4 ก.พ. เวลา 00:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ใบ 50 ทวิ ถ้าสรรพากรขอเอกสาร แล้วเราไม่มีให้ ยอดรายได้นำมาคิด แต่ภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่นำมาคิด

“ใบ 50 ทวิ” มาจาก หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เรียกสั้นๆ ว่า หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารที่จะได้รับจากผู้จ่ายเงินได้ อาจเป็นนายจ้าง หรือผู้ว่าจ้าง โดยเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ใครเป็นผู้จ่ายเงิน ใครเป็นผู้รับเงิน เงินเท่าไหร่ จ่ายให้เมื่อใด หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เท่าใด
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อาจได้รับในรูปแบบกระดาษ หรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานว่า มีการจ่ายเงิน รับเงินจริง และเงินดังกล่าว การหักภาษี ณ ที่จ่าย และได้นำส่งให้กับกรมสรรพากรแล้ว ไว้เป็นหลักฐานเพื่อยื่นภาษีประจำปีกับสรรพากร
ซึ่งใบ 50 ทวินี้จะได้รับเมื่อไหร่ จะแบ่งเป็น 2 แบบ
ถ้าเป็นพนักงานเงินเดือน: นายจ้างจะต้องออกให้ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดจากปีที่รับเงิน เพื่อจะได้ไว้ยื่นภาษี
ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ ผู้ว่าจ้างต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน
สำคัญ!! ควรเก็บให้ดีนะ เพราะถ้าไม่มีเอกสารยื่นให้สรรพากรเมื่อสรรพากรขอ จะไม่สามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้แล้ว มาหักจากภาษีที่ต้องเสีย แต่รายได้จะถูกนำมารวมนะ
การหักภาษี ณ ที่จ่าย เหมือนเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าได้เสียภาษีครบแล้ว เพราะภาษีที่ถูกหักไป อาจมากหรือน้อยกว่าภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย ซึ่งจะต้องไปภาษีที่ต้องเสียในการยื่นภาษีประจำปี ไม่ได้หมายความว่า หักแล้วจบนะ จะหักแล้วเลือกจบได้จะเป็นรายได้บางลักษณะ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ซึ่งเป็นรายได้ 40(4)
ส่วนเรื่องประเภทเงินได้ เราต้องพอทราบรายได้ของเราเป็นประเภทใดด้วย เพราะอาจคาดเคลื่อนได้ หรือลงเป็น อื่นๆ (ข้อ 6) ในใบได้
ตัวเลขข้อจะเห็นว่า ข้อ 1 รายได้ 40(1) เงินเดือน , ข้อ 2 รายได้ 40(2) ค่าจ้างงาน, ข้อ 3 รายได้ 40(3)ค่าลิขสิทธ์, ข้อ 4 รายได้ 40(4)เงินปันผล ถ้าระบุในข้อ 1-4 มักจะเป็นรายได้ตามนั้น ซึ่งผู้ที่ออกจะระบุมาให้ แต่ไม่ใช่สำหรับข้อ 5 และ 6 ถ้าระบุมาเป็นข้อ 5 และ 6 เราจะต้องพอรู้และแยกเองว่า จะเป็นรายได้วงเล็บไหน
วันที่ที่ระบุในใบคือวันที่ได้รับเงิน และระบุเป็นปีไหน ก็ยื่นภาษีของปีนั้น ปีภาษี คือ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ ซึ่งจะยื่นภาษีตอนต้นปีถัดไป เช่น ปีภาษี 67 คือ 1 ม.ค. 67- 31 ธ.ค. 67 รายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงนี้ นำมายื่นภาษีประจำปี ภายในต้นเดือน เมษา 68
ซึ่งเราจะได้รับเอกสารจำนวน 2 ฉบับที่เหมือนกัน โดยฉบับที่ 1 “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษี” และฉบับที่ 2 “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน” ซึ่งข้อความนี้จะมีเขียนไว้ตรงมุมบนซ้ายสุดของใบ
เมื่อได้มาแล้วก็ตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดต่างๆ ของใบที่ได้รับ และดูว่าทั้ง 2 ใบมีรายละเอียดตรงกันด้วยนะ
และควรเก็บหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ 5 ปีนับจากวันที่ยื่นภาษีด้วยนะ เผื่อต้องใช้เป็นหลักฐาน ให้สรรพากรเมื่อถูกเรียกตรวจเพิ่มเติม
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #ภาษี #ยื่นภาษี #หนังสือรับรองการหักภาษีณที่จ่าย #หนังสือรับรองการหักภาษี #ใบรับรองการหักภาษี #ใบ50ทวิ
โฆษณา