3 ก.พ. เวลา 11:34 • ประวัติศาสตร์

การทดลองเลี้ยง “เด็ก“ กับ ”ลิง“ ด้วยกัน การทดลองที่ท้าทายความถูกต้องและไม่มีใครกล้าทำต่อ

ในปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ได้มีการทดลองที่ฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการทดลองที่เป็นที่พูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้
นั่นคือการทดลองเลี้ยง “เด็ก” กับ “ลิง” ด้วยกันเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์
เรื่องราวเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ในยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) “วินโทรป เคลล็อกก์ (Winthrop Kellogg)” ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้มีความสนใจด้านพฤติกรรมศาสตร์ และเริ่มทำการทดลองเพื่อดูว่าพฤติกรรมการเลี้ยงดูจะส่งผลต่อพัฒนาการหรือไม่
วินโทรป เคลล็อกก์ (Winthrop Kellogg)
ดังนั้น วินโทรปและ “ลูเอลลา เคลล็อกก์ (Leulla Kellogg)” ภรรยา จึงเริ่มทำการศึกษาว่าสภาพแวดล้อมจะส่งผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตอย่างไร โดยเลือกหนูทดลองเป็นสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด นั่นคือลิงชิมแปนซีนามว่า ”กัว (Gua)”
หัวใจของการทดลองนี้ึืิคือการหาคำตอบว่าระหว่าง ”ธรรมชาติ“ กับ ”การเลี้ยงดู“ อะไรจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน โดยวินโทรปนำกัวเข้ามาเลี้ยงดูในบ้านคู่ไปกับ “โดนัลด์ เคลล็อกก์ (Donald Kellogg)” บุตรชายวัย 10 เดือนของวินโทรปและลูเอลลา
การทดลองนี้จะสังเกตว่าหากถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมแบบมนุษย์ สัตว์อย่างลิงจะสามารถมีวิวัฒนาการและมีพฤติกรรมแบบมนุษย์ได้หรือไม่
โดนัลด์ เคลล็อกก์ (Donald Kellogg)
ที่ผ่านมา วินโทรปเคยได้ยินเรื่องของเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยสัตว์ ทำให้มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์ วินโทรปจึงเกิดคำถามว่าหากนำลิงชิมแปนซีมาเลี้ยงในสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ลิงจะสามารถมีพฤติกรรมแบบมนุษย์ได้หรือไม่?
วินโทรปได้ทำเรื่องขออนุญาติจากสมาคมวิทยาศาสตร์และหน่วยงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า เพื่อขออนุญาติทำการทดลองและขอตัวกัวมาทำการทดลอง
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) เคลล็อกก์และครอบครัวได้ย้ายมาฟลอริด้าและเริ่มการทดลอง โดยเลี้ยงทั้งโดนัลด์และกัวควบคู่ไปด้วยกัน ทำเหมือนกัวคือสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว คือมนุษย์คนหนึ่ง
ในทุกๆ เช้า ทั้งโดนัลด์และกัวซึ่งในเวลานี้เป็นเหมือนพี่น้องกันแล้ว จะตื่นนอนในเวลา 7:00 น. และกัวก็ถูกสอนให้ทานอาหารด้วยช้อนส้อม นั่งร่วมโต๊ะร่วมกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว
วินโทรปต้องการจะให้ความแตกต่างทางพฤติกรรมระหว่างลิงอย่างกัว กับมนุษย์อย่างโดนัลด์ ต้องการกำจัดความต่างนี้ออกไป โดยกัวจะได้รับการดูแลอย่างดี มีการอาบน้ำให้ แต่งตัวให้ ให้อาหารเป็นเวลา ทำให้สัญชาตญาณสัตว์ป่าของกัวเหลือน้อยที่สุด ทำให้เป็นมนุษย์มากที่สุด
ในเวลาพักผ่อน กัวและโดนัลด์จะได้เล่นของเล่นเด็กด้วยกัน มีการกระตุ้นให้กัวเล่นเหมือนเด็กคนหนึ่ง และฝึกให้กัวเดินสองขาเหมือนมนุษย์
กัว (Gua)
วินโทรปจะทำการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของกัวอย่างละเอียด ดูว่ากัวมีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมแบบมนุษย์อย่างไร และเวลาสอนสิ่งต่างๆ แก่โดนัลด์ กัวก็จะถูกสอนควบคู่ไปด้วยเสมอ จนถึงเวลาเข้านอนของโดนัลด์และกัวในเวลา 20:00 น.
ผลจากการสังเกต พบว่ากัวนั้นมีความคล่องแคล่วและแข็งแรงกว่าโดนัลด์ สามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่โดนัลด์เพิ่งจะเริ่มหัดเดิน
วินโทรปยังทดสอบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ซึ่งหนึ่งในวิธีการนั้น คือการนำช้อนมาเคาะที่ศีรษะของโดนัลด์และกัวเบาๆ เพื่อดูความหนาแน่นของกะโหลกศีรษะ ปรากฎว่าเมื่อเคาะช้อนบนศีรษะของโดนัลด์ พบว่ามีเสียงที่แหลมกว่า
การทดลองอีกอย่างคือการดูการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบข้าง โดยวินโทรปลองทดลองยิงปืนปลอมด้านหลังโดนัลด์และกัว จุดประสงค์เพื่อดูว่าทั้งคู่นั้น ใครจะตอบสนองเร็วกว่ากัน
ผลก็คือ โดนัลด์ตอบสนองเร็วกว่ากัว
การทดลองนี้ยังพบเห็นการลอกเลียนแบบพฤติกรรมด้วย โดยเฉพาะจากโดนัลด์ ซึ่งเริ่มเลียนเสียงและท่าทางของกัว ทั้งการเปล่งเสียงและคำราม
โดนัลด์และกัวยังมีความสามารถแตกต่างกัน เช่น การทานอาหารและเข้าห้องน้ำ ซึ่งพบว่าโดนัลด์นั้น ใช้ช้อนส้อมได้รวดเร็วกว่ากัว ในขณะที่กัวนั้นเข้าห้องน้ำเป็นได้รวดเร็วกว่าโดนัลด์
เวลาเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ กัวจะเข้าไปดึงเสื้อของวินโทรปหรือลูเอลลาเพื่อบอกว่าตนนั้นบาดเจ็บ และยังทำเสียงบอกให้รู้ว่าตนต้องการความสนใจ
แต่ที่สำคัญคือเรื่องของ “ภาษา” ซึ่งเรื่องนี้กัวกับโดนัลด์แตกต่างกัน
กัวนั้นไม่มีพัฒนาการทางการพูดเลย ไม่สามารถพูดได้ โดยกัวจะสื่อสารผ่านภาษากายเท่านั้น
เมื่อหิว กัวจะเอานิ้วชี้ที่ปาก เมื่อต้องการความสนใจ ก็จะไปดึงเสื้อของวินโทรปหรือลูเอลลา เวลาอยากได้อะไร ก็จะชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ
ผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นว่ายังไงซะ สัตว์อย่างกัวก็ยังไม่สามารถสื่อสารภาษามนุษย์ได้อยู่ดี
แต่ปัญหาดันมาเกิดที่โดนัลด์
ในทีแรก โดนัลด์นั้นหัดพูดได้ตามปกติ เริ่มจะพูดคำง่ายๆ ได้ หากก็เรียนรู้ช้า และที่แย่กว่านั้น โดนัลด์เริ่มจะเลียนเสียงการพูดแบบกัว ทั้งคำราม กรีดร้อง แม้แต่เห่าหอน
เมื่อเห็นอย่างนี้ วินโทรปและลูเอลลาก็เริ่มเห็นว่าไม่เข้าท่าแล้ว เกรงว่าหากปล่อยไว้อย่างนี้ โดนัลด์จะไม่มีพัฒนาการเหมือนเด็กทั่วไป แทนที่จะทำให้กัวกลายเป็นมนุษย์ แต่นี่กลับทำให้ลูกของตนกลายเป็นลิงแทน
สองสามีภรรยาตัดสินใจจะยุติการทดลอง และส่งกัวกลับคืนไปยังศูนย์วิจัยในต้นปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475)
หลังจากการทดลอง ก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทดลองนี้อย่างกว้างขวาง มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม ถามว่าการทดลองอย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ?
กัวต้องถูกพรากจากแม่ขณะมีอายุเพียงเจ็ดเดือน และเมื่อมาอยู่กับครอบครัวเคลล็อกก์ได้เกือบปี พอเริ่มจะคุ้ยเคย ก็ถูกส่งกลับไปแล้ว
1
นอกจากนั้น โดนัลด์ซึ่งเป็นเด็กเล็กและเป็นมนุษย์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและอารมณ์ของเด็ก
เหตุผลเหล่านี้ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยบางส่วนก็มองว่าการทดลองนี้เป็นก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์ แต่บางส่วนก็มองว่าเป็นการทดลองที่ไร้ศีลธรรม
ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์อีกว่าการทดลองนี้ส่งผลต่อกัวอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากการนำกัวที่เป็นลิงมาเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ทำให้กัวเริ่มมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ แต่พอเบื่อ ไม่เอาแล้วก็ส่งกลับ ทำให้กัวอาจจะเกิดความสับสนและยากต่อการดำรงชีวิต
นี่ก็เป็นเรื่องราวของการทดลองในอดีตที่ไม่มีใครกล้าทำต่อและยังเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้
แล้วคุณล่ะครับ? คิดว่าการทดลองนี้เหมาะสมหรือไม่?
โฆษณา