31 ม.ค. เวลา 14:34 • ข่าวรอบโลก

ตะโขงอินเดีย สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เหยื่อความเขลาของคน และการพัฒนาทำลายถิ่นอาศัย

ในบันทึกหนึ่งของ IRCF องค์กรอนุรักษ์ที่มุ่งรักษาบรรดาสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้เล่าไว้ว่า นมนานผ่านมา ‘ตะโขงอินเดีย’ เคยอาศัยอยู่ในตามแม่น้ำสายหลักทั้งหมดในอนุทวีปอินเดียตอนเหนือ
ไล่มาตั้งแต่แม่น้ำสินธุในปากีสถาน แม่น้ำคงคาในประเทศอินเดีย แม่น้ำพรหมบุตรที่ไหลผ่านภาคตะวันออกของอินเดียและบังคลาเทศ
รวมถึงลงมายังแม่น้ำอิระวดี และลำน้ำมาวในเมียนมาร์
ตะโขงอินเดีย หรือ กาเรียล เป็นสมาชิกวงศ์ตะโขงที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ชนิด เป็นกลุ่มจระเข้ที่ปากแหลมเรียวยาว ชอบอาศัยอยู่ในน้ำมากกว่าจระเข้ชนิดไหนๆ
ตอนยังเด็กชอบกินสัตว์จำพวกกุ้งหรือกบ พอโตเต็มวัยจะกินปลาเกือบทุกชนิด ตัวเมียสามารถวางไข่เฉลี่ยคราวละ 40 ฟอง และเชื่อกันว่ามีอายุยืนยาวได้เกือบ 100 ปีเลยทีเดียว
แต่น่าเสียดายที่พวกมันส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตยาวนานขนาดนั้น
ตะโขงอินเดีย คือ สัตว์อีกชนิดที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ด้วยเหตุและปัจจัยหลายอย่าง ไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เคยตกเป็นเหยื่อความเขลาของคนในอดีต
ในสัตว์เพศผู้เมื่อโตเต็มวัย จะมีตุ่มขึ้นมาบริเวณส่วนปลายด้านบนของปาก และจะใหญ่ขึ้นตามอายุ สันนิษฐานกันว่าตุ่มนี้เป็นแหล่งกำเนิดเสียงเพื่อการสื่อสารหาคู่
แต่ลักษณะเด่นที่บ่งบอกเพศของสัตว์ กลับถูกมนุษย์มองเป็นยาปลุกสวาท เช่นเดียวกับไข่ ที่คนในอดีตเชื่อว่าช่วยบำรุงกำลังให้ร่างกาย
แน่นอนว่า ยาทั้งสองขนานไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รองรับ ไม่มีหมอคนใดเคยยืนยันด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เลยสักครั้ง
การใช้ประโยชน์จากสัตว์ ยังรวมไปถึงการล่าเอาหนัง (จระเข้ทุกชนิดเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้) และล่าเพื่อความสนุก
บางกรณีการล่าเกิดขึ้นจากความกลัว เพราะเคยมีคนพบชิ้นส่วนกระดูกและเครื่องประดับมนุษย์ในท้องตะโขงที่ตายแล้ว
แต่ข้อเท็จจริงบางอย่างชี้ว่า ชิ้นส่วนหรือเครื่องประดับที่พบอาจเป็นของร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกนำไปลอยน้ำ ตามแนวปฏิบัติที่เรียกว่า ‘จัล ประวาห์’ ซึ่งเป็นพิธีฝังศพตามธรรมชาติ
โดยพฤติกรรมสัตว์ตระกูลจระเข้มักกลืนหินลงท้อง เพื่อช่วยในการดำน้ำและบดอาหารในกะเพาะ ชิ้นส่วนเครื่องประดับหรือกระดูกอาจถูกกลืนเข้าไปด้วยเหตุนั้น
จากสาเหตุข้างต้น ทำให้ตะโขงอินเดียลดลงอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2493 - 2513 แต่พอเริ่มมีกฎหมายอนุรักษ์การล่าก็ลดลง ประกอบกับจำนวนตะโขงในธรรมชาติก็ไม่ได้หากันเจอได้ง่ายๆ เหมือนเก่าก่อน
แต่ภัยคุกคามตะโขงอินเดียก็ยังมีในรูปแบบอื่นๆ เช่น การทำประมงที่เป็นภัยทางตรงและทางอ้อม
ในทางอ้อม การทำประมงเกินขนาดเป็นการแย่งแหล่งอาหารโดยตรง ขณะที่ในทางตรงเกิดจากตะโขงติดเข้ากับอวนทำประมง ที่สุดท้ายแล้วสัตว์ผู้โชคร้ายจะถูกชาวประมงฆ่าทิ้งไปอย่างสูญเปล่า
บ้างปากที่ยื่นยาวไปเกี่ยวเข้ากับอวนจึงถูกตัดปากทิ้ง รวมถึงถูกอวนรัดพันตัวจนไม่สามารถว่ายน้ำและหาอาหารได้ตามปกติ
อีกภัยหนึ่งที่ร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า มาจากการก่อสร้างเขื่อนขวางลำน้ำ ซึ่งก่อผลกระทบต่อสัตว์น้ำแทบทุกชนิด
ในอุตตรประเทศ (ทางตอนเหนือของอินเดีย) การสร้างเขื่อน Girijapuri กั้นแม่น้ำ Girwa ที่ไหลผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Katarniaghat ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของตะโขงอินเดียลดลงเหลือเพียง 20 กิโลเมตร กระทบต่อการขยายพันธุ์ และตัวที่ยังไม่โตเต็มวัย
โดยเมื่อประตูเขื่อนถูกเปิดออก ตะโขงอินเดียวัยละอ่อนต้องอพยพหนีน้ำที่ไหลบ่าไปอาศัยนอกเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งไม่ได้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยและหาอาหาร
น้ำที่ไหลจากเขื่อนยังทำลายแหล่งวางไข่ พัดไข่ให้จมหรือแตกไปก่อนที่สัตว์จะได้ฟักเป็นตัว
ตะโขงอินเดียมักอาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำที่ลาดชัน มีหาดทรายสำหรับผสมพันธุ์และทำรัง แต่พื้นที่ลักษณะแบบนี้กำลังค่อยๆ จมหายไปกับระดับน้ำในเขื่อน
การสร้างเขื่อนยังปรับรูปแบบการไหลเวียนของน้ำ จนระบบนิเวศริมแม่น้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง บางแห่งทำให้พืชพรรณริมน้ำเจริญเติบโตเร็ว บดบังแสงแดดที่ส่องไปยังรัง ซึ่งมีผลต่อการกำหนดเพศ
สำหรับตระกูลจระเข้ หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ไข่มีโอกาสฟักออกมาเป็นเพศผู้ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 31 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นเพศเมีย (ตรงข้ามกับเต่า)
นักนิเวศวิทยาที่ศึกษาเรื่องราวตะโขงอินเดียบางรายเสนอว่า ให้นับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมไว้ในประเด็นนี้ด้วย
พืชริมน้ำยังกีดขวางการกลับลงแหล่งน้ำของตะโขงวัยอ่อน ทำให้เดินทางกลับแหล่งน้ำได้ช้า เสี่ยงกับการถูกล่าได้ง่าย เช่น จากตัวเงินตัวทอง
ตะโขงมีกล้ามเนื้อขาที่อ่อนแอ จึงเป็นเหตุว่าทำไมตะโขงจึงปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางน้ำเป็นหลัก และมีศักยภาพในการดำรงชีวิตบนบกได้จำกัด โดยจะขึ้นจากน้ำเพื่ออาบแดดและทำรังเท่านั้น
นอกจากนี้ การลักลอบทำเหมืองทรายอย่างผิดกฎหมาย ก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามต่อถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำรังวางไข่ด้วยเช่นกัน
เรื่องราวเหล่านี้ ส่งผลให้ตะโขงอินเดีย เป็นสิ่งมีชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ตามรายงานของบัญชีแดงไอยูซีเอ็น ระบุมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต (Critically Endangered)
ในการประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562 คาดว่ามีประชากรโตเต็มวัยเหลืออยู่ราวๆ 20,000 ตัวทั่วโลก ส่วนตอนนี้อาจเหลือน้อยกว่านั้นมาก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีความพยายามจากหลายหน่วยงาน กำลังฟื้นฟูประชากรองตะโขงอินเดียให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง
แต่ถึงที่สุด การอนุรักษ์ตะโขงอินเดียให้อยู่รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ได้ จำเป็นต้องปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ไว้ให้ได้เช่นกัน จึงจะเป็นหลักประกันความปลอดภัยที่ยั่งยืนมากกว่า
อ้างอิง
เอกสารชุด The Gharial : Going Extinct Again
Gharial Gavialis gangeticus https://shorturl.asia/7PyWc
Gharials : Living on the Riverine Edge https://shorturl.asia/lxW60
Dammed to Extinction - The Gharial’s Habitat Crisis https://shorturl.asia/UqxKE
เลือดจระเข้ไม่ได้เย็น อุณหภูมิมีผลต่อการกำหนดเพศ https://shorturl.asia/ptIV7
Gharial IUCN Red List https://shorturl.asia/6ILzW
โฆษณา