Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร. ธีร์รัฐ บุนนาค
•
ติดตาม
31 ม.ค. เวลา 11:40 • การศึกษา
“สังคมป่วย.. เราอย่าป่วยตาม..”
ยุคนี้ ยามที่สังคมป่วย เพราะผู้คนทุกข์ยากจากปัญหาสารพัดนี้.. ต่างมองหาที่พึ่ง ที่จะช่วยเหลือจากความเดือดร้อน..
คนปัญญาไม่มาก ก็มองหาพึ่งพาสิ่งงมงาย จนถูกหลอก หรือเสียเงินเสียทอง ไปโดยเปล่าประโยชน์..
คนมีปัญญามากหน่อย ก็เข้าหาพึ่งพา คำสอนทางศาสนาที่ตนนับถือ..
ชาวพุทธที่มีปัญญา ก็แสวงหาพระธรรม คำสอน..
ทำให้มีมิจฉาอาชีวะ.. พระภิกษุ พระอริยะ และฆราวาสสอนธรรมกันมากมาย..
มิจฉาชีพหรือพระภิกษุที่แสวงหาลาภสักการะ หาคนมานับถือ ก็ต่างได้ผลพลอยดีพลอยได้ไปด้วย..
ฆราวาสที่ตั้งใจเผยแพร่เป็นกุศลทานก็มาก.. พระอริยะที่เผยแพร่ธรรมด้วยเมตตา ก็เยอะ..
ชาวพุทธยุคนี้ ที่สนใจแสวงหาธรรมแท้จริง จึงต้องใช้สติ ใข้ปัญญาพิจารณาให้ดีว่า ฟังธรรมจากใคร.. ผู้แสดงธรรมเป็นใคร.. เขามีเจตนาอย่างไร..
ความจริง ธรรมะที่แสดง มีทั้งถูกทั้งผิด.. แต่ถูกเป็นส่วนมากก็มี.. ความเห็น การตีความที่ผิดก็มี ที่ถูกก็มี..
ที่เขียนโพสต์นี้ เพราะมีฆราวาสบางท่าน.. แสดงธรรมแล้ว มีคนกล่าวหาว่า ท่านตู่พระพุทธเจ้า.. แสดงธรรมผิดเพี้ยน..
มีพระสงฆ์บางองค์.. แสดงธรรมแล้ว มีคนและคณะสงฆ์กล่าวหาว่าท่านบิดเบือนคำสอน แตกต่างจากพระไตรปิฏก..
สังคมเองที่ไม่เข้าใจ.. มักติดยึดที่ตัวผู้สอน.. มากกว่ายึดสิ่งที่ท่านสอน..
ติดยึดความเห็นผู้สอนว่าเป็นครูอาจารย์ ว่าเป็นคนที่ตนนับถือ ว่ามีความรู้มาก.. มากกว่าที่จะพิจารณาธรรมที่ท่านพูดออกมาว่า แท้มั้ย..
ก็เลยเป็นกระแส.. ที่ไม่เห็นด้วย ไม่พอใจกับคำกล่าวหาก็มี..
ที่เห็นด้วย ที่ชื่นชมสรรเสริญกับคำกล่าวหานั้น ก็มี..
สังคมพุทธ เลยสับสนกันมากขึ้น..
แทนที่จะเรียนรู้เข้าใจธรรมแท้.. กลับงุนงงว่า.. ตกลงแล้ว ใครผิด ใครถูก..
อันไหนเป็นธรรมที่สอนของพระพุทธเจ้า.. อันไหนเป็นความเห็นผู้พูดเอง.. แล้วความเห็นนั้น ถูกหรือผิดจากธรรม.. เราควรยึดถือตรงไหน..
ผู้เขียน ขอยกตัวอย่างจากตัวผู้เขียนเอง.. เพื่อให้ผู้อ่านได้คิดพิจารณา ตัดสินความผิด ถูกได้ด้วยตนเอง..
ในโพสต์ก่อนนี้ ผู้เขียนโพสต์ข้อความว่า..
“ความเสียใจ เกิดเพราะความเปลี่ยนไป.. เสื่อมไป.. สูญไปของสิ่งที่รัก..
ละวางความยึดตัวตนได้.. ก็ไม่มีสิ่งรักสิ่งชัง.. ก็วางความเศร้าเสียใจได้..”
โพสต์ดังกล่าว ผู้เขียนตัดเอาพระธรรมมาบางส่วนด้วย.. และอธิบายขยายความ ตีความตามความเข้าใจของผู้เขียนเองด้วย..
ข้อความอรรถธรรมที่นำมาแสดง นำบางส่วนมาจากถ้อยคำพุทธพจน์ว่า..
“ความเศร้าโศก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นเพราะสิ่งที่รัก..“
ถ้อยคำนี้ คัดบางตอนมาจากคำอรรถธรรมในพระไตรปิฏก ชื่อ นาคิตสูตรว่า..
“… ความรักมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่นเป็นผล นี้เป็นผลแห่งความรักนั้น..”
ลองตั้งคำถามดูนะครับ สมมุตว่า ผู้เขียนเป็นอาจารย์ เป็นพระที่แสดงธรรมแบบนี้.. จะถูกสังคมไม่เห็นด้วยอย่างไร..
1) การที่ผู้เขียน กล่าวคำที่ไม่ใช้ถ้อยคำ พยัญชนะตรงตาม พระบาลีตามที่ปรากฎในพระสูตร..
ถือว่าแสดงธรรมผิดมั้ย.. กล่าวตู่ธรรมของพระองค์มั้ย.. เป็นความผิดมั้ย..
2) การที่ผู้เขียน กล่าวเพียงบางส่วน ไม่ครบตามคำสอนเต็มที่พระองค์กล่าวต่อพระนาคิตะที่ปรากฎในพระสูตรนี้..
ถือว่าแสดงธรรมผิดมั้ย.. กล่าวตู่ธรรมของพระองค์มั้ย.. มีโทษมั้ย..
3) การที่ผู้เขียน อธิบายตีความจากพระธรรมดังกล่าว ด้วยความเข้าใจ เสริมเติมจากคำในพระสูตรว่า..
“.. ละวางความยึดตัวตนได้.. ก็ไม่มีสิ่งรักสิ่งชัง.. ก็วางความเศร้าเสียใจได้..”
ด้วยเข้าใจว่า ส่วนนี้ไม่ขัดแย้งกับพระสูตรอื่น และไม่ขัดต่อธรรมวินัยในพระไตรปิฏกนี้..
ส่วนที่เพิ่มด้วยความเห็นของผู้เขียนเองนี้ ถือว่าแสดงธรรมผิดมั้ย.. กล่าวตู่ธรรมของพระองค์มั้ย.. เป็นบาปมั้ย..
ถ้าผู้เขียนเป็นฆราวาส.. ชาวบ้านที่รู้ธรรมจะติเตียนมั้ย..
ถ้าผู้เขียนเป็นพระภิกษุ.. มหาเถรสมาคมท่าน จะตั้งกรรมการสอบสวนลงโทษ หรือตักเตือนมั้ย..
แล้วทุกวันนี้ มีคน มีพระ แสดงธรรมลักษณะเดียวกันนี้มั้ย..
ถ้ามีอยู่.. แล้วชาวบ้านได้ติเตียนว่า ท่านบิดเบือนพระไตรปิฏกมั้ย..
ถ้ามีอยู่.. มหาเถรสมาคมเคยพิจารณาตักเตือน หรือกล่าวโทษว่าท่านบิดเบือนพระธรรมวินัยมั้ย..
แล้วเราเลือกที่จะเชื่อใคร.. ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้กล่าวหา.. เพราะเหตุใด.. เรามีอะไรเป็นฐานคิด..
เวลาฟังคนหรือพระที่แสดงธรรม สอนธรรม เผยแพร่ธรรม ถกเถียงธรรมน่ะ..
ที่สำคัญ คือ เราอย่าไปติดยึด คนสอน คนพูด ไม่ว่าเขาจะเป็นคนหรือเป็นพระ.. จะศึกษาธรรมมามากแค่ไหน..
ให้ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาบอกว่า นี่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้พิจารณาตามก่อน.. และยิ่งต้องระวังว่า สิ่งที่เป็นความเห็นของเขานั้น ให้พิจารณาให้มากเพราะอาจจะถูก หรือผิดก็ได้..
ธรรมะนั้นเป็นสัจจะ.. ถ้านำมาจากพระไตรปิฏก.. ก็ถูกต้อง เป็นความจริง เชื่อถือได้แน่นอน.. แม้คนสอนจะมีความรู้มีประสบการณ์น้อย..
ส่วนความเห็นนั้น.. ถ้าเข้ากันได้กับพระธรรมคำสอนหมวดอื่นๆ ก็รับฟังได้.. แม้คนสอนจะมีความรู้มีประสบการณ์น้อย..
แต่ถ้าความเห็นนั้น เข้ากับพระธรรมคำสอนหมวดอื่นในพระไตรปิฏกไม่ได้.. แม้คนสอนจะมีความรู้มากแค่ไหน จะมีประสบการณ์มาอย่างไร.. ก็อย่าเชื่อว่าถูก..
ในความเห็นส่วนตัวผู้เขียนนั้น.. ธรรมะ กล่าวโดยพระอรหันต์ ไม่มีวันผิด.. เพราะพิสูจน์ประจักษ์แก่ท่านเองแล้ว..
แต่ส่วนที่ไม่ใช่เนื้ออรรถธรรม เป็นความเห็นส่วนตัวของพระอรหันต์องค์นั้น หรือครูบาอาจารย์คนสอนธรรมนั้น.. ย่อมแตกต่างกันได้ เป็นเรื่องธรรมดา..
ถ้าอยากรู้ว่า ความเห็นที่เขาแสดงนั้นถูกต้อง สอดคล้องกับหลักสัจจะหลักธรรมมั้ย จะเชื่อได้มั้ย..
เราต้องเอาไปเทียบกับหลักคำสอนอื่นในพระไตรปิฏกเอง.. หรือสอบถามเขาเลยว่า ความเห็นท่านนี้ มีหลักธรรมใดรองรับมั้ย.. ถ้ามีถ้าเข้ากันได้ จึงค่อยเชื่อ.. (กาลามสูตรและมหาปเทศสูตร)
ฝากให้ชาวพุทธได้คิด.. และสามารถตัดสินได้ด้วยตนเอง.. ไม่ต้องรอคำชี้ขาดจากผู้รู้ หรือจากคณะผู้รู้อื่นใด..
ขอให้ท่านทั้งหลาย โปรดได้สนใจศึกษาธรรมจากพระไตรปิฏกด้วยตนเองตามโอกาสนะครับ..
ถ้าทำได้.. พึ่งตนเองได้.. แม้ยามที่สังคมป่วย.. เราก็จะไม่ป่วยตาม..
ขออนุโมทนาสาธุล่วงหน้า..
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย