เมื่อวาน เวลา 11:38 • ความคิดเห็น

ปรัชญาการตลาดสามข้อของ Apple

ในยุคสมัยของ Steve Jobs Apple คือบริษัทที่มีแนวทางการทำการตลาดที่เจ๋งที่สุดในโลก ทุกคนพยายามเลียนแบบ ถอดรหัส และใช้เป็นแนวทางจนถึงปัจจุบัน
3
วันก่อนผมเห็นโพสต์ของคุณ Khajochi (Khajochi's Blog ) นำเอาแผ่นปรัชญาการตลาดของ apple ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1977 หรือในช่วงแรกๆ ของ apple มาเผยแพร่
ในฐานะนักการตลาดแบบครูพักลักจำ อ่านแล้วต้องบอกว่า นี่คือสุดยอดวรยุทธ์ของแนวคิดด้านการตลาดและการทำธุรกิจ ในกระดาษหัวจดหมายโลโก้แอปเปิ้ลยุคแรกนั้นมีหัวข้อคือ Apple Marketing Philosophy และเขียนปรัชญาที่เข้าใจง่ายๆ ไว้สามข้อดังนี้
ข้อแรก Empathy: ที่ apple เราจะพยายามเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งและมากกว่าบริษัทใดๆ
ข้อนี้ทำให้ผมนึกถึง ในงาน WWDC ปี 1997 ระหว่างที่สตีฟ จอบส์อยู่บนเวที มีวิศวกรเทคจ๋าคนหนึ่งในกลุ่มผู้ฟัง ถามคำถามค่อนข้างแรงต่อสตีฟว่ากำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ไม่ใช้ opendoc ที่เป็นเทคโนโลยีที่เขาคิดว่าดีที่สุดในสมัยนั้น เขาคิดว่าสตีฟไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีดีพอเลยด้วยซ้ำ
สตีฟ จอบส์ หยุดคิด หายใจลึกๆ แล้วตอบคำถามนี้จนกลายเป็นตำนานครั้งหนึ่งไว้ว่า เขาเองอาจจะไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด แต่เวลาจะออกแบบผลิตภัณฑ์ใดๆ เราต้องเริ่มจากประสบการณ์ของลูกค้า (customer experience) ก่อนแล้วค่อย work backwards มาว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร ไม่ใช่เริ่มจากเทคโนโลยีก่อน
1
Apple ต้องการสร้างสุดยอดผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนหลงรัก ไม่ใช่แค่เน้นเพียงนวัตกรรมเทคเจ๋งๆ บางตัวที่ไม่มีเป้าประสงค์ใดๆที่จะทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าดีขึ้น
2
ข้อสอง Focus: เพื่อที่จะทำงานให้ดีในงานที่เราตั้งใจจะทำ เราจะต้องตัดเรื่องและโอกาสใดๆ ที่ไม่สำคัญและไม่เกี่ยวข้องออกไปให้หมด
4
ข้อนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าของ โจนาธาน ไอฟ์ (Jonathan Ive) ตำนานแห่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ apple เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถผนวกศิลปะให้ผสานเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างมหัศจรรย์ เป็นเสมือนมือขวาคู่ใจของสตีฟ จ๊อบส์ เป็นผู้ออกแบบหรือร่วมออกแบบตั้งแต่ imac iphone macbook ios หรือแม้กระทั่งร้านสวยๆ
1
อย่าง apple store ถ้าจะมีกระบี่มือหนึ่งของโลกในด้านนี้ ไอฟ์ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นมือหนึ่งอย่างแท้จริง ไอฟ์เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งที่ดูยาก ซับซ้อนให้ง่ายและน่าใช้ เป็นหนึ่งในผู้ที่เปลี่ยนโลกสมัยใหม่อีกคนหนึ่ง
2
ในบทสัมภาษณ์ของไอฟ์ครั้งหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามที่เหมือนง่ายแต่ตอบยาก ว่าถ้าจะมีคำแนะนำเดียวที่ไอฟ์จะให้ในการทำงานออกแบบ คำแนะนำนั้นคืออะไร ไอฟ์ ตอบว่า “ คุณต้องโฟกัสกับงานที่คุณทำมากๆ ทำแค่อย่างเดียวพอ และทำอย่างนั้นให้ดีที่สุดในโลกให้ได้ “
1
ไอฟ์บอกว่า เอาจริงๆ แล้วความคิดนี้ไม่ใช่เป็นความคิดที่เขาเคยคิด เพราะแต่ก่อนเขามีความอยากทำอะไรเป็นร้อยเป็นพันอย่างด้วยความคัน แต่เขาเรียนรู้ความสำคัญของการเลือกทำและโฟกัสแค่อย่างเดียวจากสตีฟ จ๊อบส์ ซึ่งสอนเขาว่าเขาต้องรู้จักปฏิเสธให้มากๆ มากกว่าตอบรับว่าทำอะไร และในชีวิตจริง สตีฟจะมาถามเขาทุกวันเลยด้วยซ้ำว่าวันนี้ปฏิเสธไม่ทำอะไรไปบ้างหรือยัง มาเช็คเรื่อยๆเพื่อไม่ให้เขาไขว้เขว
5
ไอฟ์เล่าตลกๆด้วยว่า สตีฟ จ๊อบส์มาถามแบบนี้ทุกวันจนเขาต้องคิดโครงการมั่วๆ ขึ้นมาในหัวเพื่อจะหลอกสตีฟว่ามีโครงการนี้แต่เขาปฏิเสธไปแล้วเพื่อเอาตัวรอด แสดงให้เห็นถึงความเอาจริงของวัฒนธรรมของ apple ที่จะเน้นโฟกัส ทำอย่างเดียวให้ดี ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้หมด
โฟกัส จนเห็นแต่งานที่สำคัญแล้วทุ่มเททุกอย่าง หัวใจสำคัญคือต้องรู้จัก say no ต่อสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งพอคิดไปแล้ว ก็รู้สึกได้เหมือนกันว่าที่เราชอบใช้ผลิตภัณฑ์ของ apple ก็เพราะมาจากปรัชญาการออกแบบของโจนาธาน ไอฟ์ ที่ทำการใช้งานได้เรียบง่ายและเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เป็นจุดเด่นที่สุดในการออกแบบผลิตภัณฑ์…เรียบง่ายและสวยงาม
2
ข้อสาม People do judge the book by its cover: ผู้คนตัดสินใจหนังสือจากปกก่อนเสมอ ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะมีผลิตภัณฑ์ที่เจ๋งที่มีคุณภาพมากแค่ไหนหรือมีซอฟท์แวร์ที่มีประโยชน์เพียงใด แต่ถ้าเรานำเสนอออกไปแบบชุ่ยๆ ของดีจริงๆของเราก็จะดูชุ่ยไปด้วย แต่ถ้าเรานำเสนอออกไปด้วยภาพที่ดูเป็นมืออาชีพ ดูครีเอทีฟ เราก็จะส่งภาพจำฝังใจที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงคุณภาพและมาตรฐานอันสูงส่งของเราได้
2
ทำให้เรานึกถึงความประณีต ใส่ใจในการออกแบบที่อาจจะไม่เกี่ยวกับของที่จะขายของ apple เลยอย่างเช่น packaging ที่แค่การเปิดกล่องก็รู้สึกได้ถึงความเนี้ยบและคิดมาอย่างดี รู้สึกถึงมาตรฐานที่สูงมากๆ และรายละเอียดที่ไม่ปล่อยแม้แต่นิด ร้าน apple store ที่เหมือนกับหอศิลป์ที่ทำให้รู้สึกถึงความพรีเมี่ยม รวมถึง storytelling ที่ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์และแทบอยากจะรีบไปต่อคิวซื้อก่อนใคร เหล่านี้แสดงถึงหัวใจสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ถ้าจะให้นึกที่มาที่ไปของความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องนี้ ผมนึกถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ของสตีฟ จอบส์ที่พ่อบุญธรรมผู้เลี้ยงสตีฟมาเป็นช่างไม้ที่เก่งมากคนหนึ่ง เขาสอนสตีฟตั้งแต่เด็กถึงความประณีต งานละเอียดและความใส่ใจในรายละเอียดทุกด้าน แม้ว่าจะไม่มีใครเห็นก็ตาม
ตอนที่สตีฟเด็กๆ พ่อให้สตีฟมาช่วยสร้างรั้วไม้รอบบ้าน และกำชับว่าต้องทาสีและขัดงานไม้ให้เนี้ยบแม้กระทั่งด้านหลังของรั้วที่ไม่มีใครเห็นก็ต้องสวยงามเท่ากับด้านหน้า สตีฟถามว่าทำไมต้องทำขนาดนั้นด้วยเพราะยังไงก็ไม่มีใครเห็น
พ่อตอบว่า… แต่เราเห็นไง อันนั้นสำคัญที่สุด ต่อให้ไม่มีใครเห็นแต่เราเองก็จะเห็น ช่างไม้ที่สุดยอดจะไม่ใช้ไม้ห่วยๆหลังตู้แม้กระทั่งตอนทำตู้ ต่อให้ไม่มีใครเห็นก็ตาม
6
บทเรียนนั้นทำให้สตีฟนำมาใช้ที่ apple งานทุกอย่าง รายละเอียดทุกเม็ดจะสวยงามแม้แต่ข้างในของโทรศัทพ์ที่ไม่มีใครเห็นก็ตาม การใช้วัสดุในการประกอบก็จะใช้แต่วัสดุที่ดีที่สุด ไม่ดู cheap เป็นพลาสติก ความโค้งมน สุนทรียะของการได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีแข็งกระด้างก็จะต่างจากคนอื่น ประสบการณ์ของลูกค้ามาก่อนสิ่งอื่นใด
สามปรัชญาการตลาดของ apple ที่ได้อ่าน แม้จะเขียนในปี 1977 แต่ความสำคัญของสามเรื่องนี้ดูจะสำคัญเป็นเท่าทวีคูณในยุคสมัยโซเชียลที่คู่แข่งมากมายมหาศาล ผู้บริโภคก็มีทางเลือก มีความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อยๆ ใครที่ทำงานการตลาดหรืองานนวัตกรรมอยู่
สามข้อนี้น่าจะเป็น check list ที่ดีในยุคนี้สมัยนี้ที่เทคโนโลยีมากมายให้ใช้เต็มไปหมด (ต้องเริ่มจาก customer experience ก่อน) มีไอเดียใหม่ มีเรื่องราวใหม่มาให้วอกแวกเสมอ (focus) และหลายครั้งก็ทำงานส่งๆ ลดต้นทุน ไม่ได้เก็บเนี้ยบ หวังว่าจะไม่มีใครเห็นในขณะที่ผู้คนก็ใจร้อนและใจลอยไม่มี attention ใหิใครง่ายๆ (people judge book by its cover)
2
เป็นปรัชญาการตลาดที่อยู่เหนือกาลเวลามากๆ ในความคิดของผมเลยครับ
โฆษณา