ชมพูพิศมร กล้วยไม้ที่สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่

เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัย...รู้จักกล้วยไม้ป่า ความสวยงามที่ควรอยู่คู่ป่าเท่านั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอแนะนำให้รู้จักกับกล้วยไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งนั่น คือ ชมพูพิศมร Spathoglottis hardingiana C.S.P.Parish & Rchb.f.
โดยกล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 80-200 เมตร เป็นกล้วยไม้ดิน มีเหง้าใต้ดิน
ลำลูกกล้วยขนาดเล็ก รูปทรงกลม ตั้งลำต้นขึ้นมาจากปลายลำลูกกล้วย มีกาบสีน้ำตาลหุ้มลำต้น เจริญเป็นใบ 2-3 ใบ แผ่นใบรูปแถบยาว คล้ายใบไผ่ พับจีบ ปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ก้านใบพัฒนาเป็นกาบหุ้มลำต้น
ช่อดอก ออกจากซอกใบ ก้านช่อดอก สีม่วงซีดหรือน้ำตาล มีขนอ่อนนุ่มปกคลุม เรียว ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แกนช่อดอก ยืดขยายออกไป ติดดอกจำนวนมากหลวมๆ ก้านดอกย่อยสีเขียว เรียวยาว มีขนอ่อนนุ่มปกคลุม ดอกบานกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร บานออกจนกลีบโค้งกลับไปด้านหลัง สีชมพูหรือม่วงซีดๆ แต้มสีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีความยาวใกล้เคียงกัน
กลีบเลี้ยงบนรูปรีแคบ ปลายแหลม กลีบเลี้ยงคู่ล่าง กว้างกว่าเล็กน้อย กลีบดอกแคบกว่า ปลายเรียวแหลม กลีบปาก รูปสาม เหลี่ยมแคบ ปลายเรียวแหลม โคนกลีบเชื่อมติดกับโคนเส้าเกสร ส่วนกลางกลีบ มีเนื้อเยื่อสีเหลืองสดก้อนกลมนูน 2 ก้อนติดอยู่ ไม่มีคางดอก
เส้าเกสรสีชมพู เรียวยาวโค้งมาข้างหน้า มีครีบทำให้ดูบวมพองที่ปลาย ฝาปิดเส้าเกสรรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลมยื่น มาข้างหน้า ทำให้เส้าเกสรมีลักษณะคล้ายคอหงส์ พบตามพื้นป่าดิบชื้นเขาหินปูน ใกล้ชายฝั่งทะเล ช่วงเวลาในการออกดอกอยู่ในระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
#ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ #สุราษฎร์ธานี #ชมพูพิศมร #อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี #กระบี่ #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา