เมื่อวาน เวลา 17:26 • ข่าวรอบโลก

5 ปี Brexit ผ่านไป “ตราบาปในใจ” ของคนอังกฤษที่โหวตสนับสนุน

เป็นไปได้หรือไม่ที่ “อังกฤษ” จะกลับเข้าสู่ “สหภาพยุโรป” อีกครั้ง?
ช่วงคืนรอยต่อของวันที่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2020 อังกฤษได้สิ้นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ การตัดสินใจเกี่ยวกับ Brexit “เบร็กซิต” เกิดขึ้นในปี 2016 หลังจากการลงประชามติทั่วประเทศ ประชาชนอังกฤษ 48.1% ลงคะแนนให้คงอยู่ในสหภาพยุโรป และ 51.9% ลงคะแนนให้ถอนตัวจากสหภาพยุโรป
เครดิตภาพ: Reuters
  • การถกเถียงเกี่ยวกับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสหภาพยุโรปครอบงำการเมืองอังกฤษตลอดช่วงทศวรรษ 2010 เหตุผลหลักผู้สนับสนุน Brexit คือกลัวว่าจะเกิดกระแสผู้อพยพที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาบนเกาะอังกฤษและมองโอกาสใหม่ๆ
แถลงการณ์ของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษซึ่งเผยแพร่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ระบุว่า “เสียงของคุณถูกละเลยมานานเกินไปแล้ว เราจะให้คุณมีสิทธิตัดสินใจว่าเราควรอยู่ในสหภาพยุโรปหรือไม่ในการลงประชามติ” คำมั่นสัญญาที่จะจัดให้มีการลงประชามติในประเด็นนี้ได้กลายมาเป็นหนึ่งในวาระหลักของพรรครัฐบาล “เดวิด คาเมรอน” ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรีตอนนั้น [1]
1
คาเมรอนถึงกับกล่าวว่า “ความผิดหวัง” ที่มีต่อสหภาพยุโรปในหมู่ชาวอังกฤษได้ไปถึงจุดสูงสุดแล้ว และเป็นเรื่องผิด “ที่จะขอให้ประชาชนยอมรับข้อตกลงยุโรปที่พวกเขาไม่ได้เลือก” แต่แท้จริงแล้วคาเมรอนเองก็สนับสนุนให้อังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปในช่วงก่อนหน้านั้นคือกลางทศวรรษ 2010 เช่นเดียวกับพวกอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ในสมัยนั้น [2][3]
แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้คาเมรอนเปลี่ยนใจ “อลัน แม็กกินเนส” นักวิจารณ์การเมืองของสกายอธิบายว่า เหตุผลหลักที่พรรครัฐบาลต้องสัญญากับประชาชนว่าจะมีการลงประชามติก็เพราะความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดของพรรคปลดปล่อยแห่งสหราชอาณาจักรของ “ไนเจล ฟาราจ” ซึ่งส่งเสริมแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปในช่วงต้นทศวรรษ 2010 โดยเรียกร้องให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปและลดจำนวนผู้อพยพ วาทกรรมนี้ทำให้ฝ่ายขวาไม่พอใจพรรคของฟาราจ [1]
1
ไนเจล ฟาราจ (ซ้าย) เดวิด คาเมรอน (ขวา) เครดิตภาพ: Getty Images
อย่างไรก็ตามพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษก็ยังสามารถชนะเลือกตั้งทั่วไปมาได้ในปี 2015 คาเมรอนพยายามทำให้แน่ใจว่ากลุ่มที่สนับสนุนการคงอยู่ในสหภาพยุโรปจะมีคะแนนเสียงเหนือกว่าในการลงประชามติเรื่อง Brexit ที่จะถึง และเขาได้เจรจาเงื่อนไขชุดใหม่ในการเป็นสมาชิกกับผู้นำสหภาพยุโรป เขาหวังเพียงว่านี่จะเพียงพอที่จะรักษาสถานะเดิมของฐานเสียงพรรคเขาเอาไว้ได้
แต่แล้ววิกฤตผู้อพยพที่ครอบงำยุโรปในปี 2015 ทำให้ชาวอังกฤษจำนวนมากหวาดกลัวต่อการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ผู้สนับสนุนสหภาพยุโรปจึงลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ด้วยจุดยืนที่เริ่มเปลี่ยนไปกว่าที่คาเมรอนคาดไว้มาก
วาทกรรมของผู้ที่สนับสนุน Brexit นั้นอิงจากข้อเท็จจริงที่ว่าการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะนำไปสู่การเคลื่อนเข้ามาของผู้อพยพที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลในโครงการที่ริเริ่มใช้ทั่วทั้งสหภาพยุโรปเช่น ใช้เพื่อจัดหาเงินทุนให้กับระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ [4]
ผู้สนับสนุน Brexit มีชุดความคิดว่าหากอังกฤษได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการของบรัสเซลส์ ก็จะสามารถควบคุมการใช้จ่าย กฎหมาย และพรมแดนของตนได้อีกครั้ง และอังกฤษก็จะสามารถออกไปสู่โลกกว้างและสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ [นอกสหภาพยุโรป] ได้อีกด้วย [1]
ส่วนผู้ต่อต้าน Brexit ชี้ให้เห็นว่าการออกจากสหภาพยุโรปจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นและเกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก ทำให้การเดินทางไปต่างประเทศมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก และทำให้อิทธิพลของอังกฤษบนเวทีระหว่างประเทศลดน้อยลง ผู้ต่อต้านกล่าวหาว่าพรรครัฐบาลอังกฤษปลุกปั่นให้เกิดความตื่นตระหนก [5]
วันหลังการลงประชามติเรื่อง Brexit คาเมรอนประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ “เทเรซา เมย์” ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาต้องเจรจาเรื่องที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแทน
เครดิตภาพ: AP
  • หลังการลงประชามติ “เมย์” “จอห์นสัน” และกลุ่มก๊วนของพวกเขาถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง เห็นได้ชัดว่าผู้สนับสนุนเบร็กซิทไม่น่าจะรักษาสัญญาได้
เดิมทีกำหนดการณ์วันที่ต้อง Brexit คือ 29 มีนาคม 2019 อย่างไรก็ตามหลังจากการเจรจานาน 2 ปี เมย์ก็ไม่สามารถเสนอแผนการออกจากสหภาพยุโรปที่สภานิติบัญญัติของอังกฤษให้การสนับสนุนได้ นักวิจารณ์มองว่าแผนของเธอเป็นเพียงแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงอังกฤษจะยังคงตกอยู่ในอิทธิพลของสหภาพยุโรปอยู่ แม้จะเป็นอย่างนั้นนักข่าวบางคนก็ยังตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังละทิ้งคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้หลายข้อเกี่ยวกับ Brexit [6]
ปัญหาเร่งด่วนประการหนึ่งคือ “สถานะของไอร์แลนด์เหนือหลัง Brexit” ทางการอังกฤษรับรองการขนถ่ายสินค้าอย่างเสรีทั่วทั้งเกาะไอร์แลนด์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เมื่อมีการนำขั้นตอนพิธีทางศุลกากรมาใช้ระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของอังกฤษ กับ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จึงถือเป็นการหักข้อตกลงก่อนหน้านั้น
เมย์ยังปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้ไอร์แลนด์เหนือเป็นเขตกันชน เนื่องจากจะต้องใช้มาตรการศุลกากรระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษเข้าควบคุมการขนส่งสินค้าระหว่างเกาะหลักอังกฤษกับเกาะไอร์แลนด์ หัวหน้ารัฐบาลของฝ่ายไอร์แลนด์เหนือกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อบูรณภาพทางรัฐธรรมนูญของรัฐทั้งสอง [7]
เรื่องนี้ก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้ไอร์แลนด์เหนือไม่พอใจอังกฤษ ซึ่งจริงแล้วพวกเขาก็มีแนวคิดที่อยากจะขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว ทางเพจได้เคยลงบทความเกี่ยวกับเรื่องของ “ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือ” สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
เมย์สูญเสียความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคของเธอเนื่องจากความล่าช้าของเธอ เมษายน 2019 สหภาพยุโรปขยายเวลาการล่าช้าในการตกลงเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษไปจนถึงเดือนตุลาคม และหนึ่งเดือนต่อมา “เทเรซา เมย์” ก็ลาออก “บอริส จอห์นสัน” เข้ามาแทนที่เมย์ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรี
จอห์นสันประสบความสำเร็จอย่างเป็นทางการ เขาคือคนที่จัดการนำเสนอโครงการ Brexit ที่ผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงกับอังกฤษหลังออกจากสหภาพยุโรปนำมาสู่การเมืองและเศรษฐกิจของอังกฤษ ชาวอังกฤษหลายคนกล่าวว่าแผนของจอห์นสันสร้างผลเสียมากกว่าผลดี [8]
  • ผลประโยชน์จากการออกจากสหภาพยุโรปยังคงไม่ชัดเจน แต่คนอังกฤษต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น การสูญเสียงาน และการขาดแคลนเชื้อเพลิง
ในปีนี้ 2025 กองบรรณาธิการของสื่อ The Independent ระบุว่าข้อกังวลบางประการของผู้สนับสนุนให้อังกฤษกลับเข้าสหภาพยุโรปนั้นไม่มีมูลความจริง หลังจากออกจากสหภาพยุโรปแล้ว อังกฤษไม่ได้พบว่าตนเองโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติ และยังคงโต้ตอบอย่างแข็งขันกับประเทศอื่นๆ เช่น ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือยูเครน และการเจรจาเกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากรในไอร์แลนด์เหนือนั้นแม้จะยากลำบาก แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การกลับมาของความขัดแย้งครั้งใหญ่อีกครั้ง [9]
นักเศรษฐศาสตร์ Julian Jessop ระบุว่าการออกจากสหภาพยุโรปทำให้อังกฤษมีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนของตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษได้ข้อสรุปเดียวกันนี้ ในบรรดาผลดีอื่นๆ ของ Brexit ทางการอังกฤษระบุว่าซัพพลายเออร์ในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากขึ้น มีข้อจำกัดน้อยลงในการค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป และระบบการรายงานที่โปร่งใสมากขึ้นสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก [10]
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่วิเคราะห์ผลที่ตามมาของ Brexit เห็นด้วยว่าการออกจากสหภาพยุโรปส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ ต้นปี 2023 อังกฤษเป็นประเทศ G7 ประเทศเดียวที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ระดับปกติก่อนเกิดโควิคระบาด [11][12]
นักวิจัยจาก Cambridge Econometrics สรุปว่าผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรปทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษสูญเสียเงิน 1.4 แสนล้านปอนด์ พวกเขายังคำนวณด้วยว่าในช่วงต้นปี 2024 จำนวนงานในลอนดอนหลัง Brexit ลดลงเกือบ 300,000 ตำแหน่ง และลดลงประมาณ 2 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศ [13]
นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Economics เห็นด้วย โดยสรุปว่าการสูญเสียโอกาสเฉลี่ยต่อปีของอังกฤษจากการออกจากสหภาพยุโรปอยู่ที่ 1 แสนล้านปอนด์ การลดลงของการส่งออกของอังกฤษหลังจาก Brexit ตามแหล่งข้อมูลต่างๆ มีจำนวนระหว่าง 6% ถึง 30% จากข้อมูลนี้นักเศรษฐศาสตร์ Ana Andrade และ Dan Hanson เรียก Brexit ว่าเป็น “การกระทำที่ทำร้ายตัวเอง” [11]
ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบจาก Brexit เช่นกัน จากการศึกษาวิจัยของ London School of Economics ในปี 2023 พบว่าราคาอาหารและน้ำอัดลมจะลดลง 8% หากอังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดีเรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการสรุปผล เนื่องจากผลที่ตามมาของ Brexit ไม่สามารถแยกออกจากผลกระทบอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด) [11]
เครดิตภาพ: Economic Policy
กฎเกณฑ์การรับผู้อพยพจากสหภาพยุโรปก็ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผู้สนับสนุน Brexit คาดหวังไว้ ในภาคการก่อสร้าง การขนส่ง การค้าส่งและค้าปลีก และการบริการ อังกฤษสูญเสียคนงานจากสหภาพยุโรปไปประมาณ 460,000 คน โดยมีผู้อพยพจากประเทศอื่นเข้ามาทดแทนเพียงประมาณ 130,000 คน [14]
อังกฤษยังเผชิญกับ “วิกฤติน้ำมัน” ไม่ใช่เพราะการขาดอุปทานน้ำมัน แต่เพราะไม่มีใครส่งน้ำมันไปยังปั๊มน้ำมัน นักการเมืองยุโรปหลายคนเชื่อว่าสาเหตุหลักของการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกคือ Brexit คนขับรถบรรทุกชาวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาในอังกฤษด้วยเหตุผลเดียวกันกับย่อหน้าก่อนนี้ [15]
  • หากทำประชามติตอนนี้ ผู้สนับสนุน Brexit คงชนะได้ยากแล้ว แต่เราไม่ควรคาดหวังว่าจะเห็นมันอีกครั้งเร็วนี้
“ผู้ที่เคยโหวตสนับสนุนส่วนใหญ่สรุปว่า Brexit ได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ” John Curtis นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Strathclyde เห็นด้วย “ผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้ออกจากสหภาพยุโรปหลายคนผิดหวังเพราะการอพยพไม่ได้ลดลง”
คนอังกฤษส่วนใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปีต้องการกลับสู่สหภาพยุโรป โดยมีเพียงประมาณ 15% เท่านั้นที่สนับสนุน Brexit ต่อ ในปี 2016 กลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าร่วมการลงประชามติได้เนื่องจากอายุของพวกเขา แต่ตอนนี้คะแนนเสียงของพวกเขาเกือบจะรับประกันชัยชนะให้กับผู้สนับสนุนการรวมตัวกับสหภาพยุโรปได้อย่างแน่นอน [16]
1
จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวิจัย YouGov ซึ่งจัดขึ้นในวันก่อนถึงวันครบรอบ Brexit พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 30% เท่านั้นที่ยังคงเชื่อว่าการตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และผู้ตอบแบบสอบถาม 62% ระบุว่าการออกจากสหภาพยุโรปเป็น “ความล้มเหลว” มากที่สุด ซึ่งรวมถึง 32% ของอดีตผู้ที่เคยสนับสนุนให้มี Brexit [17]
เครดิตภาพ: Shutterstock
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพูดถึงการลงประชามติเรื่อง Brexit ซ้ำ แม้กระทั่งก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงฤดูร้อนปี 2024 “เคียร์ สตาร์เมอร์” หัวหน้าพรรคแรงงานก็ให้คำมั่นว่าอังกฤษจะไม่กลับเข้าสู่สหภาพยุโรป “ในช่วงชีวิตของเขา” “ผมชัดเจนมากแล้วว่าจะไม่กลับเข้าสู่สหภาพยุโรป เพื่อร่วมตลาดเดียว สหภาพศุลกากร และเสรีภาพในการเดินทางอพยพ [ระหว่างประเทศ]” สตาร์เมอร์กล่าวเสริม [18]
จริงอยู่ที่ว่าหลังจากเข้ามาเป็นนายกอังกฤษ สตาร์เมอร์กล่าวในการสนทนากับ “โอลาฟ โชลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีว่าเขาต้องการ “รีเซต” ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปดีขึ้น ได้แก่ การบุกยูเครนของรัสเซีย ความพยายามของจีนในการเพิ่มอิทธิพลทางการค้าในยุโรป และการใช้ถ้อยคำก้าวร้าวของโดนัลด์ ทรัมป์ [19][20]
ชาวอังกฤษ 51% อยากให้มีการลงประชามติใหม่เกี่ยวกับการกลับสู่สหภาพยุโรปภายใน 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามรัฐบาลของสตาร์เมอร์น่าจะไม่จัดในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลให้พรรคปฏิรูปได้รับความนิยมมากขึ้น ไนเจล ฟาราจ ผู้นำพรรคและหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของเบร็กซิต จะใช้ความพยายามในการย้อนกลับเข้าสหภาพยุโรปเพื่อรวบรวมผู้ที่ไม่พอใจเป็นฐานเสียง [21]
เครดิตภาพ: Getty Images
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ สตาร์เมอร์ไม่น่าจะเสี่ยงเช่นนั้น (เปิดให้ทำประชามติอีกรอบ) แต่กลับกันเขาน่าจะพยายามเจรจาเงื่อนไขการค้าที่ไม่เอื้ออำนวยต่ออังกฤษใหม่ และฟื้นฟูความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป ในขณะที่ยังคงสถานะการ Brexit ไว้อยู่
เรียบเรียงโดย Right Style
4th Feb 2025
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: The Mirror / Getty Images>
โฆษณา