31 ม.ค. เวลา 10:45 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Star Trek: Section 31

ถ้ายีน ร็อดเดนเบอร์รีตะโกนบอกพาราเมาท์จากหลุมศพได้ คงเปล่งเสียงทั้งน้ำตาว่า
"ไม่อยากเป็นมาร์เวลโว้ย"
ว่าไปแล้วผมพยายามดู star Trek ยุคใหม่ๆ ที่เป็นซีรีส์แล้วบอกตามตรงว่าไม่ค่อยชอบหรือเข้าใจหนังชุดนี้มากนัก Star Trek ใหม่ ๆ ไม่ใช่สิ่งที่แฟนคลาสสิกคุ้นเคย แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาของแฟรนไชส์เพื่อดึงดูดผู้ชมรุ่นใหม่ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคที่ความบันเทิงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่ายิ่งเปลี่ยนแปลงมันก็ยิ่งเป็นมาร์เวลขึ้นไปทุกที ยิ่งหลังๆมีจักรวาลคู่ขนานมัลติเวิร์สอีกด้วย
แฟน ๆ ของ Star Trek ที่เติบโตมากับซีรีส์คลาสสิกอย่าง The Original Series หรือ The Next Generation มักรู้สึกว่าซีรีส์ใหม่ ๆ อย่าง Discover หรือ Picard แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และบางครั้งก็ยากที่จะตามให้ทัน เพราะมันห่างไปจากความตั้งใจเดิมทุกทีๆ
การเปลี่ยนแปลงในโทนและสไตล์ของซีรีส์ใหม่ ๆ อาจทำให้แฟนคลาสสิกรู้สึกไม่คุ้นเคย Star Trek แบบเดิมที่พวกเขารักเคยเน้นไปที่การสำรวจอวกาศและการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา รวมถึงการสะท้อนประเด็นสังคมผ่านเรื่องราวที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ในขณะที่ซีรีส์ใหม่ ๆ กลับเต็มไปด้วยความเข้มข้น เน้นการต่อสู้ แอคชัน และพล็อตที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทำให้การดำเนินเรื่องไม่เหมือนกับสิ่งที่แฟนคลาสสิกเคยคาดหวัง
อีกด้านหนึ่ง ซีรีส์ใหม่ ๆ มักจะเน้นเรื่องราวที่มืดหม่นและจริงจังมากขึ้น เช่น การเมืองภายในองค์กร การทรยศ และการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกับอุดมคติแห่งความหวังและความก้าวหน้าที่ Star Trek ในยุคก่อนเคยนำเสนอไว้
การรับอิทธิพลจากแฟรนไชส์สมัยใหม่อย่าง Marvel ก็อาจทำให้แฟนคลาสสิกรู้สึกไม่คุ้นเคยกับ Star Trek ใหม่ ซีรีส์เหล่านี้เต็มไปด้วยแอคชันและเอฟเฟกต์ที่อลังการ และมีการเชื่อมโยงจักรวาลข้ามซีรีส์ เช่น การปรากฏตัวของ Section 31 หรือการเดินทางข้ามเวลา ซึ่งทำให้ความซับซ้อนของเนื้อเรื่องเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผู้ชมที่คุ้นเคยกับโครงเรื่องแบบตอนต่อตอนรู้สึกตามไม่ทัน
การเชื่อมโยงเรื่องราวและการนำเสนอตัวละครที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในซีรีส์ใหม่ ๆ ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่คุ้นเคยให้กับแฟน ๆ ที่คุ้นเคยกับตัวละครใน Star Trek ชุดคลาสสิกที่มักมีบุคลิกที่ชัดเจน ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน แต่ตัวละครในซีรีส์ใหม่ ๆ มักมีพื้นหลังและแรงจูงใจที่ซับซ้อนมากกว่า ซึ่งทำให้เรื่องราวดูเหมือนจะขาดความเรียบง่ายที่เคยทำให้ Star Trek ได้รับความนิยม
ตัวละครจอร์จิอูที่รับบทโดยมิเชล โหย่ว ปรากฏตัวใน Star Trek: Discovery ซึ่งพาราเมาท์ต้องการสปินออฟเรื่องราวของเธอและหน่วย Section 31 ออกมาเป็นภาคแยก ซึ่งออกหนัง Section 31 เป็นไพลอตโปรเจ็ค ซึ่งจะว่าไปแล้วหากเราไม่ได้ติดตาม Star Trek: Discovery และไม่เข้าใจเรื่องราวในซีรีส์ชุดใหม่ๆมาก่อน คุณก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะ Section 31 แทบไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ Star Trek ที่เราคุ้นเคยเลย
Section 31 คือหน่วยข่าวกรองและปฏิบัติการลับของสหพันธ์ดาวเคราะห์หรือสตาร์ฟลีท ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ขัดแย้งกับอุดมคติของสหพันธ์ที่ยึดมั่นในหลักจริยธรรมและสันติภาพ หน่วยนี้ถูกแนะนำครั้งแรกใน Deep Space Nine และมีบทบาทสำคัญใน Discovery ซีซัน 2 โดยจอร์จิอูเคยร่วมงานกับพวกเขาในฐานะเอเย่นต์อิสระ หน่วยนี้ได้แทรกแซงการเมืองระหว่างดวงดาว ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งในตัวตนของสตาร์ฟลีท และหนังชุดนี้ที่จะไม่แทรกแซงอารยธรรมใดๆ เรียกว่าไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Gene Roddenberry ผู้สร้าง Star Trek
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อจอร์จิอูได้กลายเป็นเจ้าของไนต์คลับในที่ชายขอบของสหพันธ์ดาวเคราะห์ เธอได้รับการทาบทามจาก Section 31 ให้ร่วมทีมตามหาอาวุธมหาวิบัติที่สามารถทำลายจักรวาลได้ ทีมงานประกอบด้วยตัวละครที่ดูเหมือนจะออกมาจากหนังรวมทีมฮอลลีวูดทั่วไป เช่น ผู้นำที่ขรึม หญิงเซ็กซี่ ชายที่เน้นพละกำลังเป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งแต่ไร้ซึ่งความฉลาด ฯลฯ
หลายคนคงคิดว่าเนื้อหานี้น่าจะเป็นหัวข้อที่ดีสำหรับหนังแนวสายลับที่เต็มไปด้วยการต่อสู้และเหตุการณ์แปลกประหลาดในอวกาศ แต่ Section 31 กลับทำให้ผู้ชมผิดหวังอย่างสิ้นเชิง มันเหมือนกับงานเลียนแบบ Guardians of the Galaxy โดยแทบไม่มีการเชื่อมโยงกับจักรวาล Star Trek เลย
สิ่งที่ทำให้ผิดหวังมากที่สุดคือ Section 31 ดูเป็นหนังตลกปนแอ็กชั่นที่ไร้สาระ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าเสียดายมาก เมื่อพิจารณารว่ามีมิเซล โหย่ว นักแสดงผู้มีความสามารถ แต่กลับทำให้เธอต้องแสดงบทบาทที่ขาดความลึกซึ้งและน่าสนใจ แม้ว่า Section 31 จะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล Star Trek แล้ว ก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นความผิดพลาดของพาราเมาท์ ที่ควรจะคิดสงสารยีน ร็อดเดนเบอร์รีบ้าง
ปานนี้แกคงนอนร้องไห้ในหลุมศพแล้ว
1/10
โฆษณา