3 ก.พ. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

เรดแซนด์โบอา เหยื่อความงมงาย เชื่อเลี้ยงไว้จะโชคดี ยิ่งตัวหนักยิ่งขายได้ราคา

เรดแซนด์โบอา (red sand boa) หรือบ้างเรียกว่างูเหลือมอินเดีย เป็นงูไม่มีพิษที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ พบได้ทั่วไปในอนุทวีปอินเดีย
บทบาทหน้าที่ของมันคือการการล่าสัตว์ฟันแทะ และกินงูตัวอื่นๆ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขนานนามว่าเป็นมิตรของเกษตรกร เรือกสวนไร่นาไหนมีแรดแซนด์โบอาไม่ต้องกังวลว่าจะมีนกหนูมารบกวนผลผลิต
ลักษณะเด่นที่สังเกตได้ว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ส่วนหางจะทู่และหนาคล้ายหัว หากไม่ตั้งใจสังเกตอาจสับสนว่าด้านไหนเป็นหัวด้านไหนเป็นหาง - เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่ทำให้สัตว์ผู้ล่าสับสน
กลางวันอาศัยหลับนอนอยู่ในโพรงรังใต้ดิน และจะตื่นออกมาหากินยามค่ำคืน โอกาสพบปะกับมนุษย์มีไม่บ่อย
กระทั่งไม่รู้มนุษย์หน้าไหนใส่ความเชื่อผิดวิปริตเข้าสู่สังคม
บอกว่างูชนิดนี้มีประโยชน์ทางยา หากใครได้กินเนื้อแล้วจะหายจากอาการหอบหืด รักษาอาการปวดไขข้อไปยันโรคเอดส์ แถมยังช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศได้ดีอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความเชื่อทางไสยเวทย์มนต์ดำเข้ามาเกี่ยว กระดูกงูสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
รวมถึงยังมีความเชื่อเรื่องโชคลาง หากใครเลี้ยงไว้จะประสบพบโชคดี
แถมยังเลยเถิดไปถึงขั้นว่า ใครได้ดื่มเลือดเรดแซนด์โบอา จะได้รับพลังเหนือธรรมชาติ
แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่มีมูลความจริง ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ อ้างอิงได้ว่า เลี้ยงแล้ว กินแล้ว จะเป็นตามคำบอกเล่า
แต่น่าเศร้าว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อไปกับเรื่องราวเหล่านั้น
Mongabay สื่อแนวสืบสวนสอบสอนด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ผู้ที่หลงเชื่อมีทั้งคนยากจนไร้การศึกษา ตลอดจนที่มีการศึกษาสูงและร่ำรวย
โดยเฉลี่ยราคาซื้อขายจะอยู่ที่ 494,000 รูปี หรือราวๆ เกือบสองแสนบาทไทย
ปัจจัยเรื่องราคามาจากน้ำหนักงู ตัวไหนหนักมากก็จะขายได้ราคาดี (ไม่มีรายงานว่ายิ่งหนักมากจะโชคดีมากหรือไม่)
และปัจจัยเรื่องราคากับน้ำหนักยังนำไปสู่การทารุณกรรมสัตว์อีกอย่าง
รายงานจากหลายแหล่งเปิดเผยตรงกันว่า พ่อค้ามักป้อนลูกเหล็กหรือตะกั่วใส่ท้องงู เพื่อให้มีน้ำหนักมากๆ จะได้ขายมีราคาขายสูงๆ (ยังไม่มีรายงานผลกระทบในเรื่องนี้)
และเป็นที่น่าสนใจว่า ความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรดแซนด์โบอา เป็นสิ่งที่เพิ่งปรากฏขึ้นไม่นานมานี้ ไม่ใช่ความงมงายที่มีมาแต่อดีตกาล หรือก่อนวิชาวิทยาศาสตร์จะเป็นหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ
ตามที่องค์กร WWF ระบุว่า เรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่อสมัยใหม่
เพราะก่อนหน้านี้เรดแซนด์โบอาเป็นสัตว์ที่มีการค้ากันในกลุ่มนักสะสมสัตว์แปลกเพียงแค่กลุ่มเดียว (จากลักษณะที่เหมือนมีสองหัวตามที่กล่าวไปข้างต้น)
กระทั่งมีมนุษย์อุตริคิดพิเรนทร์โฆษณาสรรพคุณและความเชื่อเหนือธรรมชาติ จนกลายเป็นไวรัลในตลาดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
ความต้องการจึงมีเพิ่มตามมา
WWF ยังให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากการตามหาหรือล่าในพื้นที่ธรรมชาติแล้ว ยังมีการออกขโมยตามสวนสัตว์ต่างๆ ทั่วประเทศอินเดียอีกด้วย
ราเชช ชาฮาล (Rajesh Chahal) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสัตว์ป่า กรมป่าไม้ อินเดีย เปิดเผยว่า
“เมื่อก่อนนี้ เราสามารถพบเห็นเรดแซนด์โบอาได้อย่างง่ายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งนา หรือบนถนนลูกรัง แต่ตอนนี้เราแทบหามันไม่เจอแล้ว”
เรดแซนด์โบอา ได้รับการคุ้มครองพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า อินเดีย พ.ศ. 2515 และในปี พ.ศ. 2564 ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อสัตว์ที่กำลังถูกคุกคามของบัญชีแดงไอยูซีเอ็น
Times of India สื่อท้องถิ่นของประเทศรายงานว่า รัฐคุชราต เป็นเมืองที่มีการค้าเรดแซนด์โบอามากที่สุด
บางปีพบการซื้อขายในเมืองนี้เกือบ 50 ครั้ง
ส่วนสื่ออย่าง Mongabay ระบุว่ามีการซื้อขายในหลายๆ เมืองและทำกันอย่างโจ่งแจ้งในแพลตฟอร์มออนไลน์
ความเชื่อถือในโชคลางเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็จริง
แต่ความเชื่อที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ตะแคงคอคิดอย่างไร ก็ไม่เห็นว่ามันจะนำพาความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เพราะเมื่อมันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผลที่รับเมื่อถูกจับย่อมไม่ใช่สิ่งดีๆ แน่ๆ
อ้างอิง
Why is this snake one of the most trafficked species in the world? https://shorturl.asia/pN6xJ
Hiss of superstition kills red sand boas https://shorturl.asia/iFapO
Red Sand Boa : A harmless snake threatened by illegal wildlife trade https://shorturl.asia/F3T6H
โฆษณา