6 ก.พ. เวลา 09:07 • การเมือง

หน่วยงานรัฐ เกิดได้ ตายไม่ได้ แต่คนที่ต้องจ่ายคือผู้เสียภาษี

ผ่านมาเห็นศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ทั้งๆ ที่ในชุมแพและอำเภอใกล้เคียงปลูกข้าวน้อยมาก ส่วนใหญ่ปลูกอ้อย ทำให้คิดถึงหน่วยงานรัฐอีกหลายที่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะบริบทของพื้นที่เปลี่ยนไป โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป แต่รัฐก็ยังคงหน่วยงานเหล่านั้นไว้ เพียงเพื่อเป็นฐานอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงาน ให้มีอำนาจและกินเงินเดือนสูงๆ จากภาษีของประชาชน
ตัวอย่างหน่วยงานที่ผมคิดได้เร็วๆ ไล่ตามกระทรวง
กระทรวงเกษตร
- ศูนย์วิจัยข้าวในจังหวัดหรือพื้นที่ที่ปลูกข้าวน้อยแล้ว มีไว้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เช่น ชุมแพ พัทลุง นครศรีธรรมราช กระบี่ ปัตตานี
- เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ในพื้นที่ที่เกือบจะไม่มีเกษตรพืชเหลืออยู่แล้ว หรือมีอยู่แต่น้อยมาก มีไว้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร อำเภอหาดใหญ่ ภูเก็ต ตำบลที่เป็นเขตเมืองในทุกจังหวัด
- ปศุสัตว์จังหวัด ในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์เหลืออยู่แล้ว เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี่ สมุทรสาคร ภูเก็ต และอีกหลายจังหวัด
- สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดในจังหวัดที่มีการทำเกษตรพืชน้อย เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร
- กรมหม่อนไหม สามารถยุบเป็นส่วนหนึ่งของกรมอื่นได้ โดยภารกิจเดิมยังเหมือนเดิม แต่การยุบจะทำให้มีการแชร์ทรัพยากรกับหน่วยงานอื่นและเกิดการประหยัดมากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุข
- สาธารณสุขอำเภอ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องเก็บสาธารณสุขไว้ให้แปลืองงบ เอาคนเข้ามารวมศูนย์ไว้ตรงกลางแล้วช่วยกันทำงานในส่วนที่ขาดคนดีกว่า
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะน่าจะทำงานร่วมกันกับกรมวิทยาศาสตร์อื่นๆ ได้ เช่นกรมวิทยาศาสตร์บริการ สวทช. และอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องแยกออกมาเป็นเฉพาะเรื่องการแพทย์ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันกับการประหยัดจากขนาด การประหยัดจากสโคปงาน จะทำให้การรวมกันดีกว่าการแยกกัน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ป่าไม้จังหวัด ในจังหวัดที่ไม่มีป่าไม้หรือมีเพียงน้อยนิด
ยุบกระทรวงศึกษา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกีฬา กระทรวง อว. ในส่วนอุดมศึกษา ให้เหลือเพียง กระทรวงเพื่อการพัฒนามนุษย์ และยุบหน่วยงานที่โดยหลักการแล้ว ไม่ว่าจะแก้ยังไงก็ไม่สามารถทำงานได้คุ้มกับรายจ่าย ออกไป แล้วให้เอกชนเข้ามาทำแทนโดยรัฐเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้กำกับ และประชาชนไม่ต้องมีรายจ่ายเพิ่ม อาจน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้จะดำเนินงานโดยเอกชน ให้ทุกอย่างปรับตามบริบทของเศรษฐกิจ สังคม ทั้งของประเทศและของโลกได้ ไม่ตายตัวดังเช่นกรณีเป็นของรัฐ เช่น
- สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาในสังกัด ให้เอกชนทำแทน รัฐทำให้เฉพาะกลุ่มที่หลุดออกมา
- สำนักงานการอาชีวศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด ให้นายจ้างทำแทน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ทำอย่างเดิมเสียเวลาเด็กไปเรียน
- สำนักงานการอุดมศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด หลายสาขาให้ผู้นำเทคโนโลยีหรือเอกชนทำแทนได้ เพราะความรู้เปลี่ยนเร็ว ไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยตึก อาชีพโลกยุคใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม ฝึกออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนเดิม เน้นฝึกให้เป็นโดยผู้นำเทคโนโลยี ผู้นำทางความรู้ ไม่ต้องมีปริญญา แต่ต้องมีความสามารถและทักษะ แต่หากยังต้องคงสถานที่ไว้ก็มีเฉพาะในด้านที่จำเป็นสำหรับการฝึกและการพบปะ
- สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เลิกให้เงินเดือนกับคนที่เอาเวลาราชการจำนวนมากไปทำงานส่วนตัว การศึกษานอกระบบปัจจุบันสามารถหาได้จากโลกออนไลน์ ต้องการเพียงการแนะนำ ไม่จำเป็นต้องมีครู กศน. แบบเดิมที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน
- ยุบหลายกรมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ไปทำหน้าที่พัฒนาคนทุกกลุ่มร่วมกับหน่วยงานอื่น ไม่จำเป็นต้องแยกออกมาให้สิ้นเปลืองงบ ส่วนสวัสดิการสังคม ถ้าเปลี่ยนไปใช้ระบบ negative tax และประกันสังคมให้ครอบคลุม ก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และเมื่อไม่ต้องมีกระทรวง พม. ก็ยุบ พม.ประจำจังหวัดออกไปได้
- กระทรวงกีฬาก็เช่นเดียวกัน เพราะมีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ร่วมกันทำได้ ไม่จำเป็นต้องแยกออกมาให้เปลืองงบ
ที่จริงมีอีกหลายหน่วยงาน โดยใช้หลักการง่ายๆ คือ ถ้าหน่วยงานไหนมีเงินที่ต้องจ่ายมากกว่าประโยชน์ที่ได้ (ให้นักวิชาการมาคำนวนให้) ก็ให้พิจารณายุบเลิกหรือยุบรวม แล้วโอนงาน หรือ ปรับงาน ให้หน่วยงานอื่นหรือหน่วยงานที่ไปยุบรวม เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้คุ้มกับประโยชน์ที่ได้ ความคิดนี้มักถูกต่อต้านโดยใช้ความเห็นว่า งานภาครัฐไม่ต้องการกำไร ซึ่งก็เห็นด้วย แต่ก็ต้องไม่ใช้จ่ายทั้งที่ไม่คุ้ม แนวคิดนี้ สังคมจะยังได้รับการบริการเหมือนเดิม หรือแม้แต่ดีขึ้น โดยรัฐมีรายจ่ายน้อยลง
แม้จะอยาก list ให้ครบทุกหน่วยงาน แต่คงต้องใช้เวลามาก จึงต้อง list ไว้เท่าที่คิดออกก่อน แต่ที่อดไม่ได้ต้องทิ้งท้ายไว้คือหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย
- ผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานจังหวัด แล้วโอนคนและงานให้ อบจ. เพราะงานผู้ว่าส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่งานเอาใจนาย อบจ.ทำแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งคนมาจากส่วนกลาง และไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าไว้ freeze นายก อบจ.
- หน่วยงานภูมิภาคของทุกกระทรวง ที่ขึ้นต้นด้วยสำนักงานและลงท้ายด้วยจังหวัด.... ควรโอนงานให้ อบจ. ทำแทนการรับงานที่ส่งมาให้จากส่วนกลาง ซึ่งไม่ตอบโจทย์ในพื้นที่
- อบต. ทุก อบต. และเทศบาลขนาดเล็กทุกเทศบาล เพราะทำให้เกิดการเกี่ยงงานกันระหว่างพื้นที่ และต้องใช้คนทำงานเดียวกันทำจำนวนงานที่ซ้ำกัน ไม่ประหยัด สามารถรวมกันและลดคนทำงานนั้นได้
- กรมโยธาธิการและผังเมือง ควรให้พื้นที่เป็นคนดูแล ไม่ใช่คิดงานจากส่วนกลาง ซึ่งนอกจากไม่ตอบโจทย์แล้ว ยังทำให้การอนุมัติเพื่อการพัฒนาพื้นที่เชื่องช้า ไม่ทันความต้องการ
และสุดท้าย สำนักงบประมาณและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งสามารถลดขนาดลงได้จำนวนมาก เพียงแค่เปลี่ยน mind set จากการป้องกันการโกง มาเป็น สร้างแรงจูงใจไม่ให้โกง และกระจายอำนาจการพิจารณางบไปยังท้องถิ่นโดยไม่ต้องตามไปจับผิด แต่หากลไกที่ทำให้การทำผิดน้อยลงเองได้โดยอัตโนมัต โดยใช้เทคโนโลยีเช่น blockchain และ CBDC (central bank digital currency) เข้ามาติดตามเส้นทางของเงินแทน
ย้ำ การยุบหน่วยงาน ไม่ได้หมายถึงการไล่คนออกเสมอไป การยุบหน่วยงานหมายถึงการทำให้คนเดิมทำงานได้มากขึ้น และการให้คนเดิมทำงานได้มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานหนักขึ้นเสมอไป เพราะการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้ทำงานได้มากขึ้นแม้ทำงานหนักน้อยลง แล้วใช้คนที่ถูกเอางานออกไปไปทำงานใหม่แทน ประเทศจะได้ประโยชน์มากขึ้นมาก
โฆษณา