4 ก.พ. เวลา 04:28 • ไอที & แก็ดเจ็ต

Data Privacy Day 2025: ฝ่าคลื่นความท้าทายครั้งใหม่ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา เป็นวัน "Data Privacy Day" (วันความเป็นส่วนตัวของข้อมูล) ซึ่งมีที่มาจากวันที่เริ่มมีการลงนามในอนุสัญญา Convention 108 เพื่อการรับรองสิทธิความเป็นส่วนตัวให้เป็นสิทธิตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 1981
ซึ่งการกำหนดให้มีวันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมเรื่อง "ความเป็นส่วนตัว" (Privacy) และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดใน "การคุ้มครองข้อมูล" ( Data Protection Best Practices) โดยในปีนี้มีการกำหนดธีม “Riding the Waves of New Data Protection Challenge” หรือ “ฝ่าคลื่นความท้าทายครั้งใหม่ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”
ความท้าทายของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตั้งแต่ปี 2565 พร้อมด้วยกฎหมายรองที่เพิ่มสิทธิให้แก่เจ้าของข้อมูล (Data Subject) ในการปกป้องข้อมูลของตนเอง และกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับองค์กรที่เก็บข้อมูลลูกค้า กฎหมายนี้ยังระบุโทษทางแพ่ง อาญา และทางปกครองสำหรับองค์กรที่ปล่อยให้ข้อมูลลูกค้ารั่วไหล
องค์กรที่ทำหน้าที่เป็น ผู้ควบคุมข้อมูล (Data Controller) และ ผู้ประมวลผลข้อมูล (Data Processor) จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งในด้านการจัดการฐานข้อมูล การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า และการปกป้องชื่อเสียงขององค์กร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายทางกฎหมายและการสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่องค์กรในประเทศไทยเผชิญอยู่ เช่น
1) บริษัทไอทีแห่งหนึ่งประสบปัญหาข้อมูลลูกค้ารั่วไหล หลังอดีตพนักงานนำข้อมูลออกไปเผยแพร่สู่ภายนอก
2) ข้อมูลถูกขายบน Dark Web มีรายงานข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่นำข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการเงิน และข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ออกมาขายบน Dark Web
3) การละเมิด PDPA สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) สั่งปรับบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่แห่งหนึ่งจำนวน 7 ล้านบาท หลังข้อมูลลูกค้าจำนวนมากรั่วไหล
เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและผู้ใช้บริการในหลายมิติ เช่น การเสริมสร้างความปลอดภัยของข้อมูลภายในองค์กร การปฏิบัติตามแนวทางที่ดีที่สุด (Best Practices) อย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย PDPA และการผสานแนวทาง PDPA เข้ากับเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อยกระดับการปกป้องข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
วันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ควรมีแค่วันเดียว
วันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้อง “ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล” แต่ความพยายามนี้ไม่ควรหยุดอยู่แค่วันเดียว องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
หากองค์กรละเลยหรือไม่ใส่ใจ อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญได้ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมสร้างความไว้วางใจจากลูกค้า ผู้ใช้บริการ และพนักงานในองค์กรได้อย่างยั่งยืน
แนวทางสำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
1. การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ:
- จัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) ที่ชัดเจน โดยระบุวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- สร้างแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บรวบรวม การจัดเก็บ การใช้งาน การส่งต่อ และการลบข้อมูล
2. การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูล (DPO):
- ดำเนินการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer: DPO) เพื่อดูแลให้กระบวนการต่าง ๆ ขององค์กรสอดคล้องกับข้อกำหนดของ PDPA โดยเจ้าหน้าที่ DPO ควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล
3. การสร้างความตระหนักรู้ในองค์กร:
- จัดการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA และแนวทางการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับกฎหมาย
- ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
4. การขอความยินยอม (Consent):
- จัดทำกระบวนการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลให้ชัดเจน โปร่งใส และง่ายต่อการเข้าใจ
- ให้สิทธิแก่เจ้าของข้อมูลในการเพิกถอนความยินยอมได้ตลอดเวลา
5.การจัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างปลอดภัย:
- จำแนกและจัดหมวดหมู่ข้อมูลส่วนบุคคล (เช่น ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลอ่อนไหว) เพื่อกำหนดวิธีการป้องกันที่เหมาะสม
- ดำเนินการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) หรือใช้ระบบความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
- ใช้มาตรการควบคุมการเข้าถึงข้อมูล (Access Control) เพื่อลดความเสี่ยงจากบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต
6. การจัดการข้อมูลเมื่อมีการละเมิด (Data Breach):
- จัดทำแผนการตอบสนองเมื่อเกิดเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล (Incident Response Plan)
- แจ้งเหตุการณ์ละเมิดต่อเจ้าของข้อมูลและสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายในระยะเวลาที่กำหนด
7. การตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการ:
- ดำเนินการตรวจสอบ (Audit) การจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าปฏิบัติตามกฎหมายและลดความเสี่ยง
- ปรับปรุงกระบวนการและมาตรการป้องกันให้ทันสมัยตามความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
8. การทำข้อตกลงกับบุคคลภายนอก (Third Parties):
- จัดทำข้อตกลงการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processing Agreement) กับพาร์ทเนอร์ หรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ประมวลผลข้อมูลปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสม
9.การบริหารจัดการสิทธิของเจ้าของข้อมูล:
- ให้สิทธิแก่เจ้าของข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการแก้ไขข้อมูล และสิทธิในการลบข้อมูล
10. การจัดทำเอกสารและหลักฐาน:
- จัดเก็บบันทึกกิจกรรมการประมวลผลข้อมูล (Record of Processing Activities) ตามข้อกำหนดของกฎหมาย
- เตรียมเอกสารที่แสดงให้องค์กรสามารถพิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติตามกฎหมายอย่างครบถ้วน
การฝ่าคลื่นความท้าทายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในปี 2025 ทั้งความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎระเบียบ และการพัฒนารูปแบบการฉวยโอกาสจากอาชญากรทางไซเบอร์ องค์กรควรกำหนดทิศทางนโยบายตามแนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และปฎิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างองค์กรให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ
นึกถึงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไว้ใจ BAYCOMS
Your Trusted Cybersecurity Partner
ติดต่อสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่ :
Bay Computing Public Co., Ltd
Tel: 02-115-9956
#BAYCOMS #YourTrustedCybersecurityPartner #Cybersecurity
โฆษณา