9 ก.พ. เวลา 00:00 • หนังสือ

กระบี่อยู่ที่ใจ | The Zen Moment

นิยายจีนกำลังภายในหลายเรื่องมีฉากจอมยุทธ์ประลองฝีมือโดยจ้องตากันเฉย ๆ ผ่านไปสักสองสามชั่วยาม ฝ่ายหนึ่งก็ร้องว่า "ข้าฯแพ้แล้ว" ง่าย ๆ เช่นนั้น!
จอมยุทธ์ในนิยายอีกหลายเรื่องประลองฝีมือกันโดยไม่ต้องชักอาวุธด้วยซ้ำ เมื่อฝ่ายหนึ่งร้องว่า "ชักกระบี่" อีกฝ่ายที่มามือเปล่าก็ตอบว่า "ชักแล้ว"
"ชักแล้ว? กระบี่ท่านอยู่ที่ใด?"
"กระบี่อยู่ที่ใจ!"
ที่น่าขันก็คือฝ่ายที่ถืออาวุธกลับร้องว่า "อา! ข้าฯแพ้แล้ว นับถือ! นับถือ!"
บทสนทนาที่ดูเป็นเรื่องเล่นโวหารอย่างนี้กระมังที่ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่านิยายจีนกำลังภายในหาแก่นสารอะไรมิได้ แต่ความจริงแล้ว การจ้องตาหรือบทสนทนาแบบนี้ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ของนักเขียนจีนในศตวรรษที่ 20 ตรงกันข้าม แนวคิดแบบสื่อสารกันด้วยหลักใจต่อใจ หรือการสัมผัสความจริงด้วยใจของเซนนี้มีมานานร่วมสองพันปีแล้ว และหากจะนับตำนานการสืบทอดธรรมของพระพุทธเจ้าต่อพระมหากัสสปะ ก็เกินสองพันห้าร้อยปี
พระสูตรจารึกว่า กาลครั้งโน้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชกูฎ ท้าวมหาพรหมน้อมถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชา กราบทูลให้ทรงแสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงชูดอกไม้ดอกหนึ่งขึ้นท่ามกลางสันนิบาต มิได้ตรัสความอันใด ไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมายนั้น มีเพียงแต่พระมหากัสสปะยิ้มน้อย ๆ อยู่ผู้เดียว
พระพุทธองค์ทรงรู้ทันทีว่าพระมหากัสสปะเป็นผู้เดียวในที่นั้นที่เข้าใจความหมาย จึงทรงมอบจีวร สังฆาฏิ และบาตรของพระองค์ต่อให้พระมหากัสสปะ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมการสืบทอดตำแหน่งพระสังฆปริณายกต่อยังรุ่นถัดไป ก็คือตำแหน่งหัวหน้าสงฆ์
ดังฉะนี้พระมหากัสสปะจึงนับเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 แห่งอินเดีย สืบสายต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจนถึงพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 คือพระโพธิธรรม แล้วไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในเมืองจีน เมื่อพระโพธิธรรมไปเผยแผ่ธรรมที่นั่น
ภายหลังตำนานนี้กลายเป็นปริศนาธรรมที่เรียกว่า 'นัยน์ตาแห่งธรรมะที่แท้' หมายถึงการสื่อสารโดยไม่ผ่านตัวอักษร นี่ก็คือการถ่ายทอดธรรมแบบ 'ใจถึงใจ' พระพุทธเจ้าทรงยกดอกไม้ พระมหากัสสปะยิ้ม จิตของพระพุทธองค์กับจิตของพระมหากัสสปะเชื่อมกัน
นี่ก็คือต้นกำเนิดการสื่อสารแบบเซน!
เซนมองว่า เหตุผลที่พระพุทธองค์ไม่ตรัสคำใด ๆ เพราะคำพูดนั้นไร้ความหมายและรกรุงรังเปล่า ๆ การรู้แจ้งของพระพุทธเจ้าเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถเอ่ยเป็นคำอธิบายหรือด้วยคำใด ๆ เพราะคำพูดเป็นรูปหนึ่งของมายา! เซนจึงใช้หลัก 'ชี้ตรง' โดยไม่ต้องสื่อสารด้วยคำพูดให้เขวเปล่า ๆ
ยิ่งใช้ถ้อยคำยิ่งหลงทาง ยิ่งพูดมากก็ยิ่งเขว
เซนเป็นคำที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง หนังสือเกี่ยวกับเซนมีมากมายหลายภาษาหลายเวอร์ชั่น บางตำราว่าเซนเป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน บางตำราว่าเซนคือปรัชญาที่ผสมผสานแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานกับลัทธิเต๋าของจีน
แต่ผู้เชี่ยวชาญเซนระดับแถวหน้าหลายคนเช่น ดร. ดี. ที. ซูซุกิ ยืนยันว่า เซนไม่ใช่ปรัชญา และก็มิใช่ศาสนา เพราะสาระของมันแตกต่างจากทั้งปรัชญาและศาสนา มันเชื่อมโยงกับทั้งปรัชญาและศาสนาอย่างยิ่งในฐานะทางเลือกทางหนึ่ง แต่ต่างจากศาสนาอื่น ๆ เซนไม่มีพระเจ้า ไม่มีวิญญาณ ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ไม่มีการรดน้ำมนต์ ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีสวรรค์
อลัน วัตต์ส นักปรัชญาชาวอังกฤษเขียนในหนังสือ The Way of Zen (1957) ว่า เซนเป็นวิถีทางและมุมมองของชีวิต เซนไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่จิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ และเช่นเดียวกับพุทธและเต๋า หลักการของเซนคือ 'การปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ' (self liberation)
แม้ว่าเซนเป็นส่วนผสมของศาสนาพุทธกับเต๋า แตกแขนงเป็นอีกสายธารหนึ่ง แต่ก็เป็นสายทางใหม่ที่ต่างจากเดิม อย่างที่บางท่านบอกว่า เซนก็คือสิ่งประดิษฐ์ในสมัยราชวงศ์ถัง
ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่าเราไม่ควรนับเซนเป็นมหายาน เพราะเซนไม่บูชาสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นอมิตาภะ โพธิสัตว์ ตารา (หรือ 'พระรัตนตรัย' ของฝ่ายมหายาน) ไม่มีแดนสุขาวดี ไม่มีทัวร์สวรรค์ ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีรางวัลสำหรับชาติหน้า อีกทั้งเซนยัง "ขนสัตว์ข้ามฝั่ง (หมายถึงรู้แจ้ง) ไปได้น้อยกว่าพวกหินยานหรือเถรวาทเสียอีก"
จาก มังกรเซน และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
มังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6
โฆษณา