9 ก.พ. เวลา 07:00 • นิยาย เรื่องสั้น

ตั้งชื่อนิยาย ทำไมมันยากจัง !?!

สวัสดีค่ะ เคยติดปัญหาเรื่องการตั้งชื่อนิยายกันมั้ยคะ บางทีเราเขียนนิยายจนจบเล่มแล้วก็ยังไม่รู้จะตั้งชื่อนิยายของเราอย่างไรดีด้วยซ้ำ หรือหลายครั้งเราอยากจะตั้งชื่อที่จะสื่อให้คนอ่านเข้าใจว่าเราเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่ก็ยังรู้สึกไม่ใช่ วันนี้พี่พราวเลยจะมาแนะนำวิธีเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ง่ายขึ้นกันค่ะ
👉 ชื่อนิยาย คือสิ่งแรกที่เราจะนำเสนอให้กับคนอ่าน มันมาก่อนการอ่านเรื่องย่อ คำโปรย หรือการขึ้นบทนำด้วยซ้ำ สังเกตได้ว่า ‘ชื่อ’ คือสิ่งที่ต้องเด่นชัดที่หน้าปก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือ E-book และเพราะมันคือสิ่งแรกที่คนอ่านเห็นนี่ล่ะ ทำให้หลายครั้งนักเขียนใช้เวลากับมันมากจนจมไปกับความคิดและเลือกไม่ถูก
อย่างนั้นเราลองมาดูกันว่าอะไรสำคัญกับนิยายของเรามากที่สุดกันค่ะ
📌 สถานที่
หากนิยายเราดำเนินเรื่องด้วยสถานที่ซ้ำ ๆ ก็เป็นไปได้ที่เราจะเอาสถานที่นั้นมาใช้ตั้งชื่อนิยายได้ ยกตัวอย่างเช่น
‘บ้านทรายทอง’ ตัวนิยายจะเน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้เป็นหลัก
‘ห้องหุ่น’ เพราะในเรื่องอธิบายเกี่ยวกับบ้านที่มีห้องห้องหนึ่ง เก็บหุ่นขนาดเท่ามนุษย์ไว้และเป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง
📌 ห้วงเวลา
อีกสิ่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้ก็คือการใช้เรื่องเกี่ยวกับเวลามาเป็นตัวตั้งเรื่อง อย่างเช่น
นิยายที่อยู่ในประเทศอังกฤษ เดินเรื่องด้วยตัวละครหลัก เราก็นำมาใช้ตั้งชื่อเป็น ‘1880 วัตสัน&โฮล์ม’
นิยายที่เล่าเรื่องต่างยุคต่างสมัยในอดีต ย้อนกลับไปเพื่อดูชาติก่อนของพระนาง ก็ตั้งชื่อว่า ‘แต่ปางก่อนมา
📌 ชื่อตัวละครหลัก
หากนิยายของคุณให้ความสำคัญกับตัวละครหลัก เป็นการใช้เรื่องราวของเขามาเขียนเป็นนิยาย ก็อาจจะนำชื่อเขามาใช้ได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น
‘แฮรี่ พอตเตอร์’
หรือนิยายไทยอย่าง ‘การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์’ หรือ ‘ภาม คนรับจ้างตายมา
📌 ไอเท็ม หรือของสำคัญของเรื่อง
บางครั้งหากนิยายที่เราเขียนมีการเชื่อมต่อกันด้วยสิ่งของ สัตว์ หรือไอเทมชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญมากจนกลายเป็นภาพจำให้กับนิยายของเราได้ ก็นำสิ่งนั้นมาใช้ เช่น
นิยายที่เกี่ยวกับความรักต่างวัยของพระนาง ที่นางเอกได้วาดภาพให้กับพระเอกก่อนเสียชีวิต นำมาสู่ชื่อเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’
นิยายที่ตัวละครหลักมีภารกิจต้องนำเอาแหวนไปทำลายทิ้งก็ถูกตั้งชื่อให้เป็น ‘The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (มหันตภัยแห่งแหวน)มา
📌 แต่ถ้าหากไม่มีสิ่งไหนด้านบนให้เราหยิบมาใช้เลย หรือทุกอย่างมีความสำคัญมากพอกันไปหมด ลองใช้แล้วยังไม่โดนใจ เราก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยการใช้ ความรู้สึกเมื่อเราได้อ่านนิยายเรื่องนี้ มาเป็นชื่อนิยายของเราเลยก็ได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
นิยายที่เล่าเรื่องตัวละครที่ทำผิดพลาด กว่าจะรู้ทุกอย่างก็เมื่อสายไป เราจึงตั้งชื่อเรื่องว่า ‘กว่าจะรู้เดียงสา’
หรือนิยายโรแมนติกที่หลงรักคนที่ตัวเองจำเป็นต้องแต่งงานด้วย อย่าง ‘อกเกือบหักแอบรักคุณสามีมา
นี่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาภาวะสมองตีบตันตอนตั้งชื่อเรื่องนะคะ ลองนำไปใช้กันได้ อาจจะลองตั้งมาแบบตรง ๆ ก่อนจะนำมาดัดคำให้ดี เพิ่มความยาวของชื่อนิยายได้ถ้ายิ่งอ่านยิ่งน่าสนใจ
💌 ที่สำคัญอย่าลืมนะคะว่าชื่อนิยายของเราจะติดกับเรื่องของเราไปตลอด และต่อให้เปลี่ยนไปเป็นภาพยนตร์หรือละคร มันก็จะยังคงอยู่ในฐานะบทประพันธ์เสมอ ดังนั้นยิ่งทำภาพจำได้เท่าไร นิยายของเราก็มีสิทธิ์สะดุดตาเพื่อพาเนื้อเรื่องไปสะดุดใจคนอ่านได้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ
โฆษณา