เมื่อวาน เวลา 14:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

“โซเชียลมีเดีย: เครื่องมือเชื่อมโลก หรือตัวเร่งความเหงา?”

พอดีวันนี้จัดชั้นหนังสือ ก็ไปเจอเล่มของงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาโทของตัวเอง ตอนปี 2009 เรื่อง “Factor affecting use of Social Networking among Thai users: A use-and-gratifications Study” (ปัจจุบันเล่มจริงน่าจะอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็คิดถึงประโยคนี้ขึ้นมา คือ
“ยิ่งใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าไร ยิ่งรู้สึกเหงาในชีวิตจริงมากขึ้น” แม้ว่า reseach นี้จะผ่านมาเกือบ 15 ปี แต่ข้อค้นพบนี้ยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนยุคดิจิทัลที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการเลื่อน feed และกด Like
ผลวิจัยปี 2009 ยังสะท้อนปัญหาในยุค 2025 นี้
 
1. การใช้โซเชียลเพื่อเติมเต็มความสัมพันธ์ : 62% ระบุว่าใช้โซเชียลมีเดียเพราะต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
2. ความสัมพันธ์ผิวเผิน : การมีเพื่อนออนไลน์เฉลี่ย 300 คน แต่มีเพื่อนที่พูดคุยเรื่องส่วนตัวได้จริงกลับน้อยกว่า 10 คน
3. ภาวะเปรียบเทียบทางสังคม : 78% ยอมรับว่าการเห็นชีวิต “สมบูรณ์แบบ” ของผู้อื่นใน Feed ทำให้รู้สึกด้อยค่า
แม้โซเชียลมีเดียจะถูกออกแบบมาเพื่อ “เชื่อมต่อ” แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยรู้สึก “ถูกตัดขาด” จากโลกความเป็นจริง
สาเหตุที่ “การเชื่อมต่อออนไลน์” ไม่ช่วยลดความเหงา
1. ปฏิสัมพันธ์ไร้มิติทางอารมณ์ : การสนทนาผ่านแชตหรืออีโมจิไม่สามารถทดแทนการสบตาหรือโอบกอด
2. วัฒนธรรมการแสดงตัวตนแบบคัดสรร : ผู้ใช้โพสต์เฉพาะด้านดีที่สุดของชีวิต สร้างภาพลวงตาว่าทุกคนมีความสุขยกเว้นตัวเอง
3. วงจรโดปามีนระยะสั้น : การได้ Like หรือ Comment ให้ความสุขชั่วคราว แต่เมื่อไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ความรู้สึกเหงาจะกลับมาทวีคูณ
“ทางออก: สร้างสมดุลระหว่างโลกออนไลน์-ออฟไลน์”
การใช้โซเชียลมีเดียอย่างชาญฉลาดต้องอาศัย “การรู้เท่าทัน” โดย:
* กำหนดเวลาใช้งาน : เพื่อป้องกันการเสพติด
* สร้าง connection แบบลึกซึ้ง : เช่น จัด meet-up กับเพื่อนออนไลน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้มีตัวตนในชีวิตจริงอย่างน้อยเดือนละครั้ง
* ฝึกคิดวิเคราะห์ : ตระหนักว่า “สิ่งที่เห็นใน Feed โซเชียล ไม่ว่าจะของใครนั้น ล้วนไม่ใช่ชีวิตจริงทั้งหมด”
“โลกออนไลน์คือกระจกสะท้อนความเหงา… ไม่ใช่ทางออก”
 
15 ปีหลังงานเขียนที่อยู่บนชั้นหนังสือของตัวเองเอามาเปิดอ่าน ก็ยังพบ “ปัญหาความเหงายังคงทวีความซับซ้อน” ยิ่งในยุคที่เด็กรุ่นใหม่ๆ เกิดมาพร้อม iPad เป็นของเล่นชิ้นแรก สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ “โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้เราเหงาน้อยลง… แต่ทำให้เราตระหนักถึงความเหงามากขึ้น”
“การมีเพื่อน 1,000 คนในเฟซบุ๊ก ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีเพื่อนสนิทสัก 1 คน” — นี่คือบทเรียนที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอดในยุคดิจิทัล!
#วันละเรื่องสองเรื่อง
โฆษณา