3 ก.พ. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยสำหรับตีตลาดน้ำหอมไทยไปตลาดน้ำหอมญี่ปุ่น

ตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าภายในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ได้รับความสนใจมากขึ้น แม้ว่ามูลค่าการจำหน่ายน้ำหอมในตลาดญี่ปุ่นจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของมูลค่าการจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางทั้งหมด
แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายน้ำหอมกลับมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลัง (2021-2023) ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 1.4 เท่าในแต่ละปี และในปี 2023 ตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นมียอดจำหน่ายรวมถึง 8,997 ล้านเยน (ประมาณ 1,980 ล้านบาท) และคาดว่าในปี 2024 จะทะลุ 10,000 ล้านเยน (2,200 ล้านบาท) นับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเข้าไปทำตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่น
ขอบคุณภาพจาก aucview.aucfan.com
ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดน้ำหอมญี่ปุ่น
ตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ น้ำหอมจากแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Chanel หรือ Diorส่วนน้ำหอมจากผู้ผลิตญี่ปุ่น เช่น Shiseido Kao น้ำหอมประเภท "Niche Fragrances" ที่เน้นกลิ่นเฉพาะตัว และน้ำหอมแบบ "Personalized Perfumes" ซึ่งมีการปรับกลิ่นตามความต้องการของผู้ใช้เฉพาะตัว
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้รับฉายาว่าเป็น “ดินแดนทะเลทรายไร้กลิ่นน้ำหอม” เนื่องจากชาวญี่ปุ่นไม่นิยมใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นแรง แม้แต่ในสถานที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร หรือสถานที่ทำงาน แต่พฤติกรรมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้น้ำหอมที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน ซึ่งสะท้อนผ่านความนิยมในน้ำหอมกลุ่ม "Personalized Perfume" ที่มีการสั่งทำขึ้นเฉพาะบุคคล
ขอบคุณภาพจาก maidonanews.jp
โอกาสสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย
จากแนวโน้มที่ตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความนิยมในน้ำหอมกลุ่มนิช และน้ำหอมส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น นี่คือโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตน้ำหอมในไทยที่มีวัตถุดิบคุณภาพ ทั้งดอกไม้และพืชพรรณท้องถิ่นที่สามารถนำมาผสมผสานให้กลายเป็นกลิ่นหอมที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ขอบคุณภาพจาก ameblo.jp
น้ำหอมจากไทยมีข้อได้เปรียบในด้านของวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย เช่น ดอกไม้จากภาคเหนือหรือสมุนไพรท้องถิ่นที่สามารถนำมาผสมให้กลิ่นหอมที่แปลกใหม่ซึ่งผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นกำลังมองหา นอกจากนี้ การนำเสนอเรื่องราวและเอกลักษณ์ของน้ำหอมที่ผลิตในไทย ยังสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการเรียนรู้และสะสมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหอม
กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น
1. ผลิตน้ำหอมประเภท Niche Fragrances น้ำหอมกลุ่มนิชที่มีความเป็นเอกลักษณ์และกลิ่นที่แตกต่างจากตลาดหลักนั้นมีโอกาสเติบโตในญี่ปุ่น ดังนั้นการพัฒนาน้ำหอมที่มีส่วนผสมพิเศษจากธรรมชาติที่หายาก หรือมีเรื่องราวที่น่าสนใจจะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคญี่ปุ่น
2. Personalized Perfumes การผลิตน้ำหอมที่สามารถปรับแต่งกลิ่นตามความต้องการเฉพาะของผู้ใช้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ดีในการสร้างความภักดีให้กับลูกค้า การเปิดตัวน้ำหอมที่ลูกค้าสามารถสั่งทำได้ตามรสนิยมของตนเองจะตอบโจทย์ตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นที่กำลังมองหาความเป็นเอกลักษณ์
3. การสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของกลิ่นหอมและบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม จะช่วยเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ และดึงดูดกลุ่มลูกค้าในตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นได้
4. การตลาดผ่านช่องทางเฉพาะ ร้าน Select Shop และร้านน้ำหอมนิช เช่น Nose Shop ในญี่ปุ่น เป็นช่องทางที่ดีในการวางจำหน่ายน้ำหอมที่มีความเฉพาะตัว การเลือกขายผ่านช่องทางเหล่านี้จะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจเฉพาะเจาะจงและชื่นชอบน้ำหอมที่แตกต่าง
ขอบคุณภาพจาก news.lifenesia.com
ดังนั้นตลาดน้ำหอมในญี่ปุ่นยังมีศักยภาพในการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำหอมที่มีเอกลักษณ์และเป็นส่วนบุคคล สำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย การนำเสนอน้ำหอมที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและมีเรื่องราวที่น่าสนใจสามารถสร้างความแตกต่าง และเป็นโอกาสในการสร้างฐานลูกค้าในตลาดนี้ได้ การเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นไม่ใช่แค่การขายน้ำหอม แต่ยังเป็นการนำเสนอความเป็นไทยที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังมองหาสิ่งใหม่และแตกต่างจากที่เคยมีมาก่อน
Reference : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมา
อ่านเพิ่มเติม : https://www.ditp.go.th/post/194218
โฆษณา