Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
1 ก.พ. เวลา 12:01 • ประวัติศาสตร์
“ระบบคอนติเนนตัล (Continental System)” ระบบที่นำไปสู่ความล่มสลายของผู้นำฝรั่งเศส
เมื่อพูดถึง “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” ภาพจำของหลายคนน่าจะหลากหลาย และ ”ยุคนโปเลียน (Napoleonic Era)” ก็คือช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป
“นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” คือแม่ทัพที่มีความสามารถ เป็นผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นใหญ่ด้วยความสามารถและภาวะผู้นำที่โดดเด่น หากแต่ก็ต้องพบกับความล่มสลายจากความโอหังของตน
1
หนึ่งในผลงานสำคัญของนโปเลียน คือการสร้าง “ระบบคอนติเนนตัล (Continental System)” เพื่อกีดกันการค้ากับอังกฤษ หวังว่าอังกฤษจะเดือดร้อนและล่มสลาย
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)
แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามและย้อนกลับมาทำร้ายตัวนโปเลียนเอง
เหตุใดระบบคอนติเนนตัลจึงล้มเหลว? และระบบคอนติเนนตัลนำไปสู่ความล่มสลายของนโปเลียนได้อย่างไร?
ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ต้องเล่าย้อนไปให้เห็นภาพก่อนว่า ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษนั้นมีมานานมากแล้ว มีมาก่อนนโปเลียนจะเกิดซะอีก
ตั้งแต่ยุคกลาง กษัตริย์อังกฤษและกษัตริย์ฝรั่งเศสก็สู้รบกันมาเป็นเวลาน้บร้อยปี ก่อนจะค่อยๆ เบาลงในยุคสมัยใหม่ และกลับมาปะทุอีกครั้งหลังจาก “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution)” ในปีค.ศ.1688 (พ.ศ.2231) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในอังกฤษ
ตั้งแต่ค.ศ.1688-1815 (พ.ศ.2231-2358) อังกฤษกับฝรั่งเศสก็สู้รบกันมาแทบจะตลอด ซึ่งตามหลักแล้ว ชัยชนะและอำนาจควรเป็นของฝรั่งเศสมากกว่า เนื่องจากในเวลานั้น ฝรั่งเศสนั้นรวยกว่าและมีประชากรมากกว่าอังกฤษ
แต่อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็มีข้อได้เปรียบจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้อังกฤษทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรไปกับกองทัพเรือ และทำให้กองทัพเรืออังกฤษยิ่งใหญ่กว่าฝรั่งเศสมาก
ฝรั่งเศสก็ตระหนักดีว่าหากกองทัพเรือของตนสู้อังกฤษไม่ได้ ก็ไม่มีทางจะบุกอังกฤษได้แน่
กองทัพเรืออังกฤษนั้นไม่เพียงแค่ยิ่งใหญ่ทางด้านขนาดของกองทัพ แต่เหล่านายทหารก็ล้วนแต่มีความสามารถและระเบียบวินัยเป็นเลิศ ไม่มีทางที่ฝรั่งเศสจะเทียบได้เลย
หลังจาก “การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)” เมื่อปีค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) กองทัพเรือฝรั่งเศสก็ได้สูญเสียชีวิตนายทหารเรือไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เสียชีวิตและลี้ภัยไปที่อื่น
แต่ถึงอย่างนั้น นโปเลียนผู้ขึ้นมาครองอำนาจ ก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงตั้งใจที่จะให้ฝรั่งเศสเป็นเจ้าแห่งยุโรป และดำเนินการตามแผนของตนต่อไป
หากแต่ผลที่ได้ก็คือ กองทัพฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้อังกฤษถึงสองครั้ง ทำให้นโปเลียนต้องออกมายอมรับว่าลำพังแค่กองทัพฝรั่งเศส คงไม่สามารถเอาชนะกองทัพเรืออังกฤษได้แน่
หากอยากจะพิชิตอังกฤษ ต้องใช้วิธีการอื่น
วิธีการที่นโปเลียนเลือกใช้คือ “สงครามการค้า” กีดกันการค้าจากอังกฤษ ทำให้ยุโรปภาคพื้นทวีปปราศจากสินค้าอังกฤษ ทำลายเศรษฐกิจอังกฤษให้ย่อยยับ
กองทัพเรืออังกฤษต้องพึ่งพาเสบียงและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จากยุโรปตะวันออกและสแกนดิเนเวีย และนโปเลียนก็วางแผนจะตัดเส้นทางเสบียงและเส้นทางการค้าของอังกฤษ ทำให้อังกฤษขาดแคลนเสบียงและการค้าล่มสลาย
2
แผนการนี้ฝรั่งเศสไม่ได้ดำเนินการเพียงลำพัง หากแต่ดินแดนอื่นที่เป็นรัฐหุ่นเชิดของนโปเลียน ซึ่งเคยพ่ายแพ้ต่อนโปเลียน ก็ตกลงที่จะร่วมด้วย แลกกับการที่ฝรั่งเศสจะไม่รุกรานดินแดนของตน
เมื่อถึงฤดูร้อน ค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) นโปเลียนก็แผ่อำนาจออกไปเกือบจะทั่วยุโรปภาคพื้นทวีป และมั่นใจว่าตนต้องพิชิตอังกฤษได้แน่ๆ
แต่นโปเลียนคิดผิด และเหตุผลที่แผนการของนโปเลียนล้มเหลวก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย
ข้อแรก ด้วยความที่อังกฤษเป็นใหญ่เหนือน่านน้ำต่างๆ ทำให้อังกฤษสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ไปทั่วโลกได้โดยง่าย ซึ่งการที่นโปเลียนใช้ระบบคอนติเนนตัล ก็ทำให้อังกฤษต้องใช้เส้นทางอื่นๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้อังกฤษต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นการตอบโต้ที่ดี
ข้อสอง ระบบคอนติเนนตัลไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออังกฤษชาติเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปทั้งทวีป โดยเฉพาะกับดินแดนแถบชายฝั่งต่างๆ
หลายฝ่ายยังมองว่าระบบคอนติเนนตัลนั้นไม่เป็นธรรม เนื่องจากในขณะที่ฝรั่งเศสสร้างระบบคอนติเนนตัลเพื่อกีดกันการค้า แต่ตัวฝรั่งเศสเองยังเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกเพื่อป้องกันเศรษฐกิจของตนอยู่เลย
นอกจากนั้น ฝรั่งเศสเองยังประเมินตนสูงเกินไป ตัวอย่างก็เช่น อัตราการค้าระหว่างรัสเซียกับอังกฤษในช่วงเวลาที่นโปเลียนขึ้นมาเรืองอำนาจนั้น สูงกว่าอัตราการค้าระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสหลายเท่า ทำให้รัสเซียเองก็ไม่ค่อยจะเอาระบบนี้เท่าไรนัก
และเมื่อเกิดระบบคอนติเนนตัล เกิดการปิดเส้นทางการค้า ทำให้การลักลอบขนของอย่างผิดกฎหมายขยายตัว ทำให้สถานการณ์ของฝรั่งเศสยิ่งน่าปวดหัวเข้าไปอีก
และก่อนที่จะไปเรื่องนี้ต่อ เรามาดูอีกความขัดแย้งที่ยิ่งทำให้ฝรั่งเศสต้องวิกฤตหนักกว่านี้กันก่อน
ตั้งแต่ค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) เป็นต้นมา สเปนนั้นเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส หากแต่โปรตุเกสนั้นไม่ค่อยเต็มใจจะเข้ากับฝรั่งเศสเท่าไรนัก
ค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) นโปเลียนสั่งให้โปรตุเกสตัดขาดการค้ากับอังกฤษ ราชสำนักโปรตุเกสก็ลังเลและไม่เต็มใจเท่าไรนัก ทำให้นโปเลียนไม่พอใจ
นโปเลียนจึงทำข้อตกลงกับ “มานูเอล กอดอย (Manuel Godoy)” นายกรัฐมนตรีสเปน ตกลงจะแบ่งแยกโปรตุเกส และฝรั่งเศสกับสเปนก็จะแบ่งโปรตุเกสกัน และนโปเลียนยังเสนอว่าจะตั้งราชรัฐให้กอดอยปกครองได้โดยตรง
กอดอยตกลง และในปีค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) นี้เอง กองทัพฝรั่งเศสก็ได้เคลื่อนทัพเข้ามาในสเปนและมุ่งตรงสู่โปรตุเกส
ปรากฎว่าราชวงศ์โปรตุเกสนั้นเสด็จลี้ภัยไปก่อนที่กองทัพฝรั่งเศสจะมาถึงลิสบอนแล้ว และปรากฎว่าคราวนี้ ความขัดแย้งดันกลายเป็นระหว่างฝรั่งเศสกับสเปนซะเอง
มานูเอล กอดอย (Manuel Godoy)
เดิมทีนั้น นโปเลียนไม่ได้คิดจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับกอดอยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และถึงแม้ราชสำนักสเปนจะเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส แต่นโปเลียนก็ไม่ได้ให้ค่าเท่าไร มองว่าสเปนนั้นอ่อนแอและโง่เขลา
เมื่อถึงปีค.ศ.1808 (พ.ศ.2351) กองทัพฝรั่งเศสได้บุกเข้ามาในเขตแดนสเปนมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มจะเข้ายึดครองที่มั่นและเมืองต่างๆ ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านในสเปน
ได้เกิดการปฏิวัติที่ทำให้ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งสเปน (Charles IV of Spain)” พระประมุขแห่งสเปน ต้องสละราชสมบัติ และยกบัลลังก์แก่ “พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 แห่งสเปน (Ferdinand VII)” พระราชโอรสของพระองค์
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งสเปน (Charles IV of Spain)
แต่เพียงแค่หนึ่งเดือน นโปเลียนก็ล่อให้ทั้งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 และพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 เสด็จมาฝรั่งเศส และบีบบังคับให้ทั้งสองพระองค์สละราชสมบัติและแต่งตั้งนโปเลียนเป็นรัชทายาท
จากนั้น นโปเลียนก็ได้แต่งตั้งให้ “โจเซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte)” พี่ชายของตน เป็นกษัตริย์องค์ใหม่แห่งสเปน และให้โจเซฟดำเนินการระบบคอนติเนนตัลต่อไป
แต่ก่อนที่โจเซฟจะมาถึงมาดริด ก็ได้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้าน เกิดจลาจลไปทั่วคาบสมุทร เหตุการณ์วุ่นวายดำเนินไปกว่าหกปี
โจเซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte)
อังกฤษเองก็อาศัยจังหวะนี้ตอบโต้ฝรั่งเศสด้วยการให้ความช่วยเหลือสเปนและโปรตุเกส ทำให้ในช่วงปลายปีค.ศ.1813 (พ.ศ.2356) สเปนและโปรตุเกสสามารถขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากดินแดนของตนได้
ความขัดแย้งตลอดระยะเวลาห้าปีนี้ทำให้นโปเลียนต้องเสียกำลังทหารไปกว่า 200,000 นาย
ความพ่ายแพ้นี้นับเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของนโปเลียน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับหายนะในคราว “การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส (French Invasion of Russia)” เมื่อปีค.ศ.1812 (พ.ศ.2355)
หลังจากที่พ่ายแพ้ในปีค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) รัสเซียก็ตกลงที่จะเจรจาสันติภาพกับฝรั่งเศส โดยตามสนธิสัญญานั้น รัสเซียตกลงจะดำเนินระบบคอนติเนนตัลต่อไป หากแต่ระบบคอนติเนนตัลก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ทำให้รัสเซียเริ่มจะไม่เอาด้วยแล้ว
นโปเลียนก็ตระหนักได้ว่ารัสเซียเริ่มไม่เล่นด้วยแล้ว ราชสำนักรัสเซียก็ไม่ทำตามข้อตกลง นโปเลียนจึงตัดสินใจที่จะบีบบังคับให้ราชสำนักรัสเซียยอมอ่อนน้อมต่อตน
วิธีเดียวที่นโปเลียนนึกออกคือการยกทัพรุกรานรัสเซีย
แต่ก็อย่างที่ทราบ การยกทัพไปรุกรานรัสเซียนั้นนับเป็นหายนะสำหรับนโปเลียน โดยในเวลาเพียงหกเดือน กองทัพของนโปเลียนต้องเสียกำลังทหารไปกว่า 75% ทำให้กองทัพฝรั่งเศสนั้นอ่อนด้อยซะจนเหล่าศัตรูเก่าของนโปเลียน ต่างออกมาไล่เช็คบิลนโปเลียนกันเป็นแถว ออกมากระทืบซ้ำให้ฝรั่งเศสจมดิน
และนี่ก็นำไปสู่จุดจบความรุ่งเรืองของนโปเลียนในที่สุด
บางที เรื่องราวนี้อาจจะเป็นบทเรียนที่นำมาปรับใช้ได้หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะกับคนที่เป็นผู้บริหารหรือผู้นำ
การมั่นใจในศักยภาพของตนจนกลายเป็นความโอหัง ก็อาจจะทำให้ความยิ่งใหญ่ของตนนั้นล่มสลายได้ในชั่วข้ามคืน ดังเช่นนโปเลียน เป็นตัวอย่าง
References:
https://medium.com/teatime-history/why-did-napoleons-continental-system-fail-7bc7a11a6bc2
https://www.worldhistory.org/Continental_System/
https://www.britannica.com/event/Continental-System
https://www.worldatlas.com/history/the-failure-of-napoleon-s-continental-system.html
ประวัติศาสตร์
5 บันทึก
21
1
5
21
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย