6 ก.พ. เวลา 09:45

KKP มองเศรษฐกิจไทย 2568 ชะลอตัว ท่องเที่ยวแผ่ว-หนี้ครัวเรือนกดดัน

จับตานโยบายสหรัฐฯ กระทบการค้า คาดโตเพียง 2.6%
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Financial Group) เผยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม แรงส่งนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวกลับมาเกือบปกติของภาคท่องเที่ยว
ในขณะที่ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและภาคอสังหาริมทรัพย์
1
ด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด และอาเซียนเองก็เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ทำให้ไทยและอาเซียนอาจตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และส่งผลต่อภาคการค้าไทยได้ ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบแล้ว
ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษีและมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุน จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและเจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีไม่แน่นอน ดร.พิพัฒน์ มองว่า การใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง นอกจากนี้ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคาดว่าน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังกำลังมีมากขึ้นและหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของ GDP รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่าจะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ และเนื่องจากระดับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ตลอดจนความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด
โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย ภายใต้เจตนารมณ์มุ่งมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com
1
โฆษณา