6 ชั่วโมงที่แล้ว • ข่าวรอบโลก

โลกเดือด น้ำทะเลสูง ต้องย้ายบ้าน แต่ไม่มีงานทำ ชีวิต ‘เลือกยาก’ ของชุมชนประมงเม็กซิกัน

นับจากปี พ.ศ. 2562 ‘El Bosque’ ชุมชนประมงเล็กๆ ในประเทศเม็กซิโก เริ่มเผชิญผลกระทบเชิงประจักษ์จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ
อาคารบ้านเรือน สถานศึกษา โครงการสร้างบริการพื้นฐาน ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในละตินอเมริกา
ถึงวันนี้โครงสร้างต่างๆ ที่ว่ามาได้รับความเสียไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จนรัฐบาลต้องรีบจัดแจงย้ายชุมชนไปก่อร่างสร้างตัวใหม่ในพื้นที่ปลอดภัย
ประชาชนหลายคนรู้สึกแฮปปี้ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องกังวลกับคลื่นลมแรงๆ ไม่ต้องกลัวว่าหลังคาจะพังครืนลงมาวินาทีที่กำลังหลับตานอนฝัน
และถือเป็นโอกาสเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ หลังจากที่ทำประมงมานมนานหลายเจเนอเรชัน โดยเฉพาะกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้มีตัวเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ ไม่จำกัดแค่การทำประมงอาชีพอย่างเดียว
เหตุผลสำคัญเป็นเพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะช่วงที่ชุมชนเริ่มได้รับผลกระทบ) ความแปรปรวนของคลื่นลมทะเลทำให้ประมงท้องถิ่นออกหาปลากันลำบาก
จากที่มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่ต้องกังวลถึงความหิวในวันต่อไป ก็เริ่มพบความฝืดเคือง ปริมาณปลาที่จับได้มีไม่มากเท่าเก่า
แทบจะมองไม่เห็นความยั่งยืนและความมั่นคงในอนาคต
อย่างไรก็ดี ก่อนเรื่องราวจะเดินทางไปถึงอนาคตทางเลือกใหม่ของคนรุ่นใหม่ ณ วันนี้ชุมชนอพยพยังมีปัญหาที่ต้องรีบแก้
แม้วันนี้ชาวชุมชน El Bosque จะอยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องเผชิญอันตรายจากคลื่นลมแรงๆ เหมือนวันวาน แต่กลับต้องพบเจอปัญหาใหม่เรื่องหน้าที่การงาน
ด้วยถิ่นที่อยู่ใหม่ไม่ได้เอื้อต่อทักษะเก่า - การทำประมง - และเป็นทักษะเดียวที่มี เกือบทุกครอบครัวต้องประสบภาวะ ‘ตกงาน’ อย่างเลี่ยงไม่ได้
ครั้นจะหางานใหม่ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาที่ชุมชนไม่ได้ตระหนักกันมาก่อน
ตามรายงานของ Mongabay สื่อสิ่งแวดล้อมแนวสืบสวนสอบสวน หลายๆ ครอบครัวเทียวไล้เทียวขื่อเดินทางกลับไปหาปลาที่บ้านเก่าในตอนกลางวัน และกลับมาพักผ่อนที่บ้านใหม่ในตอนกลางคืน
กลายเป็นการแบกรับรายจ่ายค่าน้ำมันระหว่างเดินทาง เพิ่มพูนรายจ่ายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
ซ้ำปริมาณปลาที่หาได้กลับไม่ได้มากเท่าเก่า
สถานะวันนี้จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก ยอมจำนน จากทางเลือกที่มีไม่มาก และไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำได้เพียงเอาตัวรอดรายวันกันไปก่อน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การแก้ไขปัญหาหนึ่งนำไปสู่การพบปัญหาใหม่
ก่อนหน้านี้ พ.ศ. 2548 ชุมชนพื้นเมืองจากรัฐเชียปัสของเม็กซิโก ต้องจำยอมย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากผลกระทบอันเลวร้ายของพายุเฮอริเคนสแตน (Hurricane Stan)
เหตุการณ์นั้นทำลายบ้านเรือนไปกว่า 50,000 หลัง กระทบประชาชน 92,000 คนต้องอพยพ
แม้ประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัยต่อมาในภายหลัง แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะมึนงงจากการสูญเสียความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต
รวมถึงประสบปัญหาเรื่องการทำงาน จากการเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหัน และไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่
หรือกล่าวอย่างหยาบๆ คือ หาที่อยู่ใหม่ให้แล้ว ที่เหลือก็จัดการกันเองล่ะกัน
หรือรอหน่วยงานอื่นมาช่วยต่อ
ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่…
แต่เพราะชีวิตมันต้องดำเนินไปทุกวัน และต้นทุนพลังงานระหว่างรอของแต่ละคนไม่เท่ากัน และชีวิตของการเป็นผู้ประสบภัยไม่เคยเป็นเรื่องง่าย
การแก้ปัญหาการต้องบูรณาการกันมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือตัดไฟเสียแต่ต้นลม ย้อนกลับไปมองที่ต้นตอของปัญหาอีกครั้ง
อ้างอิง
Mongabay : Mexican fishers relocate in wake of sea level rise, raising job concerns
Environmental Studies and Sciences : Indigenous Peoples and climate-induced relocation in Latin America and the Caribbean: managed retreat as a tool or a threat?
โฆษณา