Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TRUST NEWS
•
ติดตาม
31 ม.ค. เวลา 00:40 • ธุรกิจ
ตัวตน&คมคิด เหลียงเหวินเฟิง ก่อนปฏิบัติการเพิร์ลฮาร์เบอร์
“เหลียง เหวินเฟิง” (Liang Wenfeng) นักธุรกิจหนุ่มชาวจีนวัย 40 ปี กลายเป็นจุดโฟกัสของชาวโลกเพียงชั่วข้ามคืน จากการเปิดตัวโมเดล AI ที่มีชื่อว่า DeepSeek-R1 ที่ใช้เวลาในการพัฒนาเพียง 2 เดือน และใช้เงินลงทุนไปเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (202ล้านบาท)
และยังต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดจาก ชิป A100 ของ Nvidia ที่ซื้อสะสมไว้ถึง 10,000 ตัว ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐ จะประกาศแบนเทคโนโลยีกับบริษัทจีน ถึง 3 ครั้งใน 3 ปี รวมถึงยังต้องหันไปใช้ชิปเกรดต่ำนับพันชิ้นในการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
หากแต่ผลลัพท์ที่ได้ กลับมีประสิทธิภาพในงานด้านคณิตศาสตร์ และการเขียนโค้ด เทียบเท่า OpenAI o1 ของ ChatGPT จนสร้างแรงสั่นไหวครั้งใหญ่ให้กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐ ที่ต่างเผาเงินไปกับการลงทุนพัฒนา AI อย่างมหาศาล รวมกันมากกว่า 197,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.6ล้านล้านบาท) ในปี 2024
อีกทั้งการเปิดตัวโมเดลล่าสุด DeepSeek-R1 ซึ่งได้รับการยอมรับในวงกว้างว่า มีประสิทธิภาพเทียบเท่า โมเดล OpenAI o1 ของ OpenAI ผู้นำในตลาดปัจจุบัน นั้น มันยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนร่วมทุน Stargate ที่มีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16ล้านล้านบาท) ระหว่าง OpenAI , Oracle และ Softbank เพื่อหวังสร้างให้เป็นหลักประกันสำหรับอนาคตด้านเทคโนโลยีของประเทศเสียด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้สื่อในประเทศจีน เปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ไม่ต่างอะไรกับการลอบจู่โจมที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2”
ผู้ชายคนนี้ ชื่อ เหลียง เหวินเฟิง :
“เหลียง เหวินเฟิง” เกิดปี 1985 ในพื้นที่เมืองระดับ 5 (Fifth-tier Cites) ของ เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยมีคุณพ่อเป็นครูโรงเรียนระดับประถมศึกษา เมื่ออายุได้เพียง 17 ปี ได้เข้าเรียนที่ คณะวิศวกรรมสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (มหาวิทยาลัยอันดับที่ 4 ของประเทศจีน และอันดับที่ 45 ของโลก) ในปี 2002 ด้วยผลการเรียนที่ดีเยี่ยม
** หมายเหตุ : เมืองระดับ 5 (Fifth-tier Cites) คือ ระบบการจำแนกระดับเมืองของรัฐบาลจีน โดยระดับ 5 คือ เมืองขนาดเล็ก มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า การคมนาคมขนส่งไม่ค่อยสะดวก และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม **
ต่อมาในปี 2008 ขณะกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท “เหลียง เหวินเฟิง” ได้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ก่อตั้งทีมเก็บรวบรวมข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะตลาดการเงินและข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค ก่อนจะนำข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น มาใช้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณสำหรับการวิเคราะห์สินทรัพย์ที่น่าลงทุน
หลังกลายเป็นนักศึกษาที่น่าจับตาจากโปรเจคดังกล่าว มีรายงานว่า “หวัง เตา” (Wang Tao) มหาเศรษฐีเจ้าพ่อโดรน และผู้ก่อตั้งบริษัท DJI เคยส่งเทียบเชิญให้ “เหลียง เหวินเฟิง” มาร่วมกันปลุกปั้น DJI ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นด้วยกัน
แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะกลายเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกในอีกไม่ช้า” เขาจึง “ปฏิเสธ” ข้อเสนอดังกล่าวพร้อมกับตัดสินใจเดินหน้าเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง
หลังเรียนจบปริญญาโท คณะวิศวกรรมสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในปี 2010 เขาใช้เวลา 3 ปี จับมือร่วมกับ “ซวี จิน” (Xu Jin) เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ก่อตั้ง Jacobi Investment
ต่อมาในปี 2015 ทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทหางโจวหวงฟางเทคโนโลยี (Hangzhou Huanfang Technology) หรือ ปัจจุบันคือ บริษัทเจ้อเจียงจี๋วจาง แอสเซท เมนเนจเมนท์ (Zhejiang Jiuzhang Asset Management) และในปีถัดมา ได้ก่อตั้ง บริษัทหนิงปอ ฮวนฟาง ควอนทิเททีฟ อินเวสต์เมนท์ เมนเนจเม้นท์ พาร์ทเนอร์ชิป (Ningbo Huanfang Quantitative Investment Management Partnership) หรือที่ปัจจุบันรู้จักในชื่อ High-Flyer
โดย “เหลียง เหวินเฟิง” ได้โฟกัสให้ High-Flyer เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาการใช้ อัลกอริทึมและAI สำหรับการวิเคราะห์และซื้อขายสินทรัพย์ที่น่าลงทุน (Quantitative Investing) หรือ Quant อย่างจริงจัง
จนเป็นผลให้ “High-Flyer” เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 100,000 ล้านหยวน (467,471ล้านบาท) และกลายเป็น 1 ใน 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Quant ของประเทศจีนได้สำเร็จในปี 2019
ต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2023 High-Flyer ได้ประกาศว่าจะจัดตั้งหน่วยงานวิจัยใหม่ ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนา “Artificial General Intelligence” (AGI) หรือ ระบบ AI แห่งอนาคตที่จะมีความสามารถเทียบเท่ากับมนุษย์ ทั้งการคิดและวิเคราะห์ โดยจะมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน คล้ายมนุษย์ ภายใต้ชื่อ “DeepSeek”
คมความคิดของ เหลียง เหวินเฟิง ที่ทำให้ DeepSeek กลายเป็นปรากฏการณ์!
1. เปลี่ยนจาก Application Innovation เป็น Technological Innovation
เปลี่ยนความคิดเดิมๆที่ว่า สหรัฐฯเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี หรือ การสร้างและนำเทคโนโลยี เครื่องมือ ระบบ และกระบวนการใหม่ หรือ ที่ปรับปรุงแล้วมาใช้และนำไปสู่ความก้าวหน้า (Technological Innovation)
ส่วนจีน เป็นเลิศด้านนวัตกรรมประยุกต์ (Application Innovation) หรือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยี หรือสินค้าที่มีอยู่ในตลาด มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คมคิด เหลียง เหวินเฟิง :
1.1 “ประเด็นสำคัญที่ทำให้ DeepSeek มุ่งเน้นไปที่งานวิจัยเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริษัทชั้นในในประเทศจีน เพราะเราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีส่วนร่วมในนวัตกรรมระดับโลก หลายปีที่ผ่านมา บริษัทในประเทศจีนคุ้นเคยอยู่แต่กับการใช้ประโยชน์จาก Technological Innovation ที่พัฒนาจากประเทศอื่นๆ แล้วจึงนำสิ่งเหล่านั้นมาแปรเปลี่ยนเป็น Application Innovation
แต่วิธีการแบบนี้ ปราศจากความยั่งยืน ดังนั้นเป้าหมายของเราจึงไม่ได้มุ่งโฟกัสไปที่การสร้างผลกำไรอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการพัฒนาเพื่อขยายขอบเขตทางเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของระบบนิเวศ”
1.2 “เราเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจีน จะต้องค่อยเปลี่ยนจาก ผู้ได้รับประโยชน์ไปเป็นผู้มีส่วนร่วม มากกว่าจะเอาแต่ตามหลังผู้อื่นต่อไป เพราะในช่วง30ปีที่ผ่านมา ของการปฏิบัติด้านไอที จีนแทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมในด้าน Technological Innovation หลักๆเลยแม้แต่น้อย และอาจเป็นเพราะการที่จีนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในประบวนการที่ว่านี้ก็เป็นได้ จึงมองข้ามความความสำคัญของกระบวนการนี้ไป
เป็นที่ทราบกันดีว่าการสร้างนวัตกรรมนั้น ต้องใช้ต้นทุนสูง ด้วยเหตุนี้ในอดีตจีนจึงมักเลือกที่จะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว มาเชื่อมต่อการพัฒนา แต่ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของจีนรวมถึงผลกำไรของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น ByteDance และ Tencent มีความสำคัญในระดับโลก
ฉะนั้นสิ่งที่เราขาดจึงไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นความมั่นใจและความสามารถในการจัดระเบียบเหล่าอัจฉริยะเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง!”
2. ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี AI
คมคิด เหลียง เหวินเฟิง :
2.1 “เราเชื่อว่า เทคโนโลยี AI ของจีน จะต้องไม่อยู่ในฐานะผู้ตามตลอดไป บ่อยครั้งเรามักพูดว่า AI ของจีนและสหรัฐฯ มีช่องว่างทางเทคโนโลยีที่ห่างกันถึง 1 หรือ 2 ปี แต่ช่องว่างที่แท้จริงมันคือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ การลอกเลียนแบบต่างหาก หากสิ่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง จีนก็จะยังคงเป็นผู้ตามตลอดไป!”
2.2 “สำหรับบรรดานวัตกรรมที่เกิดขึ้นทุกๆวันในสหรัฐ การปรากฏตัวของ DeepSeek ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรมากนัก หากแต่ความเซอร์ไพร์ซที่เกิดขึ้นกับพวกเขา (บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ) เป็นเพราะได้เห็นบริษัทจากจีนเข้าไปร่วมเล่นเกมในฐานะผู้สร้างนวัตกรรม โดยไม่ใช่เพียงผู้ตามหลังในแบบที่เคยเป็นมา”
3. อุปสรรคจากมาตรการคว่ำบาตรเทคโนโลยีของสหรัฐฯต่อจีน
คมคิด เหลียง เหวินเฟิง :
“การคลอบงำเทคโนโลยี AI โดยบริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ อย่าง NVIDIA มันไม่ใช่เป็นแค่เพียงแค่หนึ่งในความพยายามเท่านั้น แต่มันเป็นผลมาจากระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีของตะวันตก ที่จับมือกันสำหรับการเดินหน้าแผนงานด้านเทคโนโลยีในยุคถัดไป
ดังนั้น จีนจึงต้องการระบบนิเวศที่คล้ายกันนี้ด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ปัจจุบันบรรดาผู้ผลิตชิปภายในประเทศจำนวนมากต่างพากันล้มหายตายจาก เนื่องจากขาดแคลนการสนับสนุนจากชุมชนเทคโนโลยีรวมถึงข้อมูลเชิงลึก ดังนั้นจึงต้องมีใครสักคนที่ก้าวผ่านพรมแดนนี้ออกไป”
4. DeepSeek เป็นแค่ AI ราคาถูก
คมคิด เหลียง เหวินเฟิง :
“ผมไม่ได้คิดว่า การกำหนดราคาจะกลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในตลาด AI เพราะผมเพียงแค่เดินไปตามการคาดคำนวณต้นทุน และการตั้งราคาให้เหมาะสม เพราะหลักการของเราคือ จะต้องไม่ขายแบบขาดทุน หรือ แสวงหาผลกำไรที่มากจนเกินพอดี ฉะนั้น การตั้งราคา ณ ปัจจุบัน จึงช่วยทำให้เรามีอัตราผลกำไรสูงกว่าต้นทุนเพียงเล็กน้อย
อีกทั้งการดึงดูดผู้ใช้งานด้วยราคาที่ต่ำกว่า ไม่ใช่เป้าหมายหลักของบริษัท ประเด็นที่ทำให้เราลดราคาเป็นเพราะข้อแรก ขณะที่เริ่มสำรวจการสร้างโมเดลรุ่นต่อไป ต้นทุนของเราก็ลดลง และข้อที่ 2 เราเชื่อมั่นว่า การเปิดให้บริการ AI ไม่ควรมีราคาแพงมากเกินไป เพื่อทำให้ทุกคนควรสามารถเข้าถึงได้”
1
5. การเฟ้นหาอัจฉริยะทางด้านเทคโนโลยี
คมคิด เหลียง เหวินเฟิง :
5.1 “มาตรฐานการจ้างงานของเรา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหลงใหลและความอยากรู้อยากเห็นมาโดยตลอด สมาชิกในทีมของเราหลายคนมีภูมิหลังที่เป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจ รวมถึงยังมีความกระหายในงานวิจัย มากกว่าความกังวลเรื่องการเงินทอง”
5.2 “สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเหล่าอัจฉริยะคือ โอกาสในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ยากที่สุดในโลก ในความเป็นจริงเหล่าอัจฉริยะในประเทศจีนถูกประเมินค่าต่ำเกินไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการสร้างนวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องยาก นั่นจึงหมายความว่าพวกเขาจึงไม่ค่อยได้รับการยอมรับ สิ่งที่เราก็เพียงแค่ให้ในสิ่งที่พวกเขาปราถนา”
ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลของ Phoenix Technology ระบุว่า นวัตกรรมของ DeepSeek ถูกพัฒนาจาก ระดับล่าง ไปสู่ ระดับบน เนื่องจากบริษัทออกแบบลำดับชั้นโครงสร้างเอาไว้หลวมๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน
ด้วยเหตุนี้ พนักงานของ DeepSeek ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่า มีอยู่ประมาณ 100 คน จึงเป็นนักศึกษาจบใหม่ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหวา เป็นหลัก โดย เหลียง เหวินเฟิง ระบุถึงการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า….
“บริษัทของเราจะรับสมัครอัจฉริยะที่มีเพียง 1% เพื่อทำในสิ่งที่บริษัทจีน 99% ไม่สามารถทำได้!”
3
สำหรับกิจวัตรประจำวันในการทำงานของ เหลียง เหวินเฟิง นั้นในทุกๆวัน เขาจะนั่งอ่านเอกสาร เขียนโค้ด และมีส่วนร่วมในการประชุมกลุ่มต่างๆ
นอกจากนี้สิ่งที่น่าแปลกไปจากบริษัททั่วๆไป คือ “ไม่มีแผนกประชาสัมพันธ์” เพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ซิลิคอลวัลเลย์ จึงเรียก DeepSeek ว่า “พลังลึกลับจากตะวันออก" (Mysterious forec from East) จากการที่มักสร้างปรากฏการณ์ต่างๆในแบบมาเงียบๆ
** หมายเหตุ “คมคิด เหลียง เหวินเฟิง” เป็นการรวบรวมจากบทสัมภาษณ์ของ เหลียง เหวินเฟิง กับสื่อในประเทศจีน **
สรุปลำดับการก้าวกระโดดของ DeepSeek :
2พ.ย.2023 :
DeepSeek เปิดตัวโมเดลแรก ที่มีการเปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับนักวิจัยและผู้ใช้งานเชิงพาณิชย์
29พ.ย.2023 :
DeepSeek เปิดตัว DeepSeek LLM ซึ่งขยายขนาดพารามิเตอร์ได้ถึง 67B เพื่อแข่งขันกับ LLM อื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น และเบื้องต้นยังมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ โมเดล GPT-4 ของ OpenAI ด้วย
1
** หมายเหตุ LLM หรือ Large Language Models คือ โมเดลพื้นฐานการประมวลผลของ Generative AI ซึ่ง LLM จะเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบเชิงลึก (Deep Learning) โดยผ่านการถูกเทรนด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล **
พ.ค.2024 :
เปิดตัวโมเดล DeepSeek-V2 พร้อมเปิดเกมสงครามราคาครั้งแรก ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI ด้วยการลดค่าใช้จ่ายสำหรับทุกๆการเรียกใช้ LLM เพื่อตอบสนองการใช้งาน AI (ทั้ง Input และ output) หรือ Inference Cost เพียง 1 หยวน (4.71บาท) สำหรับทุกๆ 1 ล้านโทเค็น ซึ่งต่ำกว่าราคาของ ทั้ง โมเดล Llama3 70B ของ Meta และ โมเดล GPT-4 Turbo ของ OpenAI เป็นอย่างมาก
พ.ย.2024 :
เปิดตัว โมเดล DeepSeek R1-Lite-Preview ที่ได้รับการออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพในงานด้านคณิตศาสตร์ และการเขียนโค้ด รวมถึงการแก้ไขปัญหาแบบ Real Time
26ธ.ค.2024 :
เปิดตัวโมเดล DeepSeek-V3 พร้อมเปิดเกมสงครามราคาอีกครั้ง ด้วยการกำหนดราคา API สำหรับ DeepSeek-V3 เพียง 0.5 หยวน (2.35บาท) cache hit และ 2 หยวน (9.41บาท) Cache Miss สำหรับทุกๆ 1 ล้านโทเค็น input และ 8 หยวน (37.64บาท) สำหรับทุกๆ 1 ล้านโทเค็น output ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับ โมเดล Doubao-pro-256k ของ ByteDance
นอกจากนี้ ยังได้รับความนิยมอย่างสูง จนกระทั่ง แซงหน้า ChatGPT ของ OpenAI กลายเป็นแอปพลิเคชันฟรี ที่ได้รับคะแนนสูงสุดบน App Store ในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
20 ม.ค.2025 :
เปิดตัว โมเดล DeepSeek-R1 ที่มีประสิทธิภาพในงานด้านคณิตศาสตร์ และการเขียนโค้ด เทียบเท่า โมเดล OpenAI o1 ของ OpenAI ผู้นำในตลาดปัจจุบัน ซึ่งใช้ต้นทุนการพัฒนาสูงกว่าหลายเท่าตัว
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง?
#DeepSeek #เหลียงเหวินเฟิง #LiangWenfeng #AI #ปัญญาประดิษฐ์ #คมคิดเหลียงเหวินเฟิง #จีน #DeepSeek-R1 #OpenAIo1 #OpenAI #ChatGPT #สหรัฐ #โดนัลด์ทรัมป์ #ข่าวเทคโนโลยี #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews #OUTFIELDMAN
10 บันทึก
23
2
10
10
23
2
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย