5 ก.พ. เวลา 15:56 • ข่าวรอบโลก

ทรัมป์เสนอยูเครน “ยื่นหมูยื่นแมว”

แลกเปลี่ยน “ความช่วยเหลือจากสหรัฐ” กับ “การเข้าถึงแหล่งแร่แรร์เอิร์ธในยูเครน”
  • แนวคิดนี้เริ่มมาได้ยังไง?
3 กุมภาพันธ์ 2025: ทรัมป์ประกาศว่า เขาวางแผนที่จะเจรจาข้อตกลงกับทางการยูเครนซึ่งจะเชื่อมโยงความช่วยเหลือทางการทหารและการเงินของสหรัฐฯ กับการเข้าถึงแหล่งแร่แรร์เอิร์ธในยูเครนและสิ่งอื่นๆ ให้กับสหรัฐฯ “เรากำลังทุ่มเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ พวกเขามีแร่เหล่านี้จำนวนมาก และผมต้องการมัน เชื่อว่าพวกเขา (เคียฟ) ก็เต็มใจที่จะแลก” ทรัมป์กล่าว [1][2]
ทรัมป์ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้นนี้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของเซเลนสกีตอบรับข้อเสนอนี้ใน “เชิงบวก” เจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเครนที่ไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่งบอกกับนิวยอร์กไทม์สว่า การรับประกันความมั่นคงของสหรัฐฯ อาจช่วยให้เคียฟปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าจากการถูกรัสเซียยึดได้ [3]
1
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับเซเลนสกีอีกคนบอกกับไฟแนนเชียลไทม์สว่าข้อเสนอของทรัมป์สอดคล้องกับ “แผนแห่งชัยชนะ” ที่ประธานาธิบดียูเครนเสนอต่อพันธมิตรตะวันตกของเคียฟในปี 2024 [2]
เครดิตภาพ: WSJ
  • ยูเครนมีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธด้วยเหรอ? แล้วมีตัวไหนบ้าง?
แร่โลหะหายาก (Rare earth metals: REM) เป็นกลุ่มของธาตุทางเคมี 17 ชนิด ซึ่งทั้งหมดเป็นโลหะสีขาวเงินที่มีคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ถูกเรียกรวมๆ ทั่วไปว่า “แรร์เอิร์ธ” เนื่องจากพบได้ค่อนข้างน้อยบนเปลือกโลก (แต่ก็ไม่ได้หายากกว่าโลหะชนิดอื่นๆ) และก่อตัวเป็นออกไซด์ที่ทนไฟซึ่งแทบจะไม่ละลายในน้ำ
แรร์เอิร์ธถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวัดความแม่นยำ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ วิศวกรรม อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเลียม โลหะวิทยา และภาคส่วนอื่นๆ อีกมากมาย การใช้งานที่หลากหลายทำให้มันเป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคเศรษฐกิจชั้นนำของโลก
อย่างไรก็ตามยูเครนไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีแหล่งแร่ REM ที่ใหญ่ที่สุด (แม้ว่าจะมีแหล่งสำรองที่ยังไม่ค้นพบ โดยแหล่งสำรองที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองในภูมิภาคลูฮันสค์และโดเนตสค์) เป็นไปได้ว่าแผนของทรัมป์ขยายออกไปไกลกว่าแค่แหล่งแร่ REM ไปจนถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่ได้รับการจัดประเภทว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติของสหรัฐฯ [4][5]
1
รายการที่ครอบคลุมนี้รวมถึงแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์หลายสิบชนิด และยูเครนมีสิ่งดีๆ มากมายในเรื่องนี้ โดยมีแหล่งแร่หายากไม่น้อยเลย เช่น “ลิเธียม” ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV (แบตเตอรี) “ไทเทเนียม” ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ยูเครนถือเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดโลหะชนิดนี้ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่ทนทาน ใช้กันอย่างแพร่หลายในเทคโนโลยีพลเรือนและการทหาร และอุตสาหกรรมอื่นๆ คือคิดเป็นประมาณ 5% ของแร่ไทเทเนียมที่ใช้ในสายการผลิตทั่วโลก [6][7]
เครดิตภาพ: WION
  • สหรัฐฯ จะลงทุนในยูเครนท่ามกลางสงคราม?
แนวคิด “ความช่วยเหลือแลกทรัพยากร” แม้จะมีต้นทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสงคราม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในขณะที่เขาวิจารณ์ความช่วยเหลือแบบฟรีๆ เหมือนเอาเงินภาษีคนอเมริกันไปละลายในยูเครนของรัฐบาลไบเดน วาระของเขาให้ความสำคัญกับ “ประสิทธิภาพ” ในนโยบายต่างประเทศ (ได้ต้องคุ้มเสีย) คล้ายกับเคสนี้ที่ลงทุนเรื่องส่งอาวุธให้แต่คุณต้องส่งแร่ที่เป็นปัจจัยทางยุทธศาสตร์ให้
เหตุผลต่อมาที่ทรัมป์สนใจคือ การเสริมสร้างตำแหน่งของอเมริกาใน “การแข่งขันระดับโลกกับจีน” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขาผลักดันวาระการเพิ่มอุปทานแรร์เอิร์ธ เขาใช้เหตุผลเดียวกันนี้เพื่อโต้แย้งว่า สหรัฐฯ ควรยึดกรีนแลนด์ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ตัวนี้ ในขณะที่จีนมีคลังสำรองโลหะหายากที่ใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เกือบครึ่งหนึ่งของโลก [4]
1
ในขณะเดียวกันตามข้อมูลของเพนตากอน แม่เหล็กที่ทำจากแร่โลหะเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องบินขับไล่ F-35 ของสหรัฐฯ เรือพิฆาต Arleigh Burke-class และเรือดำน้ำนิวเคลียร์ Virginia-class ไม่ต้องพูดถึงขีปนาวุธร่อน Tomahawk โดรน ระเบิดนำวิถี และอาวุธประเภทอื่นๆ อีกมากมาย [8]
เครดิตภาพ: Graphic News
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพนตากอนได้ใช้เงินไปเกือบ 440 ล้านดอลลาร์ในการนำเข้าแรร์เอิร์ธจากมิตรประเทศ และส่งเสริมการถลุงแร่กลุ่มดังกล่าวภายในประเทศ การขยายห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ด้วยการขนส่งเพิ่มเติมจากยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักลงทุนชาวอเมริกันสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ จึงถือเป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าใจได้จากมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์
ตรรกะเดียวกันนี้ใช้ได้กับลิเธียม (ก่อนสงครามในยูเครน จีนยังพยายามเข้าสู่ภาคส่วนลิเธียมของยูเครน) ไทเทเนียม (ซึ่งกำลังการผลิตของสหรัฐฯ มีจำกัด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนเป็นอย่างมาก และจนถึงปี 2022 ก็ต้องพึ่งพาอุปทานจากรัสเซีย) [9][10][11]
  • บทสรุปส่งท้าย
เซเลนสกีคงมองว่านี่เขากำลังชนะอยู่เล็กๆ เช่นกัน ประการแรก: ข้อตกลงถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนจากประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารและการเงินต่อไป ประการที่สอง: ทรัมป์ได้ให้การรับรองประเด็นสำคัญประการหนึ่งใน “แผนแห่งชัยชนะ” ของเซเลนสกีที่ออกมาป่าวประกาศเมื่อกันยายน 2024 ในระหว่างการประชุมกับทรัมป์ เขาแสดงความเปิดกว้างในการอนุญาตให้อเมริกาเข้าถึงแหล่งทรัพยากร (รวมถึงแรร์เอิร์ธ) ถ้าหากช่วยปกป้องยูเครนโดยการส่งอาวุธและการคว่ำบาตรรัสเซีย [12]
ธันวาคมปีก่อน คณะผู้แทนรัฐบาลยูเครนได้จัดการประชุมหลายครั้งกับผู้นำธุรกิจชาวอเมริกันในกรุงวอชิงตัน โดยนำเสนอข้อเสนอเฉพาะเจาะจงสำหรับการซื้อใบอนุญาตการขุดแร่แรร์เอิร์ธในยูเครน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านความร่วมมือกับผู้ถือใบอนุญาตที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกันข้อตกลงเหล่านี้ยังคงขึ้นอยู่กับไม่เพียงแต่การเจรจากับนักลงทุนที่มีศักยภาพเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสำเร็จของความพยายามของทรัมป์ในการไกล่เกลี่ยสันติภาพด้วย [3]
เครดิตภาพ: The Economic Times
เรียบเรียงโดย Right Style
5th Feb 2025
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Financial Times>
โฆษณา