Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TNN Tech
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 07:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
'สปุตนิก โมเมนต์' อาจเกิดขึ้นอีกครั้งหากจีนส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จ
ในปี 1957 สหภาพโซเวียตสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสหรัฐอเมริกาและโลกด้วยการส่ง 'สปุตนิก' ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ จุดชนวนให้เกิดปรากฏการณ์ 'สปุตนิก โมเมนต์' หรือความตื่นตระหนกในพลังอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหภาพโซเวียตที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามเย็น และตามมาด้วยการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันประวัติศาสตร์มีโอกาสซ้ำรอย โดยคู่แข่งของสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนจากสหภาพโซเวียตเป็นประเทศจีน
🔵 สหรัฐอเมริกาชาติแรกที่ไปดวงจันทร์สำเร็จ
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะประสบความสำเร็จในภารกิจอะพอลโล 11 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 โดยมีนักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) เป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ ตามมาด้วย บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) หรือในอดีตเมื่อ 56 ปีก่อน
แต่ในปัจจุบันอวกาศกลายเป็นพรมแดนยุทธศาสตร์ระดับโลก สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายจากจีนที่มีโครงการอวกาศที่มุ่งมั่นและก้าวหน้า จีนตั้งเป้าส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ก่อนปี 2030 โดยใช้เทคโนโลยีจรวดลองมาร์ช 10 (Long March 10) ยานอวกาศเหมิงโจว (Mengzhou) และยานลงจอดหลานเยว่ (Lanyue) ซึ่งมีโอกาสพร้อมขึ้นบินภายในปี 2027
ขณะที่องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับความล่าช้าของโครงการ Artemis โดยก่อนหน้านี้ภารกิจ Artemis 3 การนำมนุษย์อวกาศกลุ่มแรกลงจอดบนดวงจันทร์ถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2027 จากกำหนดการเดิมในปี 2025
🔵 การแข่งขันไปดวงจันทร์ครั้งใหม่
การแข่งขันไปดวงจันทร์ครั้งใหม่นี้ไม่ใช่เพียงแค่การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ หากจีนสามารถลงจอดและสร้างฐานบนดวงจันทร์ได้ก่อน อาจมีสิทธิ์กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร ซึ่งจะส่งผลต่อแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของชาติอื่น ๆ ได้ในระยะยาว
จีนมีความได้เปรียบเชิงระบบการทำงานและเทคโนโลยีที่ซับซ้อนน้อยกว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่ต่อเนื่องสอดคล้องกัน และมีเป้าหมายชัดเจนในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศกับสหรัฐอเมริกา แม้ในบางครั้งต้องแลกมาด้วยความผิดพลาดของการปล่อยจรวด
ในขณะที่โครงการ Artemis ของสหรัฐฯ มีการเลื่อนกำหนดการของภารกิจทั้งจากเหตุผลด้านความพร้อมด้านเทคนิค การทดสอบพัฒนาจรวด และข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ เช่น ความล่าช้าในการออกใบอนุญาตขององค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) การบริหารของสหรัฐฯ ต้องเร่งปฏิรูปกระบวนการที่ล่าช้า เพื่อให้บริษัทเอกชน เช่น SpaceX, Blue Origin หรือบริษัทเอกชนรายอื่น ๆ สามารถช่วยผลักดันโครงการอวกาศได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
การแข่งขันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องศักดิ์ศรีประเทศ แต่ยังเกี่ยวข้องกับการควบคุมทรัพยากรบนดวงจันทร์ โดยเฉพาะน้ำแข็งที่จำเป็นสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงและออกซิเจน การเข้าถึงพื้นที่สำคัญบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นปัจจัยชี้ขาดในเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต หากจีนลงจอดก่อน อาจกำหนดกฎเกณฑ์และจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศอื่น
🔵 ความแตกต่างด้านเทคโนโลยียานอวกาศ
แม้เทคโนโลยีจรวดและยานอวกาศของ SpaceX และบริษัทอวกาศสหรัฐฯ อื่น ๆ จะมีความทันสมัย และล้ำหน้าไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งสามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานซ้ำ ลงจอดบนแขนตะเกียบหุ่นยนต์ขนาดยักษ์ หรือการพัฒนายานอวกาศ Starship HLS หรือยานอวกาศเวอร์ชันลงจอดบนดวงจันทร์ แต่ใช้กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีและการทดสอบที่นานกว่า
ขณะที่เทคโนโลยีจรวดลองมาร์ช 10 ( (Long March 10) ยานอวกาศเหมิงโจว (Mengzhou) และยานลงจอดหลานเยว่ (Lanyue) ถูกออกแบบมาเพื่อทำภารกิจเดียว ทำให้มีความซับซ้อนในการพัฒนาเทคโนโลยีของยานอวกาศน้อยกว่า แม้ในตอนนี้ยังไม่มีกำหนดการทดสอบที่ชัดเจน และต้องรอไปจนถึงปี 2027 เป็นอย่างน้อย
สหรัฐอเมริกาเคยประสบความสำเร็จในภารกิจอะพอลโล 11 ในอดีตเมื่อ 56 ปีก่อน แต่หากนิ่งนอนใจหรือขาดความตระหนักรู้ถึงความมุ่งมั่นของวงการอวกาศประเทศจีน ซึ่งกำลังวางแผนส่งนักบินอวกาศชาวจีนไปลงจอดบนดวงจันทร์ก่อนปี 2030 เราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ 'สปุตนิก โมเมนต์' ขึ้นอีกครั้ง ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศครั้งใหม่นี้
ที่มาของข้อมูล
https://www.space.com/the-universe/moon/a-red-moon-will-the-next-sputnik-moment-be-made-in-china
https://www.space.com/10437-sputnik-moment.html
ที่มาของรูปภาพ
#Moon #Redmoon #sputnik #china #TNNTech #TNNTechreports
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย