4 ก.พ. เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดสาเหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้น

KKP เปิดสาเหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นตัว พร้อมคาดการณ์ปี 2025 โตเพียง 2% หากภาคอุตสาหกรรมไม่ฟื้น
เปิดสาเหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้น
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมากลับยังคงเติบโตได้ไม่ดีนัก และโตต่ำกว่าศักยภาพเดิมที่ 3% KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตที่ต่ำของปี 2024 นี้ ไม่เพียงเกิดจากปัจจัยลบที่มากดดัน แต่เกิดจากปัจจัยบวกไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับที่คาดหวัง
3 ปัจจัยบวก แรงส่งน้อยกว่าคาด - แจกเงินแต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น ?
ในช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2024 รัฐบาลดำเนินมาตรการ Digital Wallet แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มปราะบาง คิดเป็นมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของ GDP แต่การเพิ่มขึ้นของการบริโภคในไตรมาสสี่ของปีในภาพรวม มีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับการบริโภคในช่วงสามไตรมาสแรก
ซึ่งหมายถึงการแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไทยเลย ผลทางเศรษฐกิจของมาตรการสอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจจากการแจกเงินในภาวะเศรษฐกิจปกติจะอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินว่าจำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป โดยมี 3 สาเหตุสำคัญ
1.เงินที่ได้รับไปไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ
ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติพบว่าคนสัดส่วนประมาณ 12.8% นำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อชำระหนี้ นอกจากนี้การใช้จ่ายในสินค้าส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายไปกับสินค้าจำเป็นที่มีการใช้จ่ายเดิมอยู่แล้ว จากผลสำรวจพบว่าการใช้จ่ายในการแจกเงินกระจุกตัวอยู่ใน อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน และการชำระค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้บางส่วนอาจเก็บเงินที่ได้รับเป็นเงินออม
2.การใช้จ่ายส่วนหนึ่งอาจเป็นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ
ช่องทางที่มีการนำไปใช้จ่ายมากที่สุด คือ ร้านค้าในชุมชน และหาบเร่แผงลอยเป็นหลัก ทำให้การวัดผลของนโยบายต่อเศรษฐกิจทำได้ยากข้อมูลจาก World Bank ชี้ไทยมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ถึงประมาณ 45% ของ GDP เป็นลำดับที่ 8 ของโลก
3.ปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังอยู่ในทิศทางขาลงไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค
โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน KKP Research ประเมินว่าทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจาก สินเชื่อภาคธนาคารหดตัว รายได้ของครัวเรือนยังคงอ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยัง
ประเด็นที่กล่าวมาอาจอธิบายว่าเหตุใดการฟื้นตัวของการบริโภคยังคงอ่อนแอแม้จะมีมาตรการแจกเงินเพิ่มเติม ผลลัพธ์จากมาตรการแจกเงินในช่วงปลายปีแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการนี้อาจเป็นทางเลือกนโยบายที่ได้ผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มกับต้นทุนทางการคลังที่เกิดขึ้น และเกิดคำถามว่างบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2025 ควรปรับรูปแบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจได้หรือไม่
KKP คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2025 โดยจะขยายตัวได้ที่ 2.3% ชะลอลงจาก 4.2% ในปี 2024 โดยเฉพาะกลุ่มการบริโภคสินค้าคงทนที่จะยังหดตัวลงต่อไป
ส่งออกโตดีมากแต่ภาคการผลิตในประเทศกลับไม่ดีขึ้น ?
KKP Research ประเมินไว้ว่าการส่งออกไทยอยู่ในช่วงขาลงจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่แย่ลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามในปี 2024 การส่งออกสินค้าของไทยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์กลับเติบโตได้มากถึง 5.4%สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 2% - 3%
ในอีกทางหนึ่งเมื่อพิจารณาดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยกลับพบว่าที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในทิศทางหดตัวต่อเนื่อง คำถามคือเหตุใดการส่งออกไทยจึงโตได้ดีมากในขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจกลับดูลดลงอย่างชัดเจน
1.การส่งออกของไทยบางส่วนเกิดจากการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ
ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ และจีนทำให้จีนจำเป็นต้องส่งสินค้าผ่านประเทศอื่นเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ ทำให้ไม่มีกิจกรรมการผลิตเกิดขึ้นในไทย ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มนี้ คือ Solar Panel และ Wifi Router
2.การนำเข้าในปี 2024 เร่งตัวขึ้นแรง
แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะอ่อนแอ KKP Research ประเมินว่าแม้หักการนำเข้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Rerouting ไปแล้วแต่การนำเข้าก็ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี เป็นผลมาจาก การพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนทดแทนการบริโภค และการย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเลคทรอนิกส์จากไต้หวัน
3.สินค้าส่งออกไทยบางกลุ่มมีแนวโน้มสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศลดลง
ตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีมูลค่าเพิ่มในประเทศน้อยกว่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน
KKP Research ประเมินเบื้องต้นว่าการส่งออกที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการ Rerouting มีผลต่อการเติบโตของการส่งออกไทยประมาณ 22% ในปี 2024 จากระดับการเติบโตทั้งหมด โดยการเติบโตของการส่งออกที่มากขึ้น 1% จะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ลดลงจากระดับ 0.3ppt เหลือประมาณ 0.1ppt – 0.2ppt เท่านั้น
ในระยะถัดไปการส่งออกของไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น
จากทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐ ฯ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก
  • 1.
    สินค้าที่ช่วยพยุงการส่งออกไทยในกลุ่ม Rerouting มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มกีดกันสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากจีน อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อดุลการค้าจะไม่รุนแรง
  • 2.
    สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ ฯ อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากการกีดกันทางการค้า
  • 3.
    สินค้าจากจีนที่จะยังคงเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะหากสหรัฐ ฯ มีการปรับขึ้นภาษีกับจีนรุนแรง
  • 4.
    สินค้ากลุ่มที่ไทยมีการตั้งกำแพงภาษีกับสหรัฐ ฯ ในระดับสูงอาจถูกต่อรองให้ไทยนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมได้
นักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว แต่เศรษฐกิจกลับไม่ดีเหมือนที่คิด
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังไทยในปี 2024 มีจำนวน 35.5 ล้านคน โดยเติบโตขึ้นประมาณ 26.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับที่หลายฝ่ายประเมินไว้ อย่างไรก็ตามผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมกลับยังมีค่อนข้างจำกัดโดยประเมินว่า
1.รายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก
แม้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาตามคาดแต่เมื่อพิจารณารายได้จากการท่องเที่ยวต่อหัวจะพบว่ารายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลงและต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดมาก
2.ภาคการท่องเที่ยวไทยมีลักษณะของรายได้ที่ค่อนข้างกระจุกตัวในหลายมิติ
ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ทั่วถึง โดยรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลักคือ กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษธานี และกระบี่ การกลับมาของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อโรงแรมขนาดใหญ่ และความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นของภาคการท่องเที่ยวไทยมีน้อยกว่าในต่างประเทศ
3.การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวในช่วงเวลาที่ภาคการผลิตหดตัวลงแรง
ในปัจจุบันการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวได้ค่อนข้างดีแต่ภาคอุตสาหกรรมอยู่ในทิศทางขาลงพอดี ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมโตได้ในระดับต่ำ
ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทย
คาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลงในปี 2025 โดยเฉพาะแรงส่งจากภาคบริการที่จะลดลงไปมาก ในขณะที่ปัจจัยลบยังไม่หายไป KKP ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 2.6% โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจสามารถฟื้นตัวได้บ้าง อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ
ที่อาจกระทบต่อการการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยหากภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัวและติดลบในอัตราใกล้เคียงกับในปี 2024 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลงโดยจะเติบโตได้เพียง 2.0% หรือต่ำกว่านั้น
ประเด็นสำคัญคือในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันการประเมินภาพเศรษฐกิจโดยยึดการวัดความสำเร็จผ่านข้อมูลเศรษฐกิจแบบเดิมอาจทำให้การประเมินภาพเศรษฐกิจคลาดเคลื่อนและทำให้มองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง KKP Research
ยังคงประเมินว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการรัฐจากทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวระยะสั้น และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าในระยะยาว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/241980
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา