เมื่อวาน เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม ไทยเงินเฟ้อต่ำ แต่หลายคนรู้สึกค่าครองชีพสูง ?

ช่วงที่ผ่านมา ตามหน้าสื่อต่าง ๆ พูดถึงว่า เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก จนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืด หรือเกือบติดลบ
หรือตามความหมายคือ ราคาสินค้าและบริการแทบไม่ปรับเพิ่มขึ้น
ซึ่งสวนทางกับความรู้สึกของใครหลายคนที่มองว่า
ค่าครองชีพเราสูงขึ้นอย่างมาก
ทำไม หลายคนรู้สึกว่าค่าครองชีพสูง ทั้งที่ไทยเงินเฟ้อต่ำ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เงินเฟ้อที่มักพูดถึงกันก็คือ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการ เทียบกับปีก่อนหน้า
ยกตัวอย่าง ถ้าในปี 2560 ราคาสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 100 บาท
ในปี 2561 อยู่ที่ 102 บาท เท่ากับว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2%
1
ทีนี้ ลองมาดูตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ปี 2558 : -0.9%
ปี 2559 : 0.2%
ปี 2560 : 0.7%
ปี 2561 : 1.1%
ปี 2562 : 0.7%
ปี 2563 : -0.8%
ปี 2564 : 1.2%
ปี 2565 : 6.1%
ปี 2566 : 1.2%
ปี 2567 : 0.4%
จะเห็นว่า เงินเฟ้อของไทยต่ำมาก โดย 5 ใน 10 ปี ที่ตัวเลขเงินเฟ้อของเราไม่ถึง 1%
แต่ถ้าดูกันอีกมุม ดัชนีราคาสินค้าและบริการ เทียบปี 2562 กับปี 2567 จะพบว่า ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น โดยรวมถึง 8%
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จากข้าวของที่เคยซื้อ 60 บาท วันนี้ต้องซื้อที่ 65 บาท
เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าแพงกว่านี้ ก็เป็นเพราะ ตัวเลข 8% เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงโดยรวมของทุกสินค้าและบริการ
หมายความว่า บางสินค้าและบริการ จะมีราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้
โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับทุกคน มีราคาปรับเพิ่มขึ้นถึง 12%
หรือก็คือ จากอาหารจานละ 60 บาท กลายเป็น 67 บาท
ซึ่งตรงนี้เอง โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะเป็นค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีวิต
จึงรู้สึกถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้มากกว่า
และสำหรับคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็อาจจะรู้สึกว่ามันแพงขึ้นมากกว่านี้
นั่นก็เป็นเพราะ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อาหารและเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูป มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น โดยเพิ่มขึ้นถึง 16%
6
หรือก็คือจากอาหารจานละ 60 บาท กลายเป็น 70 บาท
2
ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าค่าครองชีพมันสูง ทั้งที่เงินเฟ้อที่ประกาศออกมาในแต่ละปีนั้นต่ำมาก
แล้วอะไรที่ทำให้ราคาสินค้าโดยรวม ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ?
คำตอบคือ เพราะเรามีสินค้าบางกลุ่ม ที่ราคาลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ฟังดูแล้วดูไม่น่าเชื่อว่า จะมีสินค้าที่สามารถคงราคาเดิมได้นานถึงหลายปี ในภาวะที่ต้นทุนหลายอย่างเพิ่มขึ้น
นั่นก็เพราะสินค้านั้น ๆ ผลิตจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าบ้านเรา จึงสามารถคงราคาได้นาน ซึ่งเป็นตัวกดเงินเฟ้อของประเทศเราเอาไว้
ยกตัวอย่างกลุ่มสินค้าเหล่านี้ อย่างเช่น
- เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคาลดลง -0.35%
- เครื่องแต่งบ้านและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ราคาลดลง -2.5%
- สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน ราคาทรงตัว +0%
ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากจีน นั่นเอง
2
สอดคล้องกับสถิติว่า ไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มา 5 ปีติดต่อกันแล้ว และครองสัดส่วนมากถึง 40% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของไทย เลยทีเดียว
โดยการถาโถมของสินค้าจีนที่เข้ามาในไทย
เหตุผลหนึ่งมาจาก ความพยายามที่จะระบายสินค้าคงเหลือของจีน ที่โดนผลกระทบจากความต้องการภายในประเทศลดลง และการโดนกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ
1
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นตัวกดเงินเฟ้อของเราเอาไว้ นั่นก็คือ ค่าเช่าที่พักอาศัย
1
รู้ไหมว่า 5 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมค่าเช่าที่พักอาศัยของไทย เพิ่มขึ้นเพียง +0.05% เท่านั้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย
ซึ่งก็เป็นผลมาจาก ปัญหาในภาคอสังหาฯ ทั้งกำลังซื้อของคนที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP รวมถึงหนี้เสียที่พุ่งขึ้น
1
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่บั่นทอนกำลังซื้อของคนไทย
ทำให้ความต้องการซื้อน้อยกว่าความต้องการขาย เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้ค่าเช่าอสังหาฯ แทบไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลย ในช่วงที่ผ่านมา
และอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยกดเงินเฟ้อคือ แรงงานต่างด้าว
ที่เข้ามาเป็นแรงงานในบ้านเรา และรับค่าแรงขั้นต่ำเพียงวันละ 300 ถึง 400 บาท หรืออาจยอมรับค่าแรงที่น้อยกว่านั้น
ทั้งเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย และลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย
3
ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิต หรือบริการในบ้านเรา ยังต่ำอยู่ได้
ถึงตรงนี้คงเห็นภาพขึ้นแล้วว่า แม้เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่กับทุกสินค้าและบริการ
เพราะอย่างหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ก็ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าโดยรวม
และจริง ๆ แล้ว ก็ยังมีสินค้าในหมวดพลังงานด้วยเช่นกัน ที่มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 23% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
3
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะได้ยินคนพูดกันมากว่า รู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เพราะทั้งอาหารและพลังงาน ล้วนเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแทบทุกคน
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใครต้องซื้อสินค้ากลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก หรือเป็นค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีวิต ก็จะยิ่งรู้สึกว่าค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้คือการพูดถึงแค่ในฝั่งของ “รายจ่าย”
แต่อย่าลืมว่า ยังมีฝั่ง “รายได้” ที่เราก็ควรดู เพราะเป็นสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกเรื่องค่าครองชีพเช่นกัน
โดยเมื่อดูสถิติรายได้ของคนไทยจะพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งคนที่ทำงานอยู่ในภาคการผลิต ภาคการบริการ
รวมถึงคนที่ทำอาชีพอิสระ ล้วนมีรายได้เพิ่มขึ้นพอ ๆ กันที่ประมาณ 11%
โดยมีเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 20%
จากตัวเลขนี้ก็เท่ากับว่า รายได้ของเราโตมากกว่าราคาสินค้าโดยรวมที่อยู่ที่ประมาณ 8% และโตพอ ๆ กับค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% แต่ก็ยังแพ้ให้กับค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นถึง 23%
1
แต่ด้วยการที่ตัวเลขรายได้นี้เป็นค่าเฉลี่ย
นั่นหมายความว่า คนที่รายได้โตน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ก็อาจจะรู้สึกว่าค่าครองชีพของเรามันเพิ่มขึ้นมาก ๆ ได้
เนื่องจากรายได้ของเราโตไม่เท่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ มีมากกว่าเดิมนั่นเอง
และทั้งหมดนี้ ก็คือเหตุผลว่าทำไม ไทยเงินเฟ้อต่ำ แต่หลายคนกลับรู้สึกว่า ค่าครองชีพสูง..
1
โฆษณา