Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Movie Trivia
•
ติดตาม
31 ม.ค. เวลา 07:05 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
แมว, ดนตรี, มิยาซากิ และ ออสก้าร์ : เป้าหมายและแรงบันดาลใจการสร้าง “Flow”
ถือเป็นหนึ่งในแอนิเมชัน ที่ทยอยขโมยหัวใจคนทั่วโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ สำหรับ “Flow” แอนิเมชันทุนอิสระ สัญชาติลัตเวีย ที่กลายมาเป็นตัวแทนของประเทศเข้าชิงออสก้าร์ และได้ชิงถึง 2 สาขา อย่าง ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และ ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม
ซึ่งไม่เพียงแต่จะน่าประทับใจ ผู้อยู่เบื้องหลังและหัวเรือหลักของหนัง กลับเป็นชายหนุ่มอายุ 30 ปี อย่าง เกนซ์ ซิลบาโลดิส ที่ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่กำกับ ฯ เพราะเขายังควบรวมทั้งเขียนบท, ตัดต่อ, กำกับภาพ หรือกระทั่ง เรนเดอร์แอนิเมชันทั้งหมด ใต้ซอฟต์แวร์ฟรีอย่าง Blender
โดยจากบทสัมภาษณ์ของ เกนซ์ ซิลบาโลดิส ผู้กำกับ ฯ จาก “Flow” ได้ให้ไว้กับทาง Letterboxd เพื่อพูดคุยถึงเป้าหมายในการนำเสนอเรื่องราว ที่ขับเน้นผ่านภาพและดนตรีเป็นหลัก โดยไร้ซึ่งบทพูด จนกระทั่งต้องหาวิธีถ่ายทอดเรื่องราวที่ชัดเจนผ่านการกระทำ หรือกระทั่ง การเลือกใช้เสียงแมวจริง ๆ ถ่ายทอดแทนตัวละคร รวมถึงแรงบันดาลใจหลักที่เป็นที่มาของแอนิเมชันเรื่องนี้ ผ่านงานปรมาจารย์อย่าง ฮายะโอะ มิยาซากิ หรือกระทั่ง อัลฟองโซ กัวรอง
“เพราะมันไม่มีบทสนทนา มันจึงสำคัญ ที่ต้องมอบความชัดเจนให้กับทุกอย่าง และเราต้องทำความเข้าใจแรงจูงใจ เป้าหมาย และความกลัวของเหล่าตัวละคร”
“ด้วยความที่น้องเป็นแมว ความกลัวน้ำ จึงเป็นบางอย่างที่คุณไม่จำเป็นต้องอธิบาย สิ่งที่ท้าทายจริง ๆ คือการมีชุดตัวละครหลักถึง 5 ตัว และให้แต่ละตัวได้ออกเดินทาง ซึ่งพวกเขาล้วนมีหน้าที่ในการสนับสนุน ไม่ก็ท้าทายน้องแมว แต่ผมอยากให้ตัวอื่น ๆ น่าสนใจมากพอด้วย แต่ก็เหมือนกับบทดนตรี ถ้าคุณมีหลายโน้ต มันจะฟังดูยุ่งและน่ารำคาญเกินไป”
“โดยรูปแบบดนตรีที่ผมชอบคือ เพลงที่ให้ความรู้สึกมินิมอล มันมีความกระจัดกระจายในนั้น แต่คุณไม่มีอะไรที่ไม่จำเป็นอยู่ในนั้น เพราะผมไม่อยากเสียเวลาไปกับอะไร ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวละคร เราไม่ได้อธิบายว่า เกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ หรือ น้ำท่วมใหญ่นี้มาจากไหน เพราะเราประสบไปพร้อม ๆ กับมุมมองของน้องแมวตัวนี้ และเราไม่ได้อธิบายออกมาเป็นคำพูด แม้เราจะพยายามทิ้งคำใบ้ไว้ให้ผู้ชมไปเดาเอง ซึ่งส่วนตัว ผมคิดว่ามันน่าสนใจกว่า ในการตั้งใจดู ไม่ใช่ป้อนข้อมูลเพียงอย่างเดียว” ซิลบาโลดิส กล่าว
โดย ซิลบาโลดิส ซึ่งไม่ได้ทำเพียงหน้าที่เดียวใน “Flow” แต่ก็ยังเหมารวมตำแหน่ง ประพันธ์ดนตรีร่วมกับ ริฮาร์ดส ซาลูป เพราะเขาเห็นว่า ดนตรีประกอบ มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนและโอบอุ้มเรื่องราวไม่แพ้งานด้านภาพ เฉกเช่น งานของ เซอร์จิโอ้ ลีโอเน ปรมาจารย์หนังคาวบอยสปาเกตตี ให้ เอนนิโอ มอร์ริโคเน่ นักประพันธ์เพลงคู่กาย มาทำหน้าที่บรรเลงดนตรีประกอบถึงในกองถ่าย
ซึ่งส่วนตัว ซิลบาโลดิส เอง ก็ดึงแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งส่วนมากเป็นการเคลื่อนกล้องแบบลื่นไหลลองเทคจาก “Children of Men” ของ อัลฟองโซ กัวรอง หรือกระทั่ง วิธีสร้างสมดุลเรื่องราว ในการใช้องค์ประกอบของธรรมชาติ หรือจังหวะเรื่องราว จาก อากิระ คุโรซาว่า และ ฮายะโอะ มิยาซากิ
“ผมเป็นแฟนหนัง อัลฟองโซ กัวรอง และลองเทคของเขา รวมถึงการที่มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นในเฟรม ผมรัก ‘Children of Men‘ และผมเองก็ชอบ อากิระ คุโรซาว่า ที่วิธีที่เขาใช้องค์ประกอบธรรมชาติเชิงภาพ เช่น ลมและฝน แต่รวมถึงงานเสียงด้วย มันเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวที่มีพลัง ก็แต่เป็นช่วงเวลาอันเงียบสงบของธรรมชาติ”
“หรือ ผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง ฮายะโอะ มิยาซากิ ถ่ายทอดธรรมชาติในรูปแบบที่คุณสามารถสะท้อนจากสิ่งที่คุณเพิ่งเห็น โดยไม่มีมุกตลกคั่นระหว่างทาง เพราะการมีช่วงเวลาที่ช้าลง กลับกัน มันก็จะการกระทำที่เกิดนั้นดูเข้มข้นขึ้น”
“และผมก็ชอบในวิธีที่ เซอร์จิโอ้ ลีโอเน ทำงานร่วมกับ เอนนิโอ มอร์ริโคเน่ ทำงานตั้งแต่ช่วงก่อนถ่ายทำ และมีเพลงบรรเลงในฉาก ผมจึงตัดสินใจเขียนเพลง พร้อมกับเขียนบท เพราะมันไม่เพียงแต่จะส่งผล ต่อบรรยากาศหรือจังหวะของหนัง แต่มันโอบอุ้มเรื่องราวด้วยในคราวเดียว” ซิลบาโลดิส กล่าว
ทั้งนี้ หลังมีหลักในการทำงานผ่านบทเพลงและวิธีเลือกถ่ายทอดภาพแล้ว ซิลบาโลดิส ก็พยายามหาทางใช้เสียงของสัตว์จริง ๆ แทนที่จะใช้เสียงสังเคราะห์ เพราะสำหรับเขา เสียงคืออีกหนึ่งส่วนสำคัญของหนัง การถ่ายทอดอากัปกริยาให้สมกับเป็นพฤติกรรมของสัตว์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยสัตว์ทุกตัวใช้เสียงของสัตว์ชนิดนั้นจริง ๆ
เช่น เสียงน้องแมวตัวเอกเรื่อง ก็เป็นเสียงของเจ้า มิวอิท แมวส้มของ เกอร์วาล โกอิค-กัลลาส หนึ่งในผู้ออกแบบเสียง “Flow” เว้นก็แต่เพียง คาปิบาร่า ที่ไม่อาจจะใช้เสียงของตัวเขาได้ ผู้ออกแบบเสียงจึงตัดสินใจใช้เสียงของ อูฐทารก แทน
“เสียงสัตว์ทั้งหมด เป็นเสียงสัตว์จริง ๆ ไม่ใช่มนุษย์แสร้งทำเสียงเป็นสัตว์ และนั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีคุณภาพที่สมจริง โดยตอนที่ผมพบว่า แมวแต่ละพันธ์มีเสียงต่างกัน ส่วนใหญ่เราจึงใช้เสียงของแมวตัวเดียว ซึ่งเราไม่มีนักพากย์ ดังนั้น ผู้ออกแบบตัดต่อเสียง ก็กลายเป็นกึ่ง ๆ นักพากย์ไปโดยปริยาย ซึ่ง มันก็ไม่ใช่เรื่องเทคนิคที่คุณกำลังคิด แต่มันคือแรงจูงใจ จิตวิทยาที่ผลักดันตัวละครเหล่านี้”
“เสียงเป็นส่วนสำคัญของหนัง และแน่นอน มันคือการเคลื่อนไหวของพวกเขา ซึ่งสำหรับแมว จะซับซ้อนหน่อย เพราะน้องไม่เดินตามกฎใด ๆ น้องยืดหยุ่นมาก และมีสถานะเหมือนเป็นของเหลว น้องถูกบีบและยืดหดได้ แถมยังแสดงออกอย่างชัดเจนมาก ผ่านหางและหูสองข้าง”
“ซึ่งตอนที่ผมเจอว่า แมวไม่ค่อยมองรอบ ๆ ด้วยสายตาของพวกเขา น้องมันจะหันมองด้วยหัวของเขาเลย ซึ่งบางครั้ง เวลาเราได้ดูหนังแอนิเมชัน ที่ตัวละครมองรอบ ๆ ผ่านสายตา มันจะรู้สึกเป็นการ์ตูนมาก โชคยังดี ที่เราก็มีคลังของวิดีโอแมวมากมาย ที่เราสามารถศึกษาได้!” ซิลบาโลดิส กล่าว
ซึ่งสำหรับ ซิลบาโลดิส ความสำเร็จของ “Flow” ก็ไม่ใช่หมุดหมาย หากแต่เป็นความสำเร็จในการค้นหาซึ่งสิ่งที่ตนเองถนัด เพราะอย่างที่กล่าวว่า เขาเองก็ทำหลายหน้าที่ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งสำหรับเขาเอง เขาก็ถนัดกับการประพันธ์เพลงมากกว่าเขียนบท ซึ่ง ณ จุดนี้ เขาก็คิดว่า เป็นเรื่องที่ดี หากผู้สร้างหนังเข้าใจพื้นฐานของประเภทงานต่าง ๆ ในกอง
นอกเหนือจากนี้ ซิลบาโลดิส ยังเปรยด้วยว่า ณ ตอนที่เขาทำผลงานเรื่องแรกอย่าง “Away” เมื่อ 5 ปีก่อนด้วยตัวคนเดียว ทำให้เขาเผชิญหน้ากับวิธีการทำงานในแต่ละฝ่าย รวมถึงวิธีการสื่อสารในแต่ละฝ่าย ด้วยความเข้าใจว่าเขาอาจจะเข้าใจทีมงานได้ดีขึ้น แต่เขาก็พบว่า บางครั้ง การสื่อสารแบบอวัจนภาษา ผ่านภาพและดนตรี มันก็เป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการที่จะเปล่งเสียงพูดออกไป
“มันจะมีช่วงเวลา ที่ผมพยายามผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย เพราะผมไม่อาจเขียนบทได้นาน ๆ แต่แทนที่จะอยู่เฉย ผมหันไปประพันธ์เพลงแทน ซึ่งมันสนุกมากและงานก็ออกมาเร็ว แอนิเมชัน อาจใช้เวลาหลายต่อหลายเดือน แต่เราสามารถสร้างชิ้นงานเพลงใหม่ได้ในไม่กี่ชั่วโมง”
“ซึ่งผมคิดว่า ผู้สร้างหนังควรจะเข้าใจ หลักพื้นฐานของงานทุกประเภทที่แตกต่างกัน แน่นอน คุณจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรอก แต่พื้นฐานจะทำให้คุณเรียนรู้ได้เร็ว ซึ่งดนตรี เป็นสิ่งที่สนุกสุดสำหรับผม และผมทำได้พร้อม ๆ กับการเขียนบท นั่นเพราะการเขียนบท เป็นส่วนที่ยากสุดเลย”
“บางครั้ง ผมก็ไม่รู้ความต้องการตัวเอง ซึ่งผมอาจจะเคยได้ยินมาว่า ผู้กำกับ ฯ ควรจะรู้สิ่งที่เขาต้องการ แต่บางทีตอนที่ผมเริ่มสร้างหนัง ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องการอะไร ผมจำเป็นต้องฝ่าขั้นตอนของการค้นพบเหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจหลายสิ่งได้ดีขึ้น”
“บางครั้ง มันก็ง่ายกว่าในการสื่อสารบางอย่างออกไป ด้วยภาพหรือดนตรี มากกว่าพยายามจะสื่อสารออกไปผ่านวาจา” ซิลบาโลดิส กล่าวทิ้งท้าย
“Flow” กำกับโดย เกนซ์ ซิลบาโลดิส (“Away” และ “Oasis” จากบทที่เขียนร่วมกันกับ มาทิสส์ คาซา (“Neon Spring”) และอำนวยการผลิตแอนิเมชัน โดยสตูดิโอสัญชาติลัตเวียอย่าง Dream Well Studio ของซิลบาโลดิส
“Flow” ได้รับคัดเลือกเข้าฉายในโปรแกรมนอกสายประกวด ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2024 ที่ผ่านมา รวมถึงคว้ารางวัล Jury Award และขวัญใจผู้ชมจากเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันนานาชาติ Annecy ประจำปี 2024 อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศลัตเวีย ในการเข้าชิงสาขาภาพยนตร์นานาชาติ และ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ของออสก้าร์ครั้งที่ 97 อีกด้วย
“Flow” มีกำหนดเข้าฉายรอบพิเศษ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ นี้ ก่อนฉายจริง 6 กุมภาพันธ์ 2025
แอนิเมชั่น
ภาพยนตร์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย