3 ก.พ. เวลา 04:34 • ข่าวรอบโลก

ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างตุรกี อาเซอร์ไบจาน และอุซเบกิสถาน: กลยุทธ์ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลกเติร์ก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการประชุมไตรภาคีครั้งที่สองระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของตุรกี อาเซอร์ไบจาน และอุซเบกิสถาน โดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2022
ระหว่างการประชุมครั้งที่สองนี้ ฝ่ายที่เข้าร่วมได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาร่วมและแผนปฏิบัติการ
คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดการประชุมดังกล่าวจึงถูกจัดขึ้นนอกกรอบขององค์กรที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหัวข้อที่ถูกพูดถึงมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับกิจกรรมขององค์กรเหล่านั้น?
เป็นไปได้ว่าฝ่ายที่เข้าร่วมต้องการให้ประเทศในยุโรปเข้าร่วมโครงการนี้ในอนาคต มิฉะนั้น จะไม่ชัดเจนว่าทำไมจึงต้องมีรูปแบบความร่วมมือแยกออกมา หรืออาจเป็นไปได้ว่ากระบวนการตัดสินใจจะง่ายขึ้นในรูปแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องการการมีส่วนร่วมของคาซัคสถานหรือเติร์กเมนิสถาน
ในความเห็นของ Eldaniz Gusseinov นักวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางให้ข้อสังเกตุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจคล้ายกับการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาเส้นทางขนส่งหลายรูปแบบ “เบลารุส – รัสเซีย – คาซัคสถาน – อุซเบกิสถาน – อัฟกานิสถาน – ปากีสถาน” (BRKUAP)
ในช่วงแรก นี่เป็นเพียงความริเริ่มของอุซเบกิสถานในปี 2022 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการที่สมบูรณ์โดยมีการเข้าร่วมของทุกฝ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไป (โดยปัจจุบันยังมีเพียงอัฟกานิสถานที่ยังไม่ได้เข้าร่วม) ขณะนี้มีกลุ่มปฏิบัติการที่ทำงานเพื่อส่งเสริมเส้นทางขนส่ง BRKUAP แล้ว
หนึ่งในเป้าหมายหลักของความริเริ่มนี้คือ การส่งเสริมโครงการทางรถไฟข้ามอัฟกานิสถานเส้นทางมาซารีชาริฟ–เฮรัต–กันดาฮาร์ ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอุซเบกิสถาน
เมื่อกลับมามองที่รูปแบบความร่วมมือ “ตุรกี-อาเซอร์ไบจาน-อุซเบกิสถาน” สิ่งสำคัญที่ควรให้ความสนใจคือเนื้อหาของปฏิญญาที่ฝ่ายที่เข้าร่วมได้ลงนามในวันนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศของอาเซอร์ไบจานได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
▪️ ความมุ่งมั่นในการสนับสนุนมาตรการร่วมกันเพื่อต่อต้านความพยายามที่จะบ่อนทำลายอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
▪️ ความมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพในด้านสำคัญให้เต็มที่ รวมถึงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
▪️ การเรียกร้องให้เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของเส้นทาง “Middle Corridor”
▪️ การเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวในการรักษาความมั่นคงและการพัฒนาอัฟกานิสถาน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในเอเชียกลาง
น่าสนใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกี ฮาคาน ฟิดาน ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาเส้นทาง “Middle Corridor” เมื่อพิจารณาจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบ “ตุรกี-อาเซอร์ไบจาน-อุซเบกิสถาน” ถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมเส้นทางขนส่งผ่านอัฟกานิสถานโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศในยุโรปเข้าร่วม
หากเป็นเช่นนั้น ความพยายามในการให้สหภาพยุโรปเข้าร่วมความร่วมมือและการส่งเสริมแพลตฟอร์ม “ตุรกี-อาเซอร์ไบจาน-เติร์กเมนิสถาน” อาจเผชิญกับอุปสรรคบางประการ
โฆษณา