3 ก.พ. เวลา 03:00 • การตลาด

สรุป 10 วิธี วางตำแหน่งให้สินค้า ช่วยสร้างจุดขาย ให้ไม่ซ้ำแบรนด์อื่น

- Product Positioning คือ การวางตำแหน่ง หรือภาพลักษณ์ ให้กับสินค้า ที่ต้องการทำให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้
เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งในตลาดเดียวกัน รวมถึงทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจดจำได้ จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ
โดยการกำหนด Product Positioning มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 10 รูปแบบ
1. Feature Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า โดยนำ “ฟีเชอร์” หรือ “คุณสมบัติ” ที่ผลิตภัณฑ์ทำได้ มาเป็นจุดเด่นของสินค้า
โดย Feature Positioning นั้น จะเหมาะกับสินค้าที่มีฟีเชอร์ หรือคุณสมบัติ ที่ดีกว่าหรือแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ ของคู่แข่ง
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- Apple ที่นำจุดเด่นด้านคุณสมบัติ และฟีเชอร์ของ iPhone มาใช้เป็นจุดขาย ทั้งด้านคุณสมบัติของกล้อง ความแรงของชิปเซต และความล้ำของฟีเชอร์ Apple Intelligence บน iPhone 16 ทุกรุ่น
2. Emotional Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า โดยเน้นไปที่อารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับลูกค้า เช่น ความสุข ความรัก ความภาคภูมิใจ และความปลอดภัย
ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ และความรู้สึกเป็นหลัก แทนที่จะตัดสินใจซื้อด้วยเหตุและผล เหมือนอย่างการวางตำแหน่งสินค้าในรูปแบบอื่น ๆ
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- Coca-Cola ที่สร้างความเชื่อมโยงทางด้านอารมณ์ระหว่างเครื่องดื่มของตัวเองกับลูกค้า ด้วยการสื่อสาร ความสุข ความสดชื่น และการใช้เวลาร่วมกันระหว่างเพื่อน ๆ หรือคนในครอบครัว
3. Experiential Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า โดยชูจุดเด่นด้านประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ จากการใช้สินค้าของเรา แทนที่จะนำเสนอฟีเชอร์ หรือคุณสมบัติของสินค้า
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- Uniqlo ที่กำหนด Product Positioning ของสินค้าบางรุ่น ด้วยการชูจุดเด่นด้านความสะดวกสบายในการเคลื่อนไหวร่างกาย และความเย็นสบายจากการสวมใส่เสื้อผ้า ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ลูกค้าหาไม่ได้จากแบรนด์อื่น
4. Price-Based Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า จากปัจจัยทางด้านราคา เพื่อสร้างความแตกต่าง เช่น การวางตำแหน่งสินค้าให้มีราคาถูกที่สุด หรือสินค้ามีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีงบประมาณจำกัด หรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- สมาร์ตโฟนของ Xiaomi ที่ให้สเปกแบบจัดเต็ม แต่ขายในราคาย่อมเยา ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา
5. Quality Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า โดยเน้นไปที่คุณภาพของสินค้าที่เหนือกว่าแบรนด์อื่น เพื่อสร้างความแตกต่างในมุมมองของลูกค้า
เช่น คุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ คุณภาพการผลิต คุณภาพการใช้งานที่ดี หรือการชูจุดเด่นด้านงานทำมือ (Handmade)
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- รถยนต์ Mercedes-Benz ที่วางตำแหน่งไว้เป็นแบรนด์รถยนต์คุณภาพดี ทั้งในด้านการออกแบบ คุณภาพวัสดุที่เลือกใช้ คุณภาพการขับขี่ที่ดี และมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง
6. Use-Case Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า ตามการใช้งาน โดยแสดงให้เห็นถึงการใช้งานจริงของสินค้า ตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
โดยอาจมีการจำลองสถานการณ์ตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าสามารถเติมเต็มความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่ได้
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- Samsung ที่เลือกนำเสนอการใช้งานจริงของ Galaxy AI ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การใช้ AI เพื่อแปลภาษาแบบเรียลไทม์ สำหรับคนไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการใช้ AI ช่วยสรุปข่าวบนเว็บไซต์
7. Competitive Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า โดยมุ่งเน้นไปที่การแข่งขัน ให้สินค้ามีความแตกต่างเหนือคู่แข่ง จนทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์เรา
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- Apple ที่วางตำแหน่งสินค้าของตัวเองทั้ง Mac และ iPhone ว่ามีระบบความปลอดภัยขั้นสูง มีความปลอดภัยในการใช้งานมากกว่าคู่แข่งอย่าง Windows และ Android
8. Benefit Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า โดยเน้นไปที่ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้สินค้า แทนที่จะเน้นไปที่คุณสมบัติ หรือข้อมูลเชิงเทคนิค
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- สินค้าความงามและสกินแคร์ ที่มักนำเสนอว่า สกินแคร์นี้ช่วยลดเลือนริ้วรอยและจุดด่างดำ
- สินค้า FMCG เช่น น้ำยาซักผ้า ที่มักนำเสนอว่า น้ำยาซักผ้านี้ช่วยขจัดคราบได้อย่างหมดจด แบบไม่ต้องขยี้ โดยที่ไม่ได้นำเสนอส่วนผสม ที่มักเป็นชื่อยาก ๆ ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รับรู้
9. Cultural Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า ตามวัฒนธรรม ค่านิยม หรือความเชื่อ ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
โดยการวางตำแหน่งสินค้าในรูปแบบนี้ จะได้ประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมโยงด้านอารมณ์ระหว่างลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกับแบรนด์ จนทำให้ลูกค้าเกิดการตัดสินใจซื้อ
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- PAÑPURI ที่สอดแทรกความเป็นไทย ลงไปในตัวสินค้า เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบ การออกแบบกลิ่นของเครื่องหอม การตั้งชื่อ หรือการออกแบบแพ็กเกจจิง
10. Lifestyle Positioning
เป็นการวางตำแหน่งสินค้า ตามไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต ความชอบ หรือบุคลิกลักษณะ ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งของการวางตำแหน่งสินค้าในรูปแบบนี้ ก็คือไม่ได้ขายเพียงแค่สินค้า แต่เป็นการขายประสบการณ์ หรือความใฝ่ฝัน ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยากได้
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กำหนด Product Positioning ในรูปแบบนี้ เช่น
- รถยนต์ MINI ที่ไม่ได้ขายเพียงรถยนต์หนึ่งคัน แต่ขายประสบการณ์การขับขี่แบบโกคาร์ต
รวมถึงขาย Community ของกลุ่มคนขับรถยนต์ MINI ที่ชอบรวมกลุ่มกันท่องเที่ยว และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
การซื้อรถยนต์ MINI จึงเป็นเหมือนการซื้อไลฟ์สไตล์ หรือสังคมไปพร้อมกัน
โฆษณา