1 ก.พ. เวลา 09:34 • ความคิดเห็น
คัดลอกมาจากไลน์ ขายไฟแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ไปถึงไหน
กฟภ.สู้กลับทักษิณ-รมว.กห. งัดหลักฐานประจานเรียงตัว ตั้งแต่รบ.เศรษฐายันนายกอิ๊งค์ ตีมึนตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์
.
จากกรณีที่วันนี้ (30 มกราคม 2568) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาประชุมกับเจ้าหน้าที่ไทย ถึงการปราบปรามกระบวนการคอลเซ็นเตอร์
กรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย บอกว่ายังดำเนินการไม่ได้ เพราะว่าเป็นสัญญาที่ถูกต้อง นายทักษิณ กล่าวว่า สัญญาสามารถยกเลิกได้ ถ้าสัญญานั้นนำไปใช้ในสิ่งไม่ถูกต้อง
ต่อมาที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยสามารถตัดไฟ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ได้เลย หากสัญญาซื้อขายไม่ถูกต้อง ว่า หากกระทรวงมหาดไทยส่งไฟเข้าไปในตึกของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ก็สามารถทำได้เลย แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำสัญญากับบริษัทที่ทางการพม่าและทางการรัฐบาลไทยรับรอง
ทั้งนี้ การตัดไฟทำง่ายมากสำหรับผู้จ่ายและผู้ตัด แต่คนประสานงานจ่ายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องแจ้งให้เราหยุด ไม่ใช่เราฟังข่าวแล้วหยุดเลย เพราะจะถูกต่อว่า ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจะเดือดร้อน ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีเงื่อนไขสัญญาขายไฟอยู่ หากทำผิดสัญญา คนที่ลงนามสัญญา ครม.ให้การรับรองการขายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยงานที่ประสานเหล่านี้ต้องแจ้งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตนยืนยันหลักการนี้ ถ้าแจ้งมาเราสับสวิตซ์ทันที
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตนจะไปรู้ได้ยังไงว่า ไฟเข้าไปในบ้านเลขที่เท่าไหร่ในจังหวัดชเวโกะโก กระทรวงมหาดไทยเราข้ามชายแดนไปได้หรือไม่ ไม่มีคู่เจรจา เพราะฉะนั้นต้องขีดเส้นทำงานให้ชัดเจน จะได้รู้ว่าใครควรรับผิดชอบในส่วนงานด้านไหน ส่วนงานของตนถูกสั่งให้ขาย เมื่อตนถูกสั่งให้หยุดก็จะหยุด
”ก็สั่งมาสิ สั่งมาให้เรียบร้อย และผมก็ต้องรับฟังคำสั่งที่ถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ตามข่าว ความรู้สึก ความเชื่อ หรือการวิเคราะห์ของตัวเอง ไม่ใช่บริษัทส่วนตัวของผม จะไปสั่งอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐ และสนธิสัญญาต่างๆ“ นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่ากระทรวงมหาดไทยก็เป็นหน่วยงานความมั่นคง สามารถชงเรื่องตัดไฟได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ชงไปแล้ว กฟภ.ทำหนังสือไปแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบ คำตอบคือสายลม ดังนั้น หากมีคำตอบจากหน่วยงานที่ทำเรื่องไป เราก็พร้อมดำเนินการทันที ต้องขีดเส้นให้ถูก
”ท่านนายกฯ ยังไม่ได้สั่งผมเลย ผมจะไปทำตามคนอื่นได้ยังไง“ นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ต้องถึงนายกฯ หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานนายกฯ ซึ่งคิดว่าเรื่องสำคัญแบบนี้ต้องรายงาน คิดว่านายกฯ คงจะมีบัญชาอย่างใดอย่างหนึ่งมา เราถือเป็นผู้รับปฏิบัติ
ล่าสุดในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงมหาดไทยเคยชงเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการตัดการขายไฟฟ้าไปยังประเทศเมียนมา หากพบว่ามีการส่งไฟฟ้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่บัดนี้ ยังไม่มีหน่วยงานไหนให้ความเห็นกลับมา ทั้งที่ ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆรับรองบริษัทคู่สัญญาจากเมียนมาให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศใกล้เคียงได้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พบว่า กฟภ. เคยทำเรื่องขอความอนุเคราะห์พิจารณาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศรวมทั้งพิจารณาผลกระทบ และเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีการระงับการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าข้ามพรมแดนผ่านหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค.67 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
อาทิ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 ผู้บัญชาการกองกำลังสุรสีห์ ผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กฟภ.ยังได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์พิจารณาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศกรณีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย และใกล้เคียง ถึงผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทับเจ้าตาก (ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมา อ.แม่สาย)
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 กฟภ. ยังส่งหนังสืออีกฉบับถึงอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เรื่องขอความอนุเคราะห์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐแห่ง สหภาพเมียนมา กำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้า ณ จุดซื้อขายบริเวณบ้านวังผา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ประเทศไทย - บ้านก๊กโก่ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา
ขณะที่วันที่ 17 ธ.ค.67 กฟภ. ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เรื่องขอความอนุเคราะห์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้า ณ จุดซื้อขายบริเวณสะพานมิตรภาพ และบ้านเมืองแดง อ.แม่สาย จ.เชียงราย - อ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ม.ค.68 กฟภ. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เรื่องขอความอนุเคราะห์พิจารณาตรวจสอบบริษัทผู้ขอซื้อไฟฟ้า และกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท โดยมีประเด็นเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ายาเสพติด และกระบวนการฟอกเงินของผู้ได้รับสัมปทาน รวมถึงประเด็นความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ
โฆษณา