Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MarketThink
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
5 ชั่วโมงที่แล้ว • การตลาด
สรุปวิธีสร้างแบรนด์ ให้ลูกค้าจำง่าย ด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พร้อมตัวอย่างจริง จากแบรนด์ดัง
รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส คือประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่มนุษย์ใช้รับรู้ ทำความเข้าใจ และประมวลผลสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ตื่นยันหลับ
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว เราสามารถนำ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ว่านี้ มาใช้เป็นเทคนิคพิเศษ ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำได้ นอกเหนือไปจากการสร้างแบรนด์แบบเดิม ๆ ที่มักพูดกันถึงเรื่องการออกแบบสิ่งที่ลูกค้าจะรับรู้ได้ ผ่านการมองเห็นเพียงอย่างเดียว
แล้วการสร้างแบรนด์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำอย่างไร ?
MarketThink จะอธิบายอย่างละเอียดในโพสต์นี้
เริ่มแรก ต้องอธิบายเป็นการปูพื้นกันก่อนว่า องค์ประกอบของประสาทสัมผัสทั้ง 5 มีอะไรบ้าง
- ประสาทสัมผัสที่ 1 รูป หรือการมองเห็น
เป็นการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย “ดวงตา” และเป็นประสาทสัมผัสที่มีความสำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้
เพราะในแต่ละวันการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของมนุษย์กว่า 90% เกิดจากการมองเห็น
- ประสาทสัมผัสที่ 2 รส หรือการรับรสชาติ
การรับรู้รสชาติ เป็นประสาทสัมผัสที่เกิดขึ้นที่ “ลิ้น” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ้นของมนุษย์ จะสามารถรับรู้รสชาติได้ 5 แบบ ได้แก่ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และรสชาติความกลมกล่อม (อูมามิ)
ในขณะที่ความเผ็ดไม่ใช่รสชาติ แต่เป็นความเจ็บปวด ที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้
- ประสาทสัมผัสที่ 3 การได้กลิ่น
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์แต่ละคนจะสามารถรับรู้ถึงกลิ่นต่าง ๆ ที่แตกต่างกันได้ราว 10,000 กลิ่น
ซึ่งประสาทสัมผัสด้านการได้กลิ่นนั้น มีความสำคัญในฐานะเครื่องเตือนภัยให้กับมนุษย์ ว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่มีอันตรายหรือไม่ เช่น การได้กลิ่นเหม็นของอาหารที่เน่าเสีย หรือสารเคมีต่าง ๆ
- ประสาทสัมผัสที่ 4 เสียง หรือการได้ยิน
เกิดขึ้นจากการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง ที่เกิดขึ้นที่บริเวณกระดูกด้านในหู ส่งต่อเป็นคลื่นไฟฟ้าเข้าไป
ยังสมอง จนกลายเป็นเสียงที่เราได้ยินกัน
โดยเสียงนั้นมีความสำคัญ คือสามารถช่วยกระตุ้นความทรงจำ และการหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข จากการได้ยินเสียงบางชนิดได้
- ประสาทสัมผัสที่ 5 การสัมผัส
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่บริเวณผิวหนังของมนุษย์ โดยนอกจากการสัมผัสแล้ว มนุษย์ยังสามารถรับรู้อุณหภูมิ แรงดัน ความสั่น และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย
ซึ่งประสาทสัมผัสทั้ง 5 มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ การทำงานของสมองจะตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทุก ๆ ประสาทสัมผัสที่เราได้รับ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง หรือการสัมผัส จะเชื่อมโยงกับอารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำต่าง ๆ ได้
ทำให้ในจุดนี้ นักการตลาดจึงสามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 มาใช้กับการสร้างแบรนด์ ทำให้เกิดการจดจำ หวนระลึกถึง และสร้างความเชื่อมโยงทางด้านอารมณ์กับแบรนด์ได้นั่นเอง
ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่า เราจะมีวิธีในการสร้างแบรนด์ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างไร ?
- ประสาทสัมผัสที่ 1 รูป หรือการมองเห็น
เป็นประสาทสัมผัสที่ใช้ในการสร้างแบรนด์มาอย่างยาวนาน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างแบรนด์ชนิดแรก ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ โลโก สัญลักษณ์ การเลือกใช้สี การจัดแสง รูปภาพ กราฟิก คลิปวิดีโอ และข้อความ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าทั้งสิ้น
องค์ประกอบเหล่านี้ หมายรวมถึงการออกแบบตัวสินค้า หน้าร้าน เว็บไซต์ หรือแม้แต่ทุก ๆ องค์ประกอบที่อยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของแบรนด์ เพื่อใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า
โดยประสาทสัมผัสการมองเห็นนี้ จะช่วยสร้างความแตกต่าง และทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้
ตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ผ่านประสาทสัมผัสการมองเห็น ก็อย่างเช่น McDonald’s เชนร้านอาหารฟาสต์ฟูด ที่เลือกใช้สีแดงและสีเหลือง เป็นเหมือน Brand Identity หลัก
ทั้งในโลโก การออกแบบเว็บไซต์ อาร์ตเวิร์กที่ใช้ในการสื่อสารบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย การออกแบบหน้าร้าน และแมสคอต ช่วยสร้างเอกลักษณ์ และทำให้คนทั่วโลกจดจำได้ ว่าสีแดง-สีเหลือง คือสีหลักของ McDonald’s
- ประสาทสัมผัสที่ 2 รส หรือการรับรสชาติ
เป็นการสร้างแบรนด์ที่พบได้ในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ
เพราะมนุษย์สามารถจดจำรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ได้ ตัวอย่างเช่น การจดจำรสชาติอาหารฝีมือคนในครอบครัวที่เคยกินอยู่บ่อย ๆ
ไม่ต่างอะไรจากการจดจำรสชาติอาหารของแบรนด์ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ นำไปสู่การจดจำแบรนด์ทางด้านรสชาติ และช่วยทำให้เกิดการนึกถึงแบรนด์ เมื่อได้รับรสชาติที่คล้าย ๆ กัน
ตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ผ่านประสาทสัมผัสการรับรสชาติ ก็อย่างเช่น
Starbucks หรือ McDonald’s
ที่มีเมนูมาตรฐาน ทั้งอาหาร และเครื่องดื่ม เหมือนกันทั่วโลก เพื่อทำให้ลูกค้าจดจำรสชาติได้
สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
ที่มี “ข้าวต้มมัด” ให้บริการในห้องรับรองภายในสนามบิน สำหรับผู้โดยสารทุกคน ช่วยสร้างเอกลักษณ์ว่าหากเลือกบินกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก็จะได้ลิ้มรสของข้าวต้มมัดอร่อย ๆ
- ประสาทสัมผัสที่ 3 การได้กลิ่น
เป็นสิ่งที่ใช้ในการกระตุ้นความทรงจำได้ดี ช่วยสื่อสารความเป็นแบรนด์ออกไปให้ลูกค้าได้รับรู้ เช่น ความหรูหรา ความผ่อนคลาย หรือความสปอร์ต
โดยหากแบรนด์เลือกใช้กลิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ก็จะทำให้ลูกค้าจดจำกลิ่นนั้นในฐานะเอกลักษณ์ของแบรนด์ตามไปด้วย
ตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ผ่านประสาทสัมผัสการได้กลิ่น เช่น ร้าน CC Double O
ที่มีการใช้น้ำหอม SUEDE FOR HIM มาฉีดเพื่อสร้างบรรยากาศในร้าน จนเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ใคร ๆ ก็จำกลิ่นของร้าน CC Double O ได้ แม้เพียงเดินผ่าน
- ประสาทสัมผัสที่ 4 เสียง หรือการได้ยิน
การได้ยินเป็นประสาทสัมผัสที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ต่าง ๆ ของลูกค้าได้ดีที่สุด เช่น ความตื่นเต้น ความเร้าใจ ความผ่อนคลาย
และที่สำคัญคือเสียง ทำหน้าที่สร้างความน่าจดจำให้กับแบรนด์ ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ แม้ได้ยินเพียงแค่เสียง ที่แบรนด์ตั้งใจใช้เป็นเสียงเฉพาะของแบรนด์ ในการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะในโฆษณา
ตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ผ่านประสาทสัมผัสการได้ยิน
- เสียงริงโทนของโทรศัพท์มือถือ Nokia ที่แม้จะผ่านมากี่ปี คนทั่วโลกก็ยังจดจำได้
- เสียง Tadum ก่อนเริ่มภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ของ Netflix
- เสียงเมโลดีท้ายโฆษณาของ Intel
- เพลงโฆษณา “แลคตาซอย 5 บาท” ของแลคตาซอย
- เสียงเมโลดีก่อนรถไฟเข้าสถานี บนรถไฟ JR ในประเทศญี่ปุ่น
- ประสาทสัมผัสที่ 5 การสัมผัส
เป็นประสาทสัมผัสที่รับรู้ได้ผ่านผิวหนัง จากการจับสินค้า หรือแพ็กเกจจิง ที่ได้รับการออกแบบด้วยวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก หนัง โลหะ ยาง หรือผ้า
โดยการสัมผัสนั้น สามารถสร้างความรู้สึกหรูหรา ทันสมัย สะดวกสบาย หรือความคงทนให้กับลูกค้าได้ ช่วยสร้างทั้งภาพลักษณ์ ความแตกต่าง และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อให้กับแบรนด์
ตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ผ่านการสัมผัส
- การเลือกใช้วัสดุไทเทเนียม ที่ให้ความรู้สึกหรูหรา และความทนทาน เมื่อสัมผัสของ iPhone
- น้ำส้ม Orangina ที่ออกแบบขวดบรรจุภัณฑ์ ให้มีผิวสัมผัสเหมือนผลส้ม เหมือนลูกค้าได้จับผลส้มจริง ๆ
- สินค้าอื่น ๆ ที่ให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสสินค้าจริงก่อนซื้อ เช่น กระเป๋า นาฬิกา หรือรถยนต์
ทั้งหมดนี้ คือ Sensory Branding หรือการสร้างแบรนด์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่นำปัจจัยทางด้าน รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ที่เราทุกคนต้องเจอในชีวิตประจำวัน มาใช้ในการสร้างแบรนด์ และทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้
●
https://www.artworkflowhq.com/resources/sensory-branding-comprehensive-guide
●
https://www.ramotion.com/blog/sensory-branding/#section-using-sensory-branding-for-your-own-business
●
https://compusense.com/sensory-branding-practical-tips/
●
https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=32547
●
https://www.scimath.org/article-science/item/2097-mechanism-of-smell
●
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=598328050204311&id=140294779340976&set=a.148779918492462&locale=th_TH
●
https://factsheets.in.th/2021/05/04/sensory-branding-intro-factsheet-no-31/
●
การสร้างแบรนด์ผ่านประสาทสัมผัส (Sensory Branding) โดย บัณฑิต รัตนไตร, ศศิร์รัช สายขุน และกรณัฏฐ์ สกุลกฤติ
branding
1 บันทึก
5
5
1
5
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย