2 ก.พ. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

2 กุมภาพันธ์ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก

พื้นที่ชุ่มน้ำ คือ อะไร
คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า
‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ (Wetlands) หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น
ทั้งที่มีน้ำขัง หรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม
รวมไปถึงชายฝั่งทะเล และที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร
พื้นที่ซึ่งมีลักษณะจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงรวมถึง ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ กระพัง (ตระพัง) บาราย แม่น้ำ ลำธาร แคว ละหาน ชานคลอง ฝั่งน้ำ สบธาร สระ ทะเลสาบ แอ่งลุ่ม กุด ทุ่ง กว๊าน มาบบุ่ง ทาม สนุ่น แก่ง น้ำตก
หาดหิน หาดกรวด หาดทราย หาดโคลน หาดเลน ชายทะเล ชายฝั่ง ทะเล พืดหินปะการัง แหล่งหญ้าทะเล แหล่งสาหร่ายทะเล คุ้ง อ่าว ดินดอนสามเหลี่ยม ช่องแคบ ชะวากทะเล ตะกาด
หนองน้ำกร่อย ป่าพรุ ป่าเลน ป่าชายเลน ป่าโกงกาง ป่าจาก ป่าแสม รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ บ่อปลา อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
แม้ลักษณะที่เข้าข่ายนิยามของพื้นที่ชุ่มน้ำจะมากมาย แต่ทราบหรือไม่ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่บนโลกเท่านั้น
แต่ความน้อยนิดนี้ กลับสร้างคุณประโยชน์มหาศาล โดยในเฉพาะในยุควิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำช่วยกักเก็บคาร์บอนบนพื้นโลกได้มากถึง ร้อยละ 35
โดย ‘ป่าพรุ’ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่งที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญมากที่สุดของระบบนิเวศบนบก
ป่าพรุสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากเป็นสองเท่าของชีวมวลของป่าไม้บนโลก และยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เป็นระยะเวลายาวนานกว่าป่าไม้ด้วย
หากทำลายป่าพรุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงในประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายเท่า
โฆษณา