4 ก.พ. เวลา 12:24 • ประวัติศาสตร์

วังวนความขัดแย้งอันนำไปสู่จุดจบของ “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)”

เชื่อว่าหลายคนนั้นเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” วงดนตรีระดับตำนานในยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) ซึ่งยังโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดไม่ทัน (รวมผมด้วยคนนึง) ก็ชื่นชอบวงดนตรีวงนี้
เดอะบีทเทิลส์ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสี่คน นั่นคือ “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” “พอล แมคคาร์ทนีย์ (Paul McCartney)” “จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison)” และ “ริงโก สตาร์ (Ringo Starr)”
เรื่องราวของเดอะบีทเทิลส์มีหลายแง่มุมให้ศึกษา ไม่เพียงแค่ในแง่ของดนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหาร การทำธุรกิจ มีการพยายามศึกษาว่าความสำเร็จระดับโลกและระดับตำนานของเดอะบีทเทิลส์นั้นเกิดจากอะไร เหตุใดเด็กหนุ่มธรรมดาๆ สี่คนจากลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ จึงก้าวขึ้นมาอยู่จุดสูงสุดของโลกได้ขนาดนี้
เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)
และคำถามหนึ่งที่หลายคนมักนำขึ้นมาพูดและถกเถียงก็คือ
“เดอะบีทเทิลส์วงแตกเพราะอะไรกันแน่?”
ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เดอะบีทเทิลส์ต้องจบลงมากที่สุดก็คือ “โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)” ภรรยาของ ”จอห์น เลนนอน (John Lennon)” หนึ่งในสมาชิกของเดอะบีทเทิลส์
หากแต่ในความเป็นจริง โยโกะไม่ได้ทำให้วงแตก หากแต่เดอะบีทเทิลส์นั้นมีปัญหาภายในมานานมากแล้ว มีสัญญาณแห่งการแยกทางมานานแล้ว โยโกะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)
ในปีค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) ได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของเดอะบีทเทิลส์
“ไบรอัน เอ็ปสไตน์ (Brian Epstein)” ผู้จัดการวงและเป็นผู้ปลุกปั้นเดอะบีทเทิลส์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนวงโด่งดัง ได้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด
ไบรอันมีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น และการจากไปของเขาก็ส่งผลกระทบต่อตัวเดอะบีทเทิลส์และสมาชิกแต่ละคนในวงอย่างใหญ่หลวง
ไบรอัน เอ็ปสไตน์ (Brian Epstein)
เมื่อปราศจากไบรอัน อนาคตของเดอะบีทเทิลส์ก็เริ่มจะไม่แน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าไบรอันจะไม่ได้เป็นสมาชิกของวง แต่ไบรอันก็คือผู้จัดการคนสำคัญ จะเรียกว่าเป็น “เดอะแบก” ของวงก็ว่าได้ เป็นผู้ที่มองเห็นศักยภาพของเด็กหนุ่มทั้งสี่และปลุกปั้นจากไม่มีอะไรเลยจนกลายมาเป็นวงดนตรีระดับโลก
ช่วงที่ไบรอันเสียชีวิต เดอะบีทเทิลส์เพิ่งออกอัลบั้มที่หลายคนยกให้เป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเดอะบีทเทิลส์ นั่นคือ “Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band”
Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band เป็นผลงานชิ้นเอกของเดอะบีทเทิลส์ หากแต่ก็เป็นการบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในวงเดอะบีทเทิลส์ เมื่อ “พอล แมคคาร์ทนีย์ (Paul McCartney)” นักร้องนำของเดอะบีทเทิลส์ เริ่มเข้ามาควบคุมและเป็นเหมือนผู้นำของวง
Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band
ทั้งคอนเซ็ปท์อัลบั้มก็ล้วนมาจากไอเดียของพอล และในเวลานั้น อาจจะเรียกว่าเป็นช่วงขาขึ้นในแง่ดนตรีของพอล ในขณะที่ “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” นักร้องนำของเดอะบีทเทิลส์คู่กับพอล เริ่มจะถดถอย ความครีเอททางดนตรีเริ่มลดน้อยลง
ทางด้าน “จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison)” สมาชิกอีกคนของวง ก็หันไปสนใจดนตรีตะวันออก ทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าพอล ซึ่งมีทิศทางที่ชัดเจนว่าดนตรีของเดอะบีทเทิลส์ควรจะเป็นไปในทิศทางใด
หลังจากการเสียชีวิตของไบรอัน เดอะบีทเทิลส์ต่างเศร้าเสียใจ และเพื่อลืมความเศร้า พอลก็ทุ่มพลังไปกับการทำงาน เกิดโปรเจคท์ต่างๆ ตามมา เช่น “Magical Mystery Tour” ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์แอนิเมชั่นอย่าง “Yellow Submarine” ซึ่งเดอะบีทเทิลส์แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนอกจากทำเพลงประกอบเท่านั้น
จอห์น เลนนอน (John Lennon)
โครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความวุ่นวายก่อนอัลบั้ม “White Album” ในปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511)
แต่ถึงแม้ว่าจะมีความวุ่นวายและความไม่แน่นอนต่างๆ แต่เดอะบีทเทิลส์ก็ยังคงไปต่อได้ภายใต้การนำของพอล
และในปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) โครงการที่ทะเยอทะยานที่สุดของเดอะบีทเทิลส์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ “Apple Corps” ซึ่งจะนำพาไปสู่ความยุ่งยากวุ่นวายในเวลาต่อมา แม้แต่วงแตกไปแล้ว Apple Corps ก็ยังเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนสมาชิกแต่ละคน
เดอะบีทเทิลส์ก่อตั้งบริษัท “Apple Corps” ซึ่งเป็นบริษัทบันเทิงที่ทำหน้าที่ดูแลและบริหารเดอะบีทเทิลส์ รวมทั้งเข้าไปลงทุนในงานบันเทิงต่างๆ
อาจจะฟังดูดี แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าสมาชิกทั้งสี่ ทั้งจอห์น พอล จอร์จ และริงโก จะเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จระดับโลก แต่ในด้านธุรกิจ ทั้งสี่คนเป็นเหมือนเด็กแบเบาะที่ยังไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยบริหารเองมาก่อน แผนการธุรกิจนั้นจึงล้วนแต่ไม่ค่อยเวิร์ค
จอห์นเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ Apple Corps ว่า
“ฝ่ายบัญชีของเราบอกกับเราว่า ”เรามีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง คุณอยากจะให้เงินเหล่านี้แก่รัฐบาลหรือจะจัดการอะไรซักอย่างล่ะ?“ ดังนั้น พวกเราเลยลองเล่นเป็นนักธุรกิจดู Apple จะทำหลายอย่าง ทั้งแผ่นเสียง ภาพยนตร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งหมดนี้จะรวมอยู่ด้วยกัน“
เดอะบีทเทิลส์ตั้งใจจะให้ Apple Corps เป็นตัวปฏิรูปวงการดนตรี โดยจะมองหาศิลปินที่มีความสามารถแต่ถูกมองข้าม และให้โอกาสในการปล่อยของ แสดงความสามารถให้ทุกคนเห็น
แต่เมื่อบริหารกันเองสี่คนปราศจากมันสมองอย่างไบรอัน ก็เรียกได้ว่า Apple Corps นั้นเป็นหายนะมาตั้งแต่ต้น โครงสร้างการบริหารที่แทบจะไม่มีหลักการอะไรเลยได้นำไปสู่ปัญหาทางการเงินและกระทบไปถึงสมาชิกแต่ละคน ในขณะที่สมาชิกเดอะบีทเทิลส์แต่ละคนก็หันไปโฟกัสยังสิ่งที่แต่ละคนสนใจ
พอลนั้นโฟกัสไปกับการสร้าง “Apple Records” ซึ่งเป็นบริษัทแผ่นเสียง และสนุกสนานกับการเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่มาปลุกปั้น
จอห์นนั้นโฟกัสกับโครงการเพลงต่างๆ ของตน รวมถึงการออกงานเพลงคู่กับ “โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)” อย่าง “Unfinished Music No. 1: Two Virgins” ซึ่งเป็นอัลบั้มทดลองชุดแรก
พอล แมคคาร์ทนีย์ (Paul McCartney)
ทางด้านจอร์จนั้นก็ไปมุ่งกับงานดนตรีตะวันออกและออกอัลบั้มเดี่ยวของตน
ส่วนริงโกก็เริ่มหันเหความสนใจไปกับการแสดงภาพยนตร์
นอกจากธุรกิจบันเทิง Apple Corps ยังลงเงินไปกับการสร้างธุรกิจไฟฟ้า และมีการจ้างบุคลากรค่าตัวแพงมาบริหาร ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว ทำให้สูญเงินยิ่งกว่าเดิม
ด้วยปัญหาสารพัดดังที่กล่าวมา ทำให้ Apple Corps เริ่มจะหลุดโลก ควบคุมไม่ได้แล้ว มีแต่ถลุงเงินไปเรื่อยๆ สมาชิกแต่ละคนก็เริ่มจะมีปัญหากัน
เห็นได้ชัดว่าเดอะบีทเทิลส์ต้องการการบริหารแบบมืออาชีพโดยด่วน ต้องการคนที่มีประสบการณ์เข้ามาบริหารเงินและจัดการอนาคตของวง
ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เดอะบีทเทิลส์ยังคงเป็นวงดนตรีอันดับต้นๆ ของโลก ยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการดนตรีที่แทบจะหาใครมาเทียบรัศมีได้ยาก
แต่ภายในนั้น เดอะบีทเทิลส์คือวงดนตรีที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย สมาชิกต่างมีอีโก้และขัดแย้งกันเอง และการบริหารจัดการที่ผิดพลาดก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ ของวงไปไม่รอด
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกแต่ละคนก็เริ่มถดถอยเนื่องจากปัญหาต่างๆ ข้างต้น รวมทั้งการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางดนตรี
ในช่วงเวลาแห่งความอลหม่านนี้เอง “อัลเลน ไคลน์ (Allen Klein)” นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มองเห็นโอกาส ก็อาสาเข้ามาช่วยเหลือเดอะบีทเทิลส์
อัลเลน ไคลน์ (Allen Klein)
ไคลน์นั้นเล็งเดอะบีทเทิลส์มานานแล้ว และเมื่อโอกาสที่จะได้บริหารเดอะบีทเทิลส์มาถึง ไคลน์ก็ไม่ยอมพลาดโอกาสทองนี้
ที่ผ่านมา ไคลน์นั้นเคยมีปัญหากับวงดนตรีดังอีกวงหนึ่งอย่าง “เดอะโรลลิงสโตนส์ (The Rolling Stones)”และ “มิค แจ็กเกอร์ (Mick Jagger)” นักร้องนำของเดอะโรลลิงสโตนส์ ก็ได้เตือนเดอะบีทเทิลส์ให้อยู่ห่างๆ จากไคลน์
ถึงแม้ว่าแจ็กเกอร์จะหวังดี แต่จอห์นกับสมาชิกคนอื่นๆ ต่างเบื่อหน่ายความเจ้ากี้เจ้าการ พยายามจะเป็นผู้นำของพอล ทำให้ทั้งจอห์น จอร์จ และริงโก ไม่สนใจคำเตือน และยืนยันให้ไคลน์เข้ามาบริหารเดอะบีทเทิลส์
มิค แจ็กเกอร์ (Mick Jagger)
จอห์นยังรู้สึกสนใจแนวทางการบริหารของไคลน์ โดยไคลน์รับปากว่าจะช่วยแก้ปัญหาทางการเงินของวง รวมทั้งจัดการกับสัญญาต่างๆ ช่วยให้เดอะบีทเทิลส์ได้ดีลที่ดี และทำให้งบการเงินของเดอะบีทเทิลส์ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่พอลนั้นไม่ชอบและไม่เห็นด้วยที่จะรับไคลน์เข้ามาตั้งแต่ต้น และได้หมายตาคนที่ตนอยากจะให้เข้ามาบริหารไว้แล้ว ซึ่งคนๆ นั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ “ลี อีสต์แมน (Lee Eastman)” พ่อตาของตน
อีสต์แมนนั้นเป็นทนายความด้านธุรกิจบันเทิงที่มีฝีมือ และพอลก็มองว่าพ่อตาของตนนี่แหละที่จะมาช่วยปกป้องผลประโยชน์ของเดอะบีทเทิลส์
แต่จอห์นนั้นเบื่อหน่ายกับพอลเต็มที และมองว่าไคลน์คือคนที่จะเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับพอล เอาไคลน์เข้ามาข่มพอล และจอร์จกับริงโก ซึ่งต่างก็เบื่อหน่ายกับความเจ้ากี้เจ้าการของพอล ก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับจอห์น
ลี อีสต์แมน (Lee Eastman)
ต้นปีค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เดอะบีทเทิลส์ได้ตกลงว่าจ้างให้ไคลน์เป็นผู้จัดการวง ซึ่งในการณ์นี้ มีพอลเพียงคนเดียวที่ไม่เห็นด้วยและปฏิเสธที่จะลงนามในสัญญาบริหาร ทำให้พอลถูกเคว้งอยู่คนเดียว
การว่าจ้างไคลน์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งซึ่งนำไปสู่จุดจบของเดอะบีทเทิลส์
เมื่อเข้ามาเป็นผู้จัดการวง ไคลน์ก็เริ่มเจรจาสัญญากับบริษัทแผ่นเสียงทันที ท่ามกลางความไม่พอใจและไม่วางใจของพอล
หน้ากล้องนั้น พอลคือเดอะบีทเทิลส์ที่น่ารัก มีเสน่ห์ มองโลกในแง่ดี แต่หลังกล้องนั้น พอลนั้นมักจะเจ้ากี้เจ้าการ ควบคุมและบงการ และมักจะมีปัญหากับจอห์นที่ความคิดไม่ค่อยตรงกับพอล
ความสัมพันธ์ของสมาชิกทั้งสี่นั้นซับซ้อน ทั้งรักทั้งเกลียด และถึงแม้ว่าพอลจะเป็นเหมือนผู้นำแบบไม่เป็นทางการของเดอะบีทเทิลส์ในช่วงหลัง แต่พอลก็ยังคงมองว่าจอห์นนั้นเป็นผู้นำตัวจริงของวง ส่วนจอห์นก็มองว่าตนและพอลคือเดอะแบกของเดอะบีทเทิลส์
แต่มิตรภาพและการเป็นคู่หูทางดนตรีของจอห์นและพอลก็มีรอยร้าวที่นับวันมีแต่จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) จอห์นก็ได้ทิ้งระเบิดลูกโต นั่นคือการที่จอห์นบอกแก่สมาชิกทุกคนในที่ประชุมว่าตนกำลังจะออกจากเดอะบีทเทิลส์
ไคลน์นั้นขอให้จอห์นเก็บเรื่องนี้เป็นความลับไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำสัญญาธุรกิจต่างๆ ของวง ซึ่งจอห์นก็ยอมตกลง
แต่ในเดือนเมษายน ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ในงานแถลงข่าวอัลบั้มเดี่ยวของพอล พอลได้ประกาศว่าตนกำลังออกจากเดอะบีทเทิลส์ และไม่มีแผนที่จะทำเพลงร่วมกับเดอะบีทเทิลส์
จอห์นนั้นโมโหพอลอย่างมาก โดยกล่าวว่าการกระทำของพอลนั้นเป็นการตัดหน้าตน และที่พอลทำอย่างนี้ก็แค่เพื่อจะโปรโมทอัลบั้มเดี่ยวของตนเท่านั้น
ความห่างเหินและขัดแย้งของคนทั้งคู่นับวันมีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่คดีความที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในเวลาต่อมา
31 ธันวาคม ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) พอลได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูงลอนดอน ขอให้ตัดสินให้ยกเลิกเดอะบีทเทิลส์ ปิดกิจการ Apple Corps และแต่งตั้งบุคคลภายนอกให้เข้ามาบริหารธุรกิจของวง
สำหรับพอล ไคลน์คือคนที่พาเดอะบีทเทิลส์ไปผิดทิศผิดทาง และการยื่นฟ้องของพอลก็เพื่อต้องการอิสรภาพและให้เดอะบีทเทิลส์สิ้นสุด
ทีมกฎหมายของพอลกล่าวหาว่าไคลน์นั้นโก่งค่าตอบแทนเกินความเป็นจริง และโจมตีในข้อที่ว่าไคลน์นั้นเคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงภาษี
แต่ไคลน์และสมาชิกเดอะบีทเทิลส์คนอื่นๆ ก็โต้กลับว่าการแต่งตั้งไคลน์เป็นผู้จัดการวงนั้นถูกต้องตามกฎหมาย หากแต่เครดิตและภาพลักษณ์ของไคลน์ก็ป่นปี้หมดแล้ว
ในที่สุด วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) ศาลก็ตัดสินให้สมาชิกภาพของเดอะบีทเทิลส์สิ้นสุดลง
การตัดสินของศาลนั้นไม่นับว่าเกินความคาดหมาย เนื่องจากสมาชิกเดอะบีทเทิลส์ต่างก็ไม่ได้ทำงานด้วยกันอีกแล้ว เพียงแค่แบ่งปันผลกำไรจากงานเดี่ยวที่ออกภายใต้ Apple Records เท่านั้น และศาลก็ตัดสินให้บุคคลภายนอกเข้ามาบริหารงบการเงินของเดอะบีทเทิลส์
จอห์น จอร์จ และริงโกได้ยื่นอุทธรณ์ แต่สุดท้าย สมาชิกภาพของเดอะบีทเทิลส์ก็ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปีค.ศ.1975 (พ.ศ.2518)
จะเห็นได้ว่าจุดจบของเดอะบีทเทิลส์นั้นยุ่งยาก วุ่นวาย และน่าเจ็บปวด
และถึงแม้ว่าสาเหตุที่วงดนตรีระดับตำนานนี้ต้องจบลงจะมาจากหลายสาเหตุ แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่าความขัดแย้งและสัญญาณแห่งการแยกทางนั้นมีมาก่อนที่โยโกะจะเข้ามาแล้ว จะโทษโยโกะเพียงคนเดียว ก็อาจจะไม่ยุติธรรมเท่าไร
เดอะบีทเทิลส์เกิดขึ้นจากเด็กหนุ่มไฟแรงกลุ่มหนึ่งในปีค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) หากแต่เมื่อเติบโตขึ้น จากเด็กหนุ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ความสัมพันธ์ มุมมองต่างๆ ของแต่ละคนก็เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของหลายๆ คนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
คุณอาจจะมีเพื่อนสนิทตั้งแต่อายุ 15-16 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณเข้าสู่วัย 20 ปีปลายๆ เกือบๆ 30 ปี และมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าความสัมพันธ์นั้น มิตรภาพนั้นจะยังเหมือนเดิมหรือไม่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเดอะบีทเทิลส์คือวงดนตรีระดับตำนานที่ทรงอิทธิพล ยากจะหาผู้ใดเทียบ และยังคงเป็นที่กล่าวขานจนถึงทุกวันนี้
โฆษณา