5 ก.พ. เวลา 13:36 • ไลฟ์สไตล์

เงินคือปัญหาใหญ่สุดของวัยหนุ่มสาวในปี 2025

ผลสำรวจเผย 61% ของคนรุ่นใหม่เครียดเรื่องเงิน ค่าครองชีพพุ่งสูง แต่กลับมองข้ามทางออกสำคัญ
Intuit แพลตฟอร์มด้านการเงิน ได้เผยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินของคนรุ่นใหม่ในหัวข้อ "Beyond the Budget: How Younger Generations Are Easing Stress with Financial Wellness Habits" สำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-35 ปี จำนวน 2,000 คน ในเดือนธันวาคม 2024 พบว่า
📍ประมาณ 61% ของชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปีรู้สึกเครียดเรื่องการเงิน
📍และ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าความเครียดของพวกเขายิ่งแย่ลงในปีที่ผ่านมา
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดที่ใหญ่คือ
- ค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- ความไม่มั่นคงของตลาดงาน
- ค่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับผู้ที่ระบุว่าเครียดเรื่องการเงิน 32% กล่าวว่าการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด เช่น บิลการแพทย์ การซ่อมรถ และการบำรุงรักษาบ้าน ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินสด
[ ผลสำรวจเผย 44% การจัดการการเงินช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้! ]
ผลสำรวจฉบับเดียวกันยังพบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามนำการบริหารการเงินมาเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และ 44% รายงานว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังจากให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการเงินมากขึ้น
สาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นคือการลดความเครียดจากปัญหาการเงิน โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่มีแผนรองรับ จากการสำรวจของ Intuit พบว่า 32% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าพวกเขายังขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาทางการเงิน
อีกทั้ง 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการจัดการค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเป็นเรื่องท้าทาย และ 29% พบว่าการออมเงินเป็นเรื่องยาก แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นในรายงานของ Bankrate เช่นกัน เพราะแบบสำรวจนั้นพบว่ามีเพียง 32% ของ Millennials (อายุ 29-44 ปี) และ 28% ของ Gen Z (อายุ 18-28 ปี) เท่านั้นที่มีเงินสดพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอย่างน้อย $1,000 (ประมาณ 35,000 บาท)
1
แบบสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักได้ว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาสัมพันธ์กับการบริหารสุขภาพการเงิน แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินมากขึ้นเพื่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
[ เพราะการมีเงินสำรองไว้ ดีกว่าไม่มีเสมอ 😅 ]
สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เครียดเรื่งเงินกันเป็นเพราะตระหนักได้ว่าชีวิตของเรามันช่างเปราะบางและอาจมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินมาทำให้เราตกใจได้เสมอ ไม่ว่าจะจากการต้องการช่างกุญแจเพราะทำกุญแจหาย หรือการถูกให้ออกจากงานโดยไม่ทันคาดคิด
อีกทั้ง ผลสำรวจของ Bankrate บอกว่า 80% กังวลว่าเงินจะไม่พอถ้าขาดรายได้จากงานประจำไป ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อเตรียมตัวคือการมีเงินเก็บและใช้วงเงินเครดิตอย่างระมัดระวัง
“สำหรับกรณีฉุกเฉิน สิ่งสำคัญจริง ๆ คือการมีเงินสำรองเตรียมไว้ เพราะนั่นคือแผนการเงินจริงๆ และถึงแม้เงินเก็บนั้นจะไม่มากพอที่จะช่วยในทุกกรณี แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า” คลิฟฟอร์ด คอร์เนลล์ (Clifford Cornell) นักวางแผนการเงินจาก Bone Fide Wealth ในนิวยอร์ก กล่าว
[ วิธีการเริ่มต้นเก็บเงินกองทุนฉุกเฉิน ]
ไม่ว่าคุณจะสามารถเก็บเงินได้เดือนละ 10% ของรายได้ตามมาตรฐานการเริ่มออมหรือน้อยกว่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มสร้างนิสัยการออมตั้งแต่เนิ่น ๆ หากคุณอยู่ในจุดที่ยังไม่ได้คิดถึงการออมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน นี่คือสิ่งที่คุณสามารถเริ่มต้นได้
✅1. สำรวจ “รายจ่ายต่อเดือน” เพื่อรู้ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ที่ต้องมี
ก่อนอื่นเราต้องเริ่มจากคำถามว่า ‘แต่ละเดือนมีรายจ่ายเท่าไหร่?’ เพราะถ้าคุณรู้รายจ่ายที่แน่นอนของตัวเอง หรือสามารถวางแผนรายจ่ายได้ก็เพียงนำรายจ่ายต่อเดือนคูณด้วย 3 หรือ 6 เพราะหากเราเจ็บตัวหรือต้องออกจากงานกระทันหัน ก็ยังพอมั่นใจได้ว่ายังมีเงินประทังชีวิตไปได้ระยะหนึ่ง
ยกตัวอย่าง
💵รายจ่าย 10,000 บาท :
➡️เงินสำรองฉุกเฉิน = 30,000 - 60,000 บาท
💵รายจ่าย 20,000 บาท :
➡️เงินสำรองฉุกเฉิน = 60,000 - 120,000 บาท
💵รายจ่าย 50,000 บาท :
➡️เงินสำรองฉุกเฉิน = 150,000 - 300,000 บาท
✅2. กัน “รายได้” ลด “รายจ่าย” เพื่อเอามาเก็บ “เงินสำรองฉุกเฉิน”
นั่นคือคำถามที่คุณต้องตอบตามความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเองว่ารายจ่ายที่เป็นอยู่ประหยัดที่สุดแล้ว จากนั้นเราก็ตามหารายจ่ายที่ไม่จำเป็นเช่นไปเที่ยวกับเพื่อน, ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่(ทั้งที่เสื้อผ้าชุดเก่ามีสภาพดีอยู่, ดูหนังหรือกินข้าวกับแฟน เราไม่ได้บอกให้คุณตัดทุกสิ่งออกเลย แต่ลองคำนวณว่าพอจะลดหรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่แทนกันได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนั่นช่วยให้เราเก็บเงินได้มากขึ้น
💵เพิ่มรายได้ 1,000 บาท = อาจไม่การันตีเงินออม (เพราะรายจ่ายอาจเพิ่มขึ้นตาม)
💵ลดรายจ่าย 1,000 บาท = เหลือเงินเก็บออมเพิ่มได้ 1,000 บาท
✅3. เลือกที่อยู่ให้ “เงินสำรองฉุกเฉิน” สำคัญต้อง “มีสภาพคล่อง”
อย่าลืมว่า “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” มีคำว่า ‘ฉุกเฉิน’ แปะอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเงินส่วนนี้ควรถูกเก็บอยู่ในสภาพเงินสดซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด และไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจถึงอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงิน นั่นเพราะเงินก้อนนี้มีจุดประสงค์เผื่อฉุกเฉินเท่านั้น เราขอแนะนำให้เป็นการเก็บเงินไว้โดยการเปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่มีบัตร ATM เพราะนั่นทำให้การถอนเงินยุ่งยากมากขึ้น
✅4. ทำตามเป้าหมาย อย่างมีวินัย = มีเงินสำรองฉุกเฉินได้
เมื่อจำนวนเงินครบตามเป้าแล้ว สิ่งที่ควรโฟกัสเป็นลำดับถัดมาคือการปลดหนี้และเป้าหมายการเก็บออมเงิน (ตามเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่นเพื่อเรียนต่อ, ไปเที่ยวต่างประเทศ, แต่งงาน หรือการเกษียณ) และแน่นอนขณะที่คุณนำเงินไปเก็บออมหรือแม้แต่ลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น หากต้องเจ็บตัวจากการลงทุนแล้วต้องใช้เงินสำรองฉุกเฉิน อย่าลืมนำเงินมาเติมให้เต็มจนครบเท่าเดิมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
#aomMONEY #เป้าหมายการเงิน #เครียดเรื่องเงิน #การเงินส่วนบุคคล #เงินสำรองฉุกเฉิน
โฆษณา