4 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ

ประกันสังคมปรับฐานใหม่ เรากำลังจะต้องจ่ายเงิน เพิ่มขึ้น 50%

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ทุกเดือนเงินยังไม่ทันเข้ากระเป๋า ก็มักถูกหักค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้ว และหนึ่งในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นคือ “เงินสมทบประกันสังคม”
2
และรู้หรือไม่ว่า จากที่เราเคยโดนหักเดือนละ 750 บาท แต่ในอีก 7 ปีข้างหน้า เงินที่โดนหักนั้น กำลังจะเพิ่มเป็น 1,150 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 50%
คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเราต้องจ่ายเงินเพิ่ม ?
แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มบ้าง ?
1
MONEY LAB จะย่อยการเงิน การลงทุน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจโครงสร้างประกันสังคมกันก่อน
ประกันสังคมเป็นโครงการออมเงินภาคบังคับ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้คนทำงาน
โดยทุกเดือนเราและบริษัทจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน รวมถึงรัฐบาลก็จะช่วยสมทบเพิ่มให้ด้วย
จากนั้นกองทุนจะนำเงินนี้ไปลงทุน เพื่อนำมาจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ให้เรา
ซึ่งปัจจุบันแต่ละฝ่ายจะจ่ายบนสัดส่วนที่ชัดเจน
- เราในฐานะลูกจ้าง จ่าย 5%
- บริษัทในฐานะนายจ้าง จ่าย 5%
- รัฐบาล จ่าย 2.75%
1
เงินสมทบนี้จะคำนวณจากฐานเงินเดือนของเรา โดยกำหนดฐานเงินเดือนไว้สูงสุดที่ 15,000 บาท
ซึ่งหมายความว่า แม้ว่าเราจะมีเงินเดือนหลาย ๆ หมื่น หรือหลักแสนก็ตาม ก็จะจ่ายบนฐาน 15,000 บาท หรือสูงสุดเดือนละ 750 บาทนั่นเอง
โดยเราจะได้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมทั้งยามเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต รวมถึงช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเมื่อคลอดบุตร ว่างงาน และมีเงินบำนาญยามเกษียณ
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนไป เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง
นั่นหมายความว่า คนวัยแรงงานที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนจะน้อยลง สวนทางกับจำนวนผู้รับเงินบำนาญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ อีกประมาณ 20 ปี รายรับจากเงินสมทบที่เข้ามาอาจไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของระบบประกันสังคมในระยะยาว
นี่เป็นเหตุผลที่เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ความกังวลว่าอนาคตประกันสังคมอาจเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องได้
3
และเพื่อให้กองทุนประกันสังคมสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว มีแนวทางที่ถูกพูดถึงอยู่ด้วยกัน 3 วิธีหลัก ๆ
นั่นคือ การขยายอายุเกษียณ การเพิ่มอัตราสมทบ และการปรับรูปแบบการจ่ายเงินบำนาญ
จากระบบเดิมที่การจ่ายเงินบำนาญจ่ายเป็นจำนวนเงินตายตัว เปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ให้ผลประโยชน์บวกกับผลตอบแทนจากการลงทุน คล้ายกับระบบของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
และล่าสุดไม่นานมานี้ ทางสำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงาน ได้เห็นชอบที่จะปรับฐานเงินเดือนสำหรับการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมให้สอดคล้องกับปัจจุบัน
หลังจากที่ใช้ฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาทมาตั้งแต่ปี 2538 โดยการปรับขึ้นครั้งนี้จะดำเนินการแบบขั้นบันได 3 ระยะ ได้แก่
ปี 2569-2571
- ฐานเงินเดือนสูงสุด 17,500 บาท
- จ่ายสูงสุดเดือนละ 875 บาท
ปี 2572-2574
- ฐานเงินเดือนสูงสุด 20,000 บาท
- จ่ายสูงสุดเดือนละ 1,000 บาท
ตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป
- ฐานเงินเดือนสูงสุด 23,000 บาท
- จ่ายเงินสูงสุดเดือนละ 1,150 บาท
แม้การปรับฐานเงินเดือนจะทำให้เราต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่คำนวณจากฐานเงินเดือน ทำให้สิทธิที่ได้รับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เช่น ในปี 2575 หากเรามีเงินเดือนตั้งแต่ 23,000 บาทขึ้นไป ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่มขึ้น ได้แก่
- เงินบำนาญหลังเกษียณ
หากจ่าย 25 ปี จากเดิมจะได้บำนาญ
เดือนละ 5,250 บาท เพิ่มเป็น 8,050 บาท
หากจ่าย 35 ปี จากเดิมจะได้บำนาญ
เดือนละ 7,500 บาท เพิ่มเป็น 11,500 บาท
- เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และว่างงาน
จากเดือนละ 7,500 บาท เป็น 11,500 บาท
- เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
จาก 90,000 บาท เป็น 138,000 บาท
1
การปรับฐานเงินเดือนครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เราในฐานะลูกจ้างจะต้องจ่ายเพิ่ม แต่บริษัทในฐานะนายจ้างและรัฐบาลก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเงินสมทบประกันสังคมถูกคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือน
ทำให้เงินกองทุนมีรายรับมากขึ้น ซึ่งจะช่วยรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับฐานเงินเดือนแล้ว ประกันสังคมยังมีแผนเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย
จากเดิมที่ลงทุนในประเทศเป็นหลัก และได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี ตอนนี้มีแผนจะกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มผลตอบแทนเป็น 5% ต่อปี
และหากทำได้ตามแผน เท่ากับว่ากองทุนประกันสังคมจะมีรายรับเพิ่มขึ้นจากสองทาง ทั้งเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นจากการปรับฐานเงินเดือนและผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น
ซึ่งจะช่วยให้กองทุนมีความมั่นคงในระยะยาว และรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ของประกันสังคม ทั้งการปรับฐานเงินเดือนในรอบกว่า 30 ปี
และก้าวออกจากกรอบเดิม ด้วยการเปิดประตูสู่การลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากที่เน้นลงทุนในประเทศมาตลอด
เพื่อรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งอย่างน้อยทางสำนักงานประกันสังคมก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการทำให้ระบบเดินหน้าต่อ
แม้ยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปสู่ทางตันโดยไม่มีการขยับตัวเลย..
หมายเหตุ : มนุษย์เงินเดือนในบทความนี้ หมายถึง ผู้ประกันตน มาตรา 33
#วางแผนการเงิน
#หลักวางแผนการเงิน
#ประกันสังคม
References
-YouTube ลงทุนแมน : ประกันสังคม เสี่ยงเงินหมดใน 21 ปี ผู้ประกันตน รับมือและแก้ปัญหานี้อย่างไร ? | Talkลงทุนแมน EP.52
-YouTube ลงทุนแมน : ประกันสังคม บู๊ลงทุนต่างประเทศ หวังผลตอบแทน 5.3% ต่อปี | Talkลงทุนแมน EP.58
โฆษณา