนด ถ้าไหวก็อาจจะใช้รถอีวีแทน รถที่ควันดำหรือใช้งานเกินสภาพแล้วก็ปลดระวางมันไปบ้างเถอะ
ส่วนมาตรการต่างๆจากทางรัฐคงต้องรอฟังกันต่อไปว่าจะมีอะไรบ้าง
มีอีกอันที่น่าสนใจคือเวียนเทียนด้วยต้นไม้ครับ
เป็นการรณรงค์ให้งดจุดธูปเทียนที่สร้างมลพิษในทุกวันสำคัญทางศาสนาตลอดปีนี้ และให้นำต้นกล้าพันธุ์ไม้ไปปลูกในชุมชนวัดหรือพื้นที่สาธารณะแทนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
อันนี้ดี เพียงแต่มันใช้เวลานานหน่อยแต่ได้ผลในระยะยาวเพราะต้นไม้มีประโยชน์มากกว่าอย่างอื่น
แต่ไม่ใช่ปลูกต้นอะไรก็ได้ บางอย่างก็ไม่น่าปลูกเพราะเกสรปลิวว่อนหรือโครงสร้างเปราะบางล้มง่าย
พูดถึงต้นไม้เลยนึกถึงว่าเมื่อก่อนเคยไปปักกิ่ง
นานมากแล้วนะครับ
บรรยากาศที่นั่นตอนนั้นจะดูมัวๆ อึมครึม ฝุ่นเพียบ เข้าใจว่าเป็นpm2.5 บวกกับเกสรดอกไม้ว่อนไปหมด
ถามไกด์ได้ความว่าเกสรดอกไม้นี้มาจากต้นไม้ที่ปลูกที่นี่นานมาแล้วเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ไม่มีใครคิดว่าเกสรจะปลิวว่อนขนาดนี้ ส่วนฝุ่นมาจากรถต่างๆรวมทั้งโรงงานและพายุทรายที่พัดเข้ามา ที่เซี่ยงไฮ้ก็เป็น
แต่เมื่อปีก่อนบ้านแฟนไปเมืองจีน เขาว่าอากาศดีกว่าที่คิดไว้เยอะมาก ฝุ่นน้อย ต้นไม้พวกนั้นเห็นว่าโค่นทิ้งหมดแล้ว น่าจะเพราะรัฐบาลเข้มงวดเรื่องนี้และปรับเปลี่ยนทุกอย่างแบบเด็ดขาด ไม่หยวน
ทำได้ก็ดีครับ เราเห็นตัวอย่างแล้ว
แต่ยังไงเราๆท่านๆคงต้องเจ็บตัวกันบ้าง
ไม่มีอาหารกลางวันฟรีๆครับ
...
เอ๊ะ ขึ้นต้นด้วยฝุ่นไหงลงท้ายแบบนี้ได้ล่ะเนี่ย?

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา