5 ก.พ. เวลา 07:48 • การศึกษา

จากกิ้งก่าเปลี่ยนสีสู่คัมภีร์โจวอี้ 《周易》 : ศาสตร์แห่งความเปลี่ยนแปลงที่มาจากโลกแห่งธรรมชาติ

เวลาเราไปเดินตามร้านหนังสือเพื่อเลือกหนังสือสักเล่ม ก็คงหนีไม่พ้นการกวาดสายตาดูชื่อหนังสือบนหน้าปก หากชื่อหนังสือมีความน่าสนใจหรือเป็นที่ดึงดูด ก็จะชักชวนให้ผู้อ่านซื้อหนังสือเล่มนั้นไป การทำความเข้าใจคัมภีร์จีนก็เช่นกัน
คัมภีร์โจวอี้ ถือเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับการกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จักรวาล และชีวิต ซึ่งเนื้อหาบางส่วนก็เข้าใจยาก หนำซ้ำ หากไม่เข้าใจชื่อของคัมภีร์ การอ่านคัมภีร์โจวอี้ให้แตกฉานก็คงจะเป็นเรื่องที่ยาก
บทความนี้จะมาตอบคำถามที่ว่า ทำไมคัมภีร์นี้ถึงเรียกว่า อี้ 易
โจวเล่าจีน
เมื่อกล่าวถึงอี้จิงจะหมายถึงคัมภีร์หลักสามเล่ม ได้แก่ คัมภีร์เหลียนซาน《連山》 คัมภีร์กุยฉาง《歸藏》 และคัมภีร์โจวอี้《周易》 แต่เหลือเพียงคัมภีร์โจวอี้ที่ยังสืบทอดถึงปัจจุบัน
คัมภีร์อี้จิงถูกใช้อย่างแพร่หลายเรื่อยมาในเอเชียตะวันออก ทั้งประเทศจีน ประเทศเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น ตามการแพร่ของลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋าและฮวงจุ้ย (風水;Fengshui)
อักษร 易 ปรากฏครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซาง พบในอักษรกระดองเต่า ลักษณะคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานสี่ขา หรือที่เรารู้จักกันในนามของกิ้งก่า
หากตีความจากตัวอักษร “อี้” ในอักขรานุกรม《說文解字》สมัยราชวงศ์ฮั่นได้อธิบายความหมายของตัวอักษร “อี้” นี้ ว่าคือคำเดียวกับ อี้ (蜴) และ ซีอี้ (蜥蜴) แปลว่า กิ้งก่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่า กิ้งก่าได้ชื่อว่าเป็นมังกรเปลี่ยนสี ดังนั้น ตัวอักษร “อี้” (易/蜴) จึงอาจเป็นการเปรียบเปรยถึงความเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมดั่งสีสันของกิ้งก่า
หากตีความจากรูปลักษณ์ตัวอักษรอาจหมายถึงดวงตะวันจันทรา(ลักษณะตัวอักษรมีความคล้ายคลึงกับ 月 ในอักษรกระดองเต่าและอักษรทองสัมฤทธิ์)ที่ขึ้นลงเป็นวัฏจักร ในขณะที่ความเห็นอื่นกล่าวว่า “อี้” แปลว่า ง่ายหรือเรียบง่าย และ “อี้” หมายถึง เปี้ยนอี้ (變易) ดังความหมายถึงใต้หล้าสรรพสิ่งล้วนมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการสืบทอดต่อมาด้วยนิยามความหมายของ “อี้” จึงทำให้ “วิถีของอี้” หรือ อี้เต้า (易道) แลดูกว้างใหญ่และครอบคลุมทุกด้าน
ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดนตรีพิชัยสงคราม คณิตศาสตร์ สามารถอธิบายกฎเกณฑ์ของการพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในจักรวาล และเป็นไปตามที่นักปราชญ์ลัทธิขงจื่อใหม่สมัยราชวงศ์ซ่งนาม เฉิงอี๋ (程頤) กล่าวสรุปถึง” โจวอี้”ไว้ว่า “อี้ คือความเปลี่ยนแปลงที่แปรเปลี่ยนไปตามวิถี”
易,變易也,隨時變易以從道也。
[宋]程頤
การยกย่องคัมภีร์ “โจวอี้” ว่าเป็นศาสตร์แห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมกล่าวได้ว่า แกนความคิดหลักหรือหัวใจของอี้จิงในความหมายของการเปลี่ยนแปลงก็คือสัจธรรมที่จีรังถาวร
เป็นหลักวัฏจักรแห่งธรรมชาติดังที่บันทึกไว้คัมภีร์โจวอี้ บทซี่ฉือ 《周易·繫辭》กล่าวถึงแนวคิดหลักว่า “เซิงเซิงจือเว่ยอี้” (生生之謂易) หมายถึง “การก่อเกิดชีวิตไม่รู้จบ”
คำว่า “เซิงเซิง” นั้นหมายถึงการเพิ่มจำนวนของสรรพชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด ดังเช่นที่มีการอธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า “...คำว่า การก่อเกิดชีวิต (เซิงเซิง) หมายถึงการสืบทอดแพร่ขยายชีวิตไม่รู้จบ นักวิชาการมีความเห็นว่า คำว่า “เซิง” ที่เขียนเหมือนกัน 2 ตัว ตัวแรกหมายถึงก่อเกิด คือแก่นแท้ของชีวิต ส่วน “เซิง” ตัวหลังแปลว่าชีวิต เป็นความสามารถ คุณสมบัติ และทิศทางของชีวิต
คุณสมบัติและทิศทางย่อมไม่อาจหลุดไปจากแก่นแท้แห่งชีวิต แต่แก่นแท้แห่งชีวิต หากเอาคุณสมบัติและทิศทางออกไปแล้ว ก็ไม่อาจเรียกว่าชีวิตเช่นกัน ทั้งสองอย่างนี้เกื้อหนุนกัน เป็นการให้อรรถาธิบายอย่างลึกซึ้งถึงธาตุแท้แห่งชีวิต ตามความหมายนี้เราจึงกล่าวได้ว่า โจวอี้ คือ “ศาสตร์แห่งชีวิต” นั่นเอง”
จากการตั้งชื่อ หรือกระทั่งเนื้อหาที่ถูกเขียนบันทึกลงในคัมภีร์ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด ปัญญาของชนชาวจีนในสมัยโบราณที่มีต่อจักรวาล โลก และธรรมชาติ รวมไปถึงวัฎจักรของชีวิต
โฆษณา