Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ
•
ติดตาม
3 ก.พ. เวลา 01:59 • ประวัติศาสตร์
อังกฤษรบญี่ปุ่น ที่ อ.เบตง จ.ยะลา กับสมรภูมิ The Ledge ที่ถนน เบตง-ยะลา กม.35
เรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวการสู้รบระหว่างทหารอังกฤษกับทหารญี่ปุ่น ซึ่งดันมาสู้บกันในดินแดนไทยที่ อ.เบตง จ.ยะลา ในทางสากลเรียกการรบครั้งนี้ว่า การรบที่สมรภูมิ The Ledge
สืบเนื่องมีคนที่สนใจเรื่องราวการการยึดแหลมมลายูของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญแต่คนไม่ค่อยให้ความสนใจคือการรบของทหารอังกฤษและทหารญี่ปุ่นในดินแดนไทย ทางเหนือของเมืองเบตง ซึ่งพื้นที่นี้นเรียกว่า The Ledge
เมื่อถามใครไปว่า The Ledge มันอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีใครทราบเรื่อง ผมเองก็อยากรู้ว่า The Ledge ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน
ผมเป็นคนชอบค้นหาข้อมูลในลักษณะการตามหาพื้นที่หรือบริเวณสำคัญทางประวัติศาสตร์สงครามโลกเป็นทุนเดิมอยู่ละ จึงได้หาหลักฐานและจุดที่เป็นสนามรบแห่งนี้
เรื่องที่ผมทำมันเป็นเรื่องทางรถไฟสายมรณะครับ ทีแรกผมก็งงอยู่เหมือนกัน ไม่รู้จะเริ่มศึกษาอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องการรบแถว อ.เบตง จ.ยะลา ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องไกลเกินขอบเขตความรู้และความสนใจของผมมาก
ผมจึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลจากหลายแหล่งและได้หมอช้อป แอดมินของเพจ 2483 ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ รวมถึงผมได้พยายามหาข้อมูลตามแหล่งต่างๆเพื่อมาศึกษา
จึงขอที่จะนำเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม แต่ก็พยายามที่จะหาข้อมูล อย่างละเอียดเพื่อมานำเสนอ แต่หาก เกินความผิดพลาดใด ก็ขออภัยมา ณ โอกาสนี้
หากจะกล่าวถึงสมรภูมิ The Ledge ต้องย้อนกลับไปช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะเปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพาก่อนครับ
กองทัพอังกฤษ เคยมีการประเมิน ความเสี่ยงที่จะถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีคาบสมุทรมลายู โดยใช้การเดินทัพผ่านดินแดนไทยที่สงขลาและปัตตานี เข้าทางตอนเหนือของมลายู
กองทัพอังกฤษจึงมีการวางแผน ตอบโต้กับสถานการณ์เช่นนี้ โดยมีการใช้รหัสว่ายุทธการ Matador
ยุทธการ Matador นั้นเป็นยุทธการ ที่ จะส่งกองกำลังทหารอังกฤษข้ามชายแดนไทย เข้าไปยึดและสถาปนาความมั่นคงในพื้นที่ชายหาดบริเวณ จังหวัดปัตตานี และสงขลา
เพื่อป้องกันและสู้รบกับทหารญี่ปุ่นที่จะยกพลขึ้นบุกในทั้งสองบริเวณนี้
แต่เมื่อถึงเวลาที่กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพทางเรือมาจริง และทำการยกพลขึ้นบุก ที่จังหวัดปัตตานี สงขลา ของไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม 1941
ทหารญี่ปุ่นลงเรือระบาบพลเพื่อเตรียมยกพลขึ้นบกทางใต้ของไทย
ทหารญี่ปุ่นกำลังยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี
ฝ่ายอังกฤษ กับลังเลที่จะเปิดยุทธการ Martador และท้ายที่สุดกองทัพญี่ปุ่นสามารถยกพลขึ้นบอกได้สำเร็จ ถึงแม้จะได้สู้รบกับทางทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ประชาชนไทย ก็ตาม
จนมีการประกาศของรัฐบาลไทยให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยได้ จึงทำให้การต่อสู่จบลง
เมื่อกองทัพญี่ปุ่น สามารถยกพลขึ้นบกได้สำเร็จที่สงขลาและปัตตานี ทัพญี่ปุ่นก็ได้มุ่งหน้าลงใต้ไปยังแหลมมาลายู
โดยแผนของกองทัพญี่ปุ่นคือ เส้นทางที่ 1 เดินทัพจากสงขลามุ่งหน้าไปยังด่านสะเดา เพื่อรุกเข้าทางตอนเหนือของเกดะห์ และเข้าตีเมืองJitra เมืองปีนัง เมืองรายทางลงไปทางใต้
เส้นทางที่สอง ทหารที่ยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี จะเดินทัพไปยัง ยะลา และไปที่ อ.เบตง เพื่อรุกข้ามชายแดนไปยังเมือง Kroh โกระ หรือเมือง Pengkalan Hulu ในปัจจุบัน
โดยทั้งสองทัพของญี่ปุ่นที่มาจากสงขลาและปัตตานีจะเขาบรรจบกันที่เมือง Taiping รัฐ Perak หลังจากนั้นก็จะรุกมุ่งสู่กัวลาลัมโปต่อไป
ผมขอพูดถึงเพียงเส้นทางเดินทัพ 2 ทางนี้เท่านั้นนะครับ ส่วนทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่โกตาบารูของมาเลเซีย ผมขอไม่ลงรายละเอียด เพราะอยู่ไกลจากสมรภูมิ The Ledge.
เมื่อทราบข่าวที่แน่ชัดว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ทั้งสงขลาและปัตตานีเรียบร้อยแล้ว การที่จะส่งกำลังทหารของอังกฤษไปรักษาหัวหาดที่ทั้งสองจุดก็ถือว่าเป็นอันจบไป เพราะไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว
อังกฤษจึงเปลี่ยนแผนใหม่ โดยส่งทหารไปยังเมือง Jitra และขึ้นไปที่ด่านสะเดา ข้ามเข้ามาดินแดนไทยและขึ้นไปตั้งรับกองทัพญี่ปุ่นเส้นทางที่ 1 ทางเหนือของ อำเภอสะเดา
ทหารอังกฤษส่งทหารและอาวุธหนักไปยังชายแดนไทยบริเวณช่องสะเดา
ส่วนอีกเส้นทางที่ 2 ส่งกำลังไปยังสถานที่ที่เรียกว่า The Ledge
The Ledge คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการตั้งรับ กล่าวคือเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ตัดเลียบภูเขา อีกฝั่งหนึ่งเป็นแม่น้ำ ซึ่งเป็นช่องทางบังคับในการเดินทัพ
หากอังกฤษสามารถยึด The Ledge ได้ ก็จะมีโอกาสที่หยุดการรุกของทหารญี่ปุ่นที่มาจากปัตตานีไม่ให้รุกเข้าไปยังเมือง Kroh ได้
แต่ถ้าหากทหารอังกฤษไม่สามารถยึด The Ledge และหยุดการรุกของกองทัพญี่ปุ่นได้ ก็จะทำให้ทหารอังกฤษที่ขึ้นไปป้องกันเส้นทางที่ 1 ที่ ทางด่านสะเดา นั้นตกอยู่ในภาวะลำบาก อาจจะถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกตัดแนวส่งกำลังบำรุงและถูกปิดล้อมจากทางทิศใต้ได้
กองทัพอังกฤษจึงเปิดยุทธการ Krohcol ขึ้น บ้างก็เรียกยุทธการ The Ledge จุดมุ่งหมายคือ เคลื่อนทัพเข้าสู่เมืองเบตง แล้วเข้ายึด The Ledge. เพื่อใช้เป็นพื้นที่ตั้งรับของทัพญี่ปุ่น
(Krohcol ย่อมาจาก Kroh Column)
หลายคน คงอยากรู้แล้วว่า The Ledge คือที่ใด แต่ผมยังขออุบไว้ก่อน
อังกฤษได้ส่งกองกำลังที่ชื่อ Krohcol ซึ่งประกอบไปด้วยกำลังส่วนใหญ่ที่เป็นทหารปัญจาบ(คนเชื้อสายอินเดียที่เป็นทหารในจักรวรรด์อังกฤษ) และหน่วยสนับสนุนอื่นๆ และกองกำลังออสเตรเลียเข้ามาในดินแดนไทย
แต่กองกำลัง Krohcol ประสบปัญหาตั้งแต่ก่อนที่จะเคลื่อนทัพคือ กองกำลัง Krohcol มีเพียงกำลังรบครึ่งหนึ่งของกำลังรบตามแผน
ภาพด่านชายแดนที่เบตง จาก britishpathe
ภาพประตูด่าน เบตง-โกร๊ะฮ์ จาก britishpathe
กองกำลัง Krohcol ข้ามชายแดนเข้าสู่ประเทศไทยทาง อ.เบตง วันที่ 8 ธันวาคม 1941 เวลา 14.00 น.
หลังจากที่ข้ามชายแดน หน่วยระวังหน้าของกองทัพอังกฤษก็ถูกซุ่มโจมตีเสียชีวิตทันทีหนึ่งราย ด้วยฝีมือของตำรวจไทยที่พยายามสกัดกั้น
ซึ่งการต้านทานกองทัพอังกฤษ ของตำรวจไทยนั้น สร้างความเสียหายให้กับกองทัพอังกฤษ ตลอดจนทำให้การเดินทัพเพื่อเข้ายึด the ledge นั้นล่าช้าไปมาก
ตามแผนเดิมของอังกฤษคือ จะเข้ายึดพื้นที่ The Ledge เพื่อตั้งรับการรุกของกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อหากสู้ไม่ได้ ก็จะระเบิดทำลาย ภูเขาเพื่อปิดช่องทาง รวมไปจนถึงทำลายถนนสะพานเพื่อชะลอการเดินทัพของญี่ปุ่น
ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 1941ของกองกำลัง Krohcol ทำได้เพียงยั้งทัพระหว่างด่านชายแดนและเมืองเบตงเท่านั้น
จนในช่วงเวลาบ่ายของวันที่ 9 กองกำลัง Krohcol จึงเดินทัพเข้าถึงเมืองเบตงได้สำเร็จ ในบันทึกส่วนใหญ่ของฝ่ายอังกฤษบอกว่าที่ว่าการอำเภอเบตงมีการติดธงขาวสัญลักษณ์การยอมจำนน
การซุ่มโจมตีและรบกวนจากตำรวจไทย และการวางสิ่งกีดขวางเช่นการตัดต้นไม้ล้มขวางถนนเป็นการสร้างความยากลำบากทำให้การเดินทางของกองทัพอังกฤษ
ทหารญี่ปุ่นกำลังขนยุทธปัจจัยข้ามแม่น้ำปัตตานี ก่อนมุ่งหน้าสู่เบตง
จนในวันที่ 10 กองกำลัง Krohcol ของอังกฤษได้เดินทางถึงพื้นที่ทางใต้ของเส้นทาง The Ledge
และเมื่อกองทัพอังกฤษเดินทางถึงกลับพบว่า กองทัพญี่ปุ่นจากกรมทหารราบที่ 42 รุกเข้ามา ในพื้นที่ทางเหนือของ The Ledge ได้มากกว่า 1 ใน 3 แล้ว
ฝ่ายอังกฤษที่ยังไม่ได้ทำการเตรียมพร้อมมากเท่าที่ควร ก็เกิดการปะทะกับกองทัพญี่ปุ่น
การรบเป็นไปอย่างดุเดือด
ทหารบางกองร้อยของ Krohcol ถูกปิดล้อม บางหน่วยสูญหาย บ้างก็กระจัดกระจาย ทหารอังกฤษเชื้อสายปัญจาบบางนายบาดเจ็บไม่สามารถหลบหนีได้ ก็ถูกรถถังของญี่ปุ่นเหยียบจนเสียชีวิตคาที่
การรบ ในครั้งนี้กินเป็นเวลา2 วัน ในคืนวันที่ 11 กองทัพอังกฤษ เล็งเห็นว่าไม่อาจที่จะต้านกำลังของกองทัพญี่ปุ่นได้
จึงแจ้งไปยังหน่วยเหนือเพื่อขอถอนตัวจากสนามรบ การวางแผนถอนกำลังออกจากพื้นที่มีการกำหนดการในเวลาเช้าของวันที่ 12 ธันวาคม 1941 เวลา 09.00 น.
แผนคือถอนกำลังจาก The Ledge โดยจะมุ่งหน้าลงใต้ผ่านเบตง ด่านชายแดนและกลับ สู่เมือง Kroh
วันที่ 12 ธันวาคม ก่อนที่ทหารอังกฤษจะได้เวลาถอนกำลัง กองทัพญี่ปุ่นก็ได้โจมตีใส่แนวตั้งรับของฝ่ายอังกฤษอย่างหนัก
ทหารญี่ปุ่นโถมและระดมยิงอาวุธหนักจนทำให้ทหารอังกฤษแตกกระเจิง
ทหารจำนวนมากเสียชีวิต บางหน่วยถูกปิดล้อม ต้องพยายามหนีฝ่าออกมา
ทหารที่เหลือรอด ประมาณ 350 นายก็เดินทางถอยทัพกลับไปที่เบตงและข้ามชายแดน กลับไปที่เมือง Kroh ต่อไป
และในท้ายที่สุดวันที่ 13 กองทัพญี่ปุ่นก็เข้าสู่เมืองเบตง
ทหารญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนทัพในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
หลังจากนั้นก็ข้ามชายแดน ไปยังเมือง Kroh และรุกต่อไปยังเมือง Gerik เข้าบรรจบกับทัพเส้นทางที่ 1 ที่มาจากสงขลาที่เมือง Taiping ได้สำเร็จ แล้วทหารญี่ปุ่นก็รุกลงใต้ต่อไปยึดกัวลาลำโป ยะโฮร์ และเข้ายึดสิงคโปร์ต่อไป
มาถึงจุดสำคัญที่จะบอกถึง The Ledge คือที่ใด
อ้างอิงจากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการรบในคาบสมุทรสลายูหลายเล่ม ระบุเป็นเสียงตรงกันว่า The Ledge คือพื้นที่แนวถนนยาวประมาณ 10 กว่ากิโลมตร โดยเส้นทางนี้ถูกตัดผ่านไหล่เขาและหน้าผา เบื้องล่างอีกฝั่งเป็นแม่น้ำ
เส้นทางถนนแห่งนี้อยู่เลยจากด่านชายแดนเบตงเข้าไปในดินแดนไทยประมาณ 30-50 กิโลเมตร
ข้อมูลบางแหล่งระบุชัดเจนว่า แม่น้ำที่อยู่ข้างเส้นทาง the Ledge ก็คือแม่น้ำปัตตานี
ผมได้ศึกษาแผนที่ ปัจจุบัน และแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนบางลาง พบว่าทางหลวง 410 เป็นถนนเส้นเดียว ที่สร้างขึ้นจาก อำเภอเบตง มุ่งหน้า สู่ตัวเมืองจังหวัดยะลา
ซึ่งในอดีต ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นถนนเส้นนี้เป็น เส้นหนึ่งที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ในการเดินทางจากจังหวัดปัตตานี มุ่งสู่ด่านเบตง เพื่อข้ามไปรบกับอังกฤษ
จากการตรวจสอบ แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนบางลาง
พบว่าเส้นทางวัดระยะจากเมืองเบตงไปยะลา หลักกิโลเมตรที่ 29 ไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 45 ถนนช่วงนี้ จะถูกสร้างขึ้นเลียบแม่น้ำปัตตานี และอีกฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของภูเขา (ปัจจุบันในพื้นที่หลักกิโลเมตรที่ 45 ขึ้นไปจนเลยสะพานโต๊ะกูแซสะพานข้ามเขื่อนบางลางนั้นสร้างขึ้นใหม่หลังจากการสร้างเขื่อนบางลาง)
จากข้อมูลหลายแหล่งของฝ่ายอังกฤษ ประกอบกับการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศเก่าๆ และแผนที่ พบว่า The Ledge น่าจะเป็นเส้นทางถนนจาก หลัก กม.29 - 45 ทางหลวง 410 เบตง-ยะลา หรืออยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของถนนเส้นนี้
ถึงแม้จะไม่สามารถตำแหน่ง The Ledge ได้แบบ 100%
แต่ผมก็ได้พบข้อมูลบันทึกของ ร.ต.อ. หวน มุตตาหารัช
อดีตรองผู้กำกับการสถานีตำรวจยะลา ผู้ที่เป็นหนึ่งในนายตำรวจที่รบกับทหารอังกฤษที่บุกข้ามด่านชายแดนเบตงเข้ามาในเหตุการณ์ครั้งนั้น
ร.ต.อ. หวน มุตตาหารัช
ร.ต.อ. หวน ได้บันทึกว่า ในช่วงวันที่ 8-9 ธันวาคม 1941 เมื่อกองทัพญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานีและสงขลา
ทางการได้สั่งเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในพื้นที่ของเบตง เพื่อเตรียมป้องกันเบตงจากศัตรู ศัตรูที่ว่าในขณะนั้นคืออังกฤษและญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นยังอยู่อีกไกลหลายวันกว่าจะเดินทางมาถึง
ศัตรูที่น่ากังวลของทางตำรวจไทยคือกองทัพอังกฤษ
เพราะ กองทัพอังกฤษได้ส่งกำลังทหารมาประชิดที่ด่านชายแดนที่อยู่ระหว่างเมือง Kroh โกระ และเบตง ถึงจะยังไม่มีท่าทีจะข้ามมาฝั่งไทยก็น่าเป็นที่กังวล
แต่ส่วนตัว ร.ต.อ. หวน ก็ยังเชื่อว่า กองทัพอังกฤษเพียงมารอตั้งรับกองทัพญี่ปุ่นที่ด่านเท่านั้น
ถึงอย่างไรก็ดี ทางการไทยก็ได้แจ้งมายังหน่วยตำรวจว่าหากกองทัพอังกฤษบุกเข้ามาจริง ก็ขอให้ทำการต่อต้านกองทัพอังกฤษ
ในที่สุดเมื่อเวลา 14.00 น. ทหารอังกฤษได้พังประตูด่านเข้ามา โดยมีกองตำรวจไทยไม่กี่นายรบสะกัดกั้นอยู่บริเวณด่านชายแดน (ข้อมูลฝ่ายอังกฤษระบุว่า ประตูด่านฝั่งไทยถูกปิดล๊อคด้วยแม่กุญแจ ทหารอังกฤษจึงใช้ขวานจามทำลายและเปิดด่านเข้ามา)
เมื่อได้รับแจ้งจากตำรวจที่ดูแลด่านชายแดน ว่ากองทัพอังกฤษบุกเข้ามา ตำรวจไทยก็ระดมกำลังทั้งหมดจากสถานีตำรวจเบตง ไปยังแนวปะทะ โดยเหลือตำรวจเฝ้าสถานีเพียงสามนาย
ตำรวจจากอำเภอเบตงได้ทำการ ต่อต้านกองทัพอังกฤษ จนถึงเวลาพลบค่ำ กองทัพอังกฤษก็ยังไม่สามารถที่จะเข้ายึดเบตงได้
การสู้รบดำเนินต่อเนื่องไป ทางฝ่ายตำรวจที่มีกำลังน้อยกว่าก็ถอนกำลังออกจากเมืองเพราะไม่อยากยอมจำนน
เมื่อกองตำรวจเราถอยมาตั้งกองอำนวยการชั่วคราวอยู่ที่ทัณฑนิคมธารโต ทางรัฐบาลแจ้งมาว่าได้ตกลงกับทางญี่ปุ่น ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านทางนี้
พร้อมกำชับให้ตำรวจไทยคอยแค่ให้ความสะดวกแก่ทหารญี่ปุ่นที่จะผ่านไปเท่านั้น และยังได้สั่งไปว่าทหารญี่ปุ่นกำลังเดินทางจากปัตตานี มุ่งหน้า ยะลา และกำลังพักรวมพลอยู่ที่จังหวัดยะลา
ยังไม่กำหนดเวลาที่จะเดินทัพเข้าสู่อำเภอเบตง ฉะนั้นให้ตำรวจเบตงออกไปปฏิบัติการข้างหน้า หากทหารอังกฤษบุกเข้ามาแล้วถึงจุดใดก็ให้ ทำการปะทะเพื่อยับยั้งการบุกของข้าศึกไว้ก่อน
ตำรวจจากเบตงจึงต้องออกไปทำการรบกับทหารอังกฤษอีกครั้ง
โดยตำรวจไทยกว่า 30 นาย เดินทางจากธารโตกลับไปยังเส้นทาง 410 มุ่งหน้าเบตง เพื่อเข้าปะทะกับกองทัพอังกฤษ
กำลังสอดแนมซึ่งเป็นพลตำรวจ 3 คน เดินนำไปก่อน คนหนึ่งชื่อ พลฯเห้ย อยู่ดี ในการเดินขบวนขึ้นไปนี้ ข้าพเจ้า(ร.ต.อ.หวน ยศในขณะนั้นไม่ทราบ)เป็นผู้นำหน้าขบวน ส่วน ร.ต.ต.สวิง ปานสวาสดิ์ นั้นตามติดอยู่หลังแถว
เมื่อถึง กม.ที่ 35 (นับจากเบตงไปทางยะลา) พบเห็นทหารอังกฤษอยู่บริเวณนั้น
ฝ่ายตำรวจกระจายกำลังหน้ากระดานจากถนนลงไปทางริมแม่น้ำเพราะฝั่งขวาเป็นผาสูงชัน ไม่สามารถขยายแนวขึ้นไปได้
ทั้งสองฝ่ายเริ่มยิงปะทะกันอย่างหนัก ฝ่ายอังกฤษมี ปืนกล ปืนใหญ่ คอยยิงสนับสนุน
ถนนตรงนั้นจะเป็นโค้งหักซอก ตำรวจไทยจึงได้คลานไปทางด้านขวาเข้าไปในโค้งหักซอกเพื่อหลบวิถีกระสุน
ร.ต.อ. หวน คืบคลานไปถึงหัวสะพานที่ทอด ข้ามถนนทางด้านเหนือ ได้โบกแขนเป็นอาณัติ สัญญาให้ตำรวจในแนวคลานตามไป
ขณะเดียวกันนี้ฝ่ายข้าศึกได้ยิงมายังแนว ของตำรวจอย่างหนัก ทั้งปืนเล็ก ปืนกลมือ และปืนใหญ่ ยิ่งมาสกัดการรุกไว้ทางหลังแนว เป็นการยิงอย่างรุนแรง
ตำรวจที่มายึดแนวด้านหน้าตรงโค้งหักศอกมี 12 นาย ส่วนที่เหลือก็รักษาแนวเดิม
ไม่นานเสียงปืนจากตำรวจในแนวเดิมก็เงียบหายไป เพราะตำรวจชุดนั้นทำการถอนตัว
ส่วนตำรวจที่คลานหลบวิถีกระสุนไปที่โค้งหักศอกเป็นแนวตั้งรับใหม่ ในไม่ช้าทหารอังกฤษก็เห็นตำรวจไทยชุดนี้ และทำการยิงถล่มจนตำรวจต้องถอนตัวออกจากแนวรบ
ร.ต.อ.หวน ได้ลงไปในลำห้วยและปีนขึ้นเขาหลบหนีและพยายามหาทางกลับไปยังเส้นทางธารโต
ร้อยตำรวจเอกหวน พยายามเดินในป่าเป็นเวลาประมาณหนึ่ง ในที่สุดก็โผล่ออกจากป่ามาที่ถนน 401 ประมาณ หลักกิโลเมตรที่ 36-37
ห่างจากจุดปะทะประมาณ 1-2 กิโลเมตร
เมื่อออกจากป่าได้ก็พบเข้ากับทหารญี่ปุ่น อยู่บริเวณนั้นจำนวนมาก ตำรวจไทยจึงได้เข้าแสดงตัวต่อทหารญี่ปุ่น
ร.ต.อ. หวน ได้กล่าวว่า ตลอดแนวถนน ตอนนี้เต็มไปด้วยรถทหารญี่ปุ่นจอดอยู่เป็นแถว ยาวเหยียดนับเป็นกิโล ๆ ซึ่งมีทั้งรถรบ รถบรรทุก ทหาร รถบรรทุกสัมภาระอุปกรณ์การรบทุกชนิด ไปหยุดอยู่ในบริเวณนั้น
มีรถบรรทุกทหารที่บาด เจ็บในการรบสองคัน มีทหารบาดเจ็บอยู่เต็ม นอกจากรถทหารของญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่มีรถของเอกชนใดๆ
และ ร.ต.อ.หวนยังกล่าวอีกว่า
ด้านทหารญี่ปุ่นนั้นขณะนี้กำลังบุกไปทางเส้นทางเบตงนี้เป็นการใหญ่ ได้ไปถึงแนวที่เรา ปะทะ กม.35 เมื่อวันที่ 11 ตอนบ่าย แล้วก็ต้องหยุดชะงักอยู่ตรงนั้น
เพราะถูกฝ่ายทหารอังกฤษยันไว้ ตรงถนนโค้งเป็นข้อศอกพับ กม.35 นั้นเอง อยู่คนละฟาก เหมือนกับที่ข้าพเจ้ากับ พวกพลฯตำรวจตรึงอยู่เดิม เพราะที่ตอนนั้นกันดารมาก จะอ้อมออกข้างไม่ได้ทั้งสองฝ่าย
แผนที่ที่ ร.ต.อ.หวน วาดขึ้นระบุบริเวณโค้งหักศอกที่หลักกิโลเมตรที่ 35
ด้านตะวันออกเป็นแม่น้ำลำธารใหญ่ น้ำกำลัง ไหลเชี่ยว ทางด้านตะวันตกก็มีแต่ภูเขา ต่างฝ่าย ต่างก็เอาถนนเป็นแนวรบ ขยายแถวพลรบออกข้างก็ไม่ได้ รวมทั้งรถเกราะหรือรถปืนก็ต้องตามหลังกันไปตามตัวถนน เครื่องบินรบยังไม่นำมา
ทั้งสองฝ่าย จึงได้แต่ยันเผชิญหน้ากัน อยู่ในที่จำกัดได้ยิงต้านโต้ตอบกันอยู่ตรงนี้เป็นเวลาสามวัน
ญี่ปุ่นจึงสามารถบุกตะลุยไปได้ ทหารอังกฤษจึงเริ่มถอย และเป็นการถอยชนิดที่ หนีเตลิด ไม่อาจที่จะตั้งแนวใหม่ เพราะการบุกของ ญี่ปุ่นรุนแรงมากด้วยกำลังที่แข็งแกร่งเหนือกว่า
ผลการรบที่ กม.35 ของญี่ปุ่นและอังกฤษ ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าพวกทหารญี่ปุ่นแนวหลังได้เก็บศพ ของพวกตนและทหารที่บาดเจ็บกลับไป
ส่วนทหารของอังกฤษที่ตายระเกะระกะอยู่ ตามทางข้างทาง ตายอยู่บนรถเกราะ ตายอยู่ กลางถนน ก็คงทิ้งอยู่ตามเดิม
เพราะพวกทหาร อังกฤษเป็นฝ่ายถอยหนี ไม่อาจพะวงถึงศพพวก ตนที่ตายได้ ทหารญี่ปุ่นจับทหารอังกฤษเป็นเชลย มัดทิ้งไว้บนถนนก็หลายคน ตอนหลังเมื่อกองทัพญี่ปุ่นผ่านพ้นไปแล้ว
ทางทัณฑนิคม ธารโต จึงให้พวกนักโทษมาเก็บศพที่ตายอยู่บนถนนหรือใกล้ๆเอาไฟเผา ส่วนศพทหารที่อยู่พ้นถนนไปหน่อยและหาไม่พบก็ทิ้งไป ทำให้ที่บริเวณนั้นเหม็นตลบไปด้วยกลิ่นศพคนตายเป็นเวลาหลายเดือนต่อมา
ส่วนทหารข้าศึกที่ยังไม่เสียชีวิต ถูกจับเป็นเชลยมัดทิ้งไว้ก็เท่ากับมัดทรมานไว้ให้ตาย พอดีพวกลูกยักษ์ (นักโทษนิคม) ไปพบเข้า แทนที่จะเอามาเลี้ยงฐานเชลย พวกใจร้ายก็เอาขวานจามหัวคนละที่สองที่ให้ตายแล้วเอาไฟเผาเสียด้วย
นี้คือข้อมูลจากคำบอกเล่าของ ร.ต.อ.หวน ที่มีข้อมูลที่น่าสนใจในการปะทะระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารอังกฤษที่ กิโลเมตรที่ 35 ถนนเบตง-ยะลา
ซึ่งหากรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากหลายๆแหล่งและข้อมูลที่สำคัญของ ร.ต.อ.หวน
พอสรุปได้ว่าบริเวณกิโลเมตรที่ 35 หากเรามุ่งหน้าไปที่ อ.เบตง ด้านขวาจะมีหน้าผาสูงชัน ส่วนด้านซ้ายจะเป็นแม่น้ำปัตตานี(จุดแนวแรกที่ตำรวจไทยวางกำลังยิงตอบโต้ และเป็นจุดเดียวกันกับที่กองทัพญี่ปุ่นมาถึงและมีการวางกำลังระดมยิงทหารอังกฤษ)
จุดที่เลยจากหน้าผาไปหน่อยจะเป็นโค้งหักศอก ตรงโค้งหักศอก(เป็นจุดที่ ร.ต.อ.หวน คลานและไปหลบแนวกระสุน แต่ท้ายสุดก็ถูกทหารอังกฤษไล่ระดมยิงจนต้องถอนตัว)ตรงนั้นจะมีธารน้ำเก่าด้วยและเมื่อพ้นโค้งหักศอกออกมาก็จะเป็นถนนตรงที่ฝั่งขวาเป็นเขาสูงป่าไม้รก ทางฝั่งซ้ายก็เป็นแม่น้ำปัตตานี (ตรงนี้เป็นจุดแนวตั้งรับของทหารอังกฤษ ทั้งตอนที่รบกับตำรวจไทยและตอนที่รบกับทหารญี่ปุ่น)
จากการวิเคราะห์ส่วนตัวของผมเอง คาดว่า ฝ่ายอังกฤษคงมองว่า กิโลเมตรที่ 35 เป็นจุดที่เหมาะสมในการวางแนวป้องกันการรุก
เนื่องจาก ด้านหนึ่งเป็น หน้าผาสูงชัน อีกด้านหนึ่งเป็น แม่น้ำ ทำให้การเคลื่อนที่ของทหารและยานเกราะ เป็นไปได้อย่างจำกัด ประกอบกับหัวโค้งหักศอก เป็นจุดที่ ยานเกราะ หรือทหารญี่ปุ่นก็ต้อง ใช้เส้นทางโค้งไปตามแนวถนน และจะเป็นจุดอ่อนในการถูกโจมตีจากฝ่ายอังกฤษที่ทำการป้องกัน
ทำให้ทหารอังกฤษเลือกที่จะไม่เดินทัพขึ้นไป เหนือจากจุดกิโลเมตรที่สามสิบห้า จะเห็นได้ว่า จากคำบอกเล่าของ ร.ต.อ. หวน หลังจากที่ปะทะกับตำรวจไทย ทหารอังกฤษยังคง ปักหลักอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่สามสิบห้า ตรงบริเวณโค้งหักศอก
หรืออาจะเป็นไปได้ว่าทางอังกฤษทราบการมาถึงของกองทัพญี่ปุ่นแล้ว จึงไม่ได้เดินทัพขึ้นไปอีก
และเมื่อกองทัพญี่ปุ่น เดินทัพจากกิโลเมตรที่36 ลงไปที่กิโลเมตรที่ 35 ก็ได้พบกับทหารอังกฤษและมีการสู้รบกัน
จึงพอที่จะสรุป ได้ว่า The Ledge คือ เส้นทางถนนสายเบตง-ยะลา ที่สร้าง เลาะเลียบแม่น้ำปัตตานี จากกิโลเมตรที่ 29-45
และจุดที่ กองทัพญี่ปุ่น และกองทัพอังกฤษ ได้ สู้รบกันเป็นครั้งแรกในสมรภูมิ The Ledge ก็คือหลักกิโลเมตรที่ 35
ในปัจจุบันนี้ บริเวณ ที่เป็น กิโลเมตรที่ 35 จุดที่กองทัพญี่ปุ่นปะทะกับกองทัพอังกฤษ ยังพบเห็นเส้นทางที่เป็นโค้งหักศอกอยู่จนถึงปัจจุบัน
ขอนำภาพแผนผังของ ร.ต.อ.หวน มาให้ชมอีกครั้ง แนวตำรวจไทบคือแนวหลักเดิม ส่วนแนวใหม่คือแนวที่ ร.ต.อ.หวน คลานไปหลบก่อนถูกอังกฤษยิงถล่ม แม่น้ำคือแม่น้ำปัตตานี ส่วนสะพานและลำธารคือจุดที่ ร.ต.อ.หวนหลบหนีหลังจากที่ถูกฝ่ายอังกฤษระดมยิง
หัวโค้ง กม.35 ในปัจจุบันยังอยู่ครับ เข้าใจว่าถูกใช้จากชาวบ้านในพื้นที่แถวบริเวณนั้น แต่ที่เปลี่ยนไปคือ มีสะพานตัดตรงข้ามในบริเวณนี้แทน
บริเวณโค้งหักศอก กม.ที่ 35 ภาพถ่าสทางอากาศเมื่อปี พ.ศ.2518 ในขณะนั้นยังไม่มีการสร้างสะพานตัดตรงแบบปัจจุบัน จึงเห็นโค้งถนนอย่างชัดเจน
แนวของฝั่งตำรวจไทยและกองทัพญี่ปุ่น มีหน้าผาอย่างที่ ร.ต.อ.หวนได้กล่าวไว้
ฝั่งแนวตั้งรับของทหารอังกฤษ ก็มีภูเขาสูงติดกับแนวถนน ปัจจุบันเป็นไร่ปลูกอะไรสักอย่าง
จากการตรวจสอบ กับชาวบ้านในพื้นที่ และภาพถ่ายทางอากาศเก่า พบว่าโค้งแห่งนี้มีมาเป็นเวลานานแล้ว ภายหลังก็มีการสร้างถนน และสะพานซึ่งตัดเป็นทางตรง เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การคมนาคม
แต่ถนนที่เป็นโค้งหักศอก ก็ยังคงถูกใช้งานโดยชาวบ้านในพื้นที่อยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนสะพานเดิม ที่อยู่ตรงหัวโค้งถูกปรับเปลี่ยนโดยการใช้ท่อระบายน้ำวางและสร้างถนนดินทับไปแทนสะพานเดิม
เรื่องการรบ ในสมรภูมินี้ผมขอจบเพียงเท่านี้และจะไม่ทำการศึกษา ข้อมูลต่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะกิจที่ทำขึ้น เพื่อช่วยเพื่อนชาวต่างชาติ
และคิดว่าไหนๆ ก็ทำแล้วก็อยากให้คนไทยได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการรบของทหารอังกฤษและทหารญี่ปุ่นในดินแดนประเทศไทย
ประวัติศาสตร์ไม่มีใครถูกผิดอยู่ที่มุมมองของคนที่ศึกษาครับ ความจำเป็นของแต่ละฝ่ายในช่วงสงครามโลก ต่างฝ่ายต่างมีความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป มีหลายปัจจัยเข้ามาเป็นตัวแปร
ในวันทหารผ่านศึก ซึ่งถือเป็นวันที่รำลึกถึงทหารที่ช่วยปกป้องชาติบ้านเมือง ผมจึงขอเขียนบทความนี้เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของตำรวจไทยที่ อ.เบตง ที่ทำการรบต่อสู้กับทหารอังกฤษ ตามหน้าที่และคำสั่งที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ ถึงไม่ใช่ทหารแต่ก็สู้รบได้ไม่แพ้ทหารเลยครับ
หากท่านใดสนใจ ก็สามารถนำเอา ข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้เพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้ ขอบพระคุณครับ
ปล. กม.ที่ 35 จุดที่รบกัน
https://maps.app.goo.gl/16zc6z7WY9Ziu8Ug6
2 บันทึก
3
2
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย