5 ก.พ. เวลา 03:53 • สุขภาพ

ของกินช่วยคุมกำเนิด มีจริงหรือไม่

เล่นเอาแตกตื่นกันทุกวงการ ทั้งหมอสูฯ เภสัชฯ นักวิชาการสาธารณสุข ไปจนถึงอาจารย์สุขศึกษา เมื่อ Influencer รายหนึ่ง ลงคอนเทนต์ทำนองว่าอาหารที่สามารถรับประทาน โดยหวังให้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สามารถคุมกำเนิดได้
แน่นอนครับ ไม่ว่าจะร่ายเวทย์ป้องกันเอาไว้หนาแค่ไหน เรื่องนี้ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกออนไลน์ในบ้านเราทันที พร้อมกับคำถามถึงความน่าเชื่อถือ ของวงการอินฟลูฯสายรีวิว ซึ่งอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของงานตนเองมากเท่าที่ควร
ยาคุมกำเนิดนั้นมีหลายประเภท แต่หลักๆมีกลไกการทำงานของยา 3 ประการ คือ
1. ยับยั้งการตกไข่ (Ovulation Suppression): ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินจะส่งสัญญาณไปยังสมอง (hypothalamus และ pituitary gland) ให้ลดการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นไข่ (FSH และ LH) ทำให้ไข่ไม่ตก
2. ทำให้มูกปากมดลูกเหนียวขึ้น (Thickening Cervical Mucus): ป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่
3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง (Endometrial Thinning): ลดโอกาสที่ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะฝังตัวในมดลูก
โดยยาคุมที่มักพบได้ในท้องตลาดคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptives, COCs) ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินเดี่ยว (Progestin-Only Pills, POPs หรือ Mini-Pills) ยาคุมฉุกเฉิน(Emergency Contraception) และยาคุมแบบอื่นๆ เช่น ฉีด แผ่นแปะ แบบฝัง เป็นต้น
แม้ว่าจะมีอาหารบางชนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช (Phytoestrogens) เช่น ถั่วเหลือง, เมล็ดแฟลกซ์, เมล็ดงา, และพืชตระกูลถั่วอื่นๆ มีสารที่สามารถเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายได้ แต่ก็ไม่สามารถใช้เป็นวิธีการคุมกำเนิดในมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะ
1. ความแรงของ Phytoestrogens ต่ำกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
Phytoestrogens มีโครงสร้างคล้ายกับเอสโตรเจนของมนุษย์ แต่มีความสามารถในการจับกับตัวรับฮอร์โมน (Estrogen Receptors, ER) ได้น้อยกว่าหลายเท่า
การออกฤทธิ์ของ Phytoestrogens อ่อนเกินกว่าจะยับยั้งการตกไข่ได้เหมือนยาคุมกำเนิดที่มี Ethinyl Estradiol (EE) หรือฮอร์โมนสังเคราะห์
2. ไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมทำงานโดยกดการหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH จากต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมการตกไข่ ซึ่ง Phyto estrogens จากพืชหรืออาหารที่มีฮอร์โมนดังกล่าวเป็นส่วนผสม ไม่มีฤทธิ์แรงพอที่จะยับยั้งการทำงานของ FSH และ LH ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับยา(ถ้ามันเท่ากันจะมียาไว้ทำมะเขืออะไรล่ะครับ)
3. ปริมาณที่ได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ
หากต้องการให้ Phytoestrogens มีผลต่อฮอร์โมนอย่างชัดเจน อาจต้องบริโภคในปริมาณสูงมาก ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากปริมาณ Phytoestrogens ในอาหารทั่วไปไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายได้มากพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์
4. ผลกระทบที่ซับซ้อนต่อระบบฮอร์โมน
ในบางกรณี Phytoestrogens อาจมีฤทธิ์ เป็นทั้ง Agonist และ Antagonist (กระตุ้นและยับยั้งตัวรับฮอร์โมนขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนในร่างกาย) อาจมีผลกระทบต่อรอบเดือน แต่ไม่สามารถควบคุมให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งอันนี้ผมเคยพบบ้างตอนอยู่ร้านยา ปัจจัยเรื่องของอาหารที่มี Phytoestrogens ร่วมกับความเครียด การออกกำลังกาย สามารถมีผลต่อความสม่ำเสมอของรอบเดือนได้บ้าง แต่ไม่พอให้คุมกำเนิดได้แน่นอน
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในฐานะผู้บริโภคยอย่างเราๆ คือพยายามหาข้อมูลยืนยันอย่างหลายๆแหล่ง มีความรู้ และเท่าทันสื่อ ไม่ปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ และเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน
ซึ่งต้องบอกเลยว่า ถ้าไอ้ของกินที่ว่ามาทั้งหมดมันคุมกำเนิดได้ดีมีประสิทธิโชคขนาดนั้นจริงๆ บางทีเราก็คงไม่ต้องมานั่งฟังนักรีวิวถุงแตกสาธยายเรื่องพกลมให้ฟัง
และผมก็คงได้เวลานอนเพิ่ม ไม่ต้องมานั่งเขียนบทความอธิบายสิ่งที่ผู้เจริญซึ่งมากด้วยปัญญานั้นรู้อยู่แล้ว
2
อ้างอิง
1. Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics – ตำราเภสัชวิทยาที่อธิบายกลไกของฮอร์โมนและยาคุมกำเนิด
โฆษณา