3 ก.พ. เวลา 07:59 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Couche-Tard บริษัทแคนาดาที่อยากซื้อบริษัทแม่ 7-Eleven ที่ญี่ปุ่น

ชื่อบริษัทนี้ หลายคนคงไม่รู้จัก ไม่อยากสนใจ เพราะคิดว่าอยู่ไกลตัวเรามากเกินไป
แต่นี่คือตัวละครหลัก ที่ทำให้ Seven & i Holdings จากญี่ปุ่น บริษัทแม่ของ 7-Eleven ทั่วโลก ต้องร้อนรน ไปทาบทามคนนู้นคนนี้ จนมาถึงข่าวลือการทาบทามกลุ่ม C.P. ของไทย เพื่อป้องกันการซื้อกิจการที่ไม่เป็นมิตร จากบริษัทนี้
ซึ่งคาดว่า มูลค่าดีลในการเอา Seven & i Holdings ออกจากตลาดหุ้น อาจสูงถึง 2 ล้านล้านบาทกันเลยทีเดียว
เรียกได้ว่า แม้เป็นบริษัทที่อยู่ไกลถึงแคนาดา สุดท้ายก็มาเชื่อมโยงกับบริษัทไทยได้อยู่ดี
ต้องบอกว่า บริษัทสัญชาติแคนาดารายนี้ มีอะไรน่าสนใจกว่าที่หลายคนคิด
แล้ว Couche-Tard เป็นใครมาจากไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้ไหมว่า ความยิ่งใหญ่ของ Couche-Tard ในทุกวันนี้
เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1980 ด้วยร้านเล็ก ๆ แห่งเดียวโดยคุณ Alain Bouchard ที่ประเทศแคนาดา
ก่อนที่เขาจะซื้อร้านสะดวกซื้อ 11 แห่งที่ชื่อว่า Couche-Tard (แปลว่า มนุษย์กลางคืน) พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Alimentation Couche-Tard ในปี ค.ศ. 1985
1
แต่ความทะเยอทะยานของคุณ Alain Bouchard ก็ไม่หยุดแค่นี้ เพราะเขายังไล่ซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ในแคนาดาไปเรื่อย ๆ
จนในที่สุด ผ่านไปแค่ 20 ปี Alimentation Couche-Tard ก็กลายมาเป็นเชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่สุดในแคนาดา
เมื่อกลายเป็นเบอร์ 1 ในประเทศตัวเองแล้ว บริษัทก็ต้องมองหาการเติบโตนอกประเทศบ้าง ซึ่งทำให้ Couche-Tard เริ่มขยายกิจการมายังสหรัฐฯ
โดยดีลที่ใหญ่สุด เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เมื่อบริษัทซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ Circle K จากบริษัทน้ำมันอเมริกันที่ชื่อว่า ConocoPhillips
เพราะ Couche-Tard ยอมทุ่มเงินกว่า 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินตอนนั้นราว 28,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้สาขา Circle K กว่า 1,600 แห่งในสหรัฐฯ
แถมตอนนั้น Circle K มีการขายแฟรนไชส์ในประเทศ
อื่น ๆ ในยุโรป การได้เชนร้านสะดวกซื้อนี้เข้ามา ยิ่งทำให้ Couche-Tard เข้าถึงตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ถึงตรงนี้ หลายคนก็คงเดาว่า Couche-Tard ก็คงใช้วิธีไล่ซื้อกิจการของคู่แข่งเชนร้านสะดวกซื้อไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด ก็สามารถยิ่งใหญ่ได้มาถึงทุกวันนี้
แต่คำตอบคือ ก็ถูกครึ่งหนึ่ง..
เพราะ Couche-Tard ไม่ได้ทำตัวเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แต่อีกขาหนึ่งของธุรกิจ ยังทำตัวเป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันอีกด้วย
1
ถ้าพูดแบบนี้ หลายคนก็คงนึกภาพออกว่า Couche-Tard ทำธุรกิจเหมือนกับ OR ที่มีทั้งสถานีบริการ PTT Station และร้านค้าปลีกอื่น ๆ ในพื้นที่สถานี
โดยนับตั้งแต่ Couche-Tard ซื้อ Circle K ในปี ค.ศ. 2003 บริษัทก็เริ่มซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมัน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจด้วย
ซึ่งหนึ่งในดีลใหญ่สุด นั่นคือ การให้ Circle K เข้าซื้อสถานีบริการน้ำมันของ Statoil ในปี ค.ศ. 2012 ด้วยเงินตอนนั้นราว 95,000 ล้านบาท
Statoil เดิมทีเป็นของรัฐบาลนอร์เวย์ แต่ต่อมา
กลายเป็นบริษัทมหาชน ที่อยากโฟกัสกับธุรกิจต้นน้ำอย่างการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันแค่อย่างเดียว
Statoil จึงตัดสินใจขายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันออกไป
ทำให้ Circle K ที่เข้าซื้อกิจการต่อ ก็ได้เป็นเจ้าของพื้นที่สถานีบริการน้ำมันในยุโรปเหนือไปในทันที
1
ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง Circle K และ Couche-Tard ที่เคยเป็นชื่อแบรนด์ร้านสะดวกซื้อมาก่อน ตอนนี้ก็กลายเป็นชื่อสถานีบริการน้ำมันในหลาย ๆ ประเทศไปด้วยในตัว
และ Couche-Tard ก็ไม่หยุดที่จะไล่ซื้อกิจการทั้งร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงสถานีบริการน้ำมัน จนทำให้ธุรกิจกว่า 70% ในเครือมาจากการควบรวมกิจการแทบทั้งหมด
ผลงานที่ผ่านมา ต่างสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของ Couche-Tard นั่นคือ การซื้อและควบรวมกิจการ ไปจนถึงการปรับปรุงธุรกิจที่ได้เข้าซื้อ จนประสบความสำเร็จ
แล้วกลยุทธ์ที่ทำมาแบบนี้ ทำให้ผลประกอบการของ Alimentation Couche-Tard เป็นอย่างไรบ้าง ?
1
ถ้าเราไปดูผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา (ปิดงบวันที่ 28 เมษายนของทุกปี) จะพบว่า
ปี ค.ศ. 2022
- รายได้ 2,138,520 ล้านบาท
- กำไร 91,350 ล้านบาท
ปี ค.ศ. 2023
- รายได้ 2,446,553 ล้านบาท
- กำไร 105,208 ล้านบาท
ปี ค.ศ. 2024
- รายได้ 2,358,266 ล้านบาท
- กำไร 92,916 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี ค.ศ. 2025
- รายได้ 1,214,900 ล้านบาท
- กำไร 51,037 ล้านบาท
เรียกได้ว่า บริษัทมีอัตรากำไรราว 4% โดยมีรายได้เกือบ 75% มาจากสถานีบริการน้ำมัน
ปัจจุบัน Alimentation Couche-Tard มีมูลค่าบริษัทกว่า 1.7 ล้านล้านบาท
ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า CPALL ถึง 3 เท่า และมากกว่าบริษัท Seven & i Holdings ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ Couche-Tard ดูยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่สมรภูมิการแข่งขัน ก็ยังต้องเจอคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Seven & i Holdings
เพราะเป็นคู่แข่งเบอร์ 1 ในสหรัฐฯ ที่ทำให้บริษัทยังเป็นเบอร์ 2 ในตลาดร้านสะดวกซื้อ
โดยตอนนี้ 7-Eleven ในสหรัฐฯ มีประมาณ​ 13,000 แห่ง
ในขณะที่ Alimentation Couche-Tard มีราว ๆ 7,000 แห่ง
ซึ่งนอกจากจะแย่งชิงลูกค้ากันแล้ว ทั้งคู่ก็ยังลงมาแย่งแข่งกันซื้อกิจการเชนร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ อีกด้วย..
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 2020 ทั้งคู่แข่งกันประมูลคว้าร้านสะดวกซื้อ Speedway กว่า 3,900 แห่งของบริษัทน้ำมัน Marathon Petroleum
สุดท้ายก็เป็น Seven & i Holdings ที่ได้ไปครอง
โดยยอมทุ่มเงินราว 715,400 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อที่มากขึ้นในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา หรือ FTC มองว่าอาจเข้า
ข่ายการผูกขาด จึงบังคับให้ Seven & i Holdings ต้องขายกิจการร้านสะดวกซื้อบางส่วนออกไปแทน
1
ถึงตรงนี้ ก็คงรู้จักแล้วว่า Couche-Tard เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงอยากมาซื้อกิจการ Seven & i Holdings ทั้งหมด จนทำให้อีกฝั่งรีบหาวิธีป้องกันการฮุบกิจการ
ซึ่งฝั่ง Couche-Tard เองก็รู้ว่า Seven & i Holdings
เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวแค่ไหน เมื่อตอนแพ้การประมูลร้าน Speedway ในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา
จึงพยายามรุกหนักที่อยากซื้อกิจการทั้งหมด เหมือนกับกลยุทธ์ที่ทำมานาน ด้วยการไล่ซื้อกิจการของคู่แข่งในแต่ละพื้นที่ไปเรื่อย ๆ
แต่ฝั่ง Seven & i Holdings เองก็ไม่ยอมในเรื่องนี้ง่าย ๆ
จึงกลายเป็นมหากาพย์ ที่ได้มีการไปชวนคนนู้นคนนี้ รวมถึงกลุ่ม C.P. ด้วย มาช่วยระดมทุน ซื้อหุ้นทั้งหมดคืน จะได้ถอดออกจากตลาดหุ้นไปเลย เพื่อปิดประตูถูกฮุบกิจการ..
โฆษณา