8 ก.พ. เวลา 02:38 • ธุรกิจ

บทเรียนธุรกิจครอบครัวที่บริษัทมหาชนต้องรู้

แม้หลายคนจะมองว่าระบบทุนนิยมขับเคลื่อนโดยบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ แต่ในความจริง ธุรกิจครอบครัวยังคงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดเด่นด้านการมองการณ์ไกลและความรับผิดชอบที่มาพร้อมความเป็นเจ้าของ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น การสืบทอดกิจการหรือความขัดแย้งในครอบครัว ธุรกิจครอบครัวได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนได้ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักบทบาทสำคัญและบทเรียนที่องค์กรอื่นสามารถนำไปปรับใช้ได้
🔺ทฤษฎีบริษัทในโลกสมัยใหม่: เมื่อแนวคิดเดิมเริ่มล้าหลัง🔺
ทฤษฎีองค์การสมัยใหม่มักมุ่งเน้นไปที่บริษัทมหาชน โดยให้ความสำคัญกับต้นทุนการทำธุรกรรมและการบริหารงานระยะสั้น แต่กลับมองข้ามเรื่องสำคัญอย่างการส่งต่อธุรกิจให้คนรุ่นถัดไป ซึ่งไม่ได้สะท้อนความจริงในเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขับเคลื่อนด้วยธุรกิจครอบครัวในหลายประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
แนวคิดที่ยกย่องบริษัทมหาชนอาจเหมาะสมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุด ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงขับเคลื่อนโดยกลุ่มธุรกิจครอบครัว แม้ว่าบางกลุ่มต้องปรับตัว แต่อีกหลายกลุ่มก็มีความโดดเด่นในเรื่องการกล้ารับความเสี่ยง และการวางแผนระยะยาว ทำให้พร้อมประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่
รายงานพิเศษจาก Economist ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวไม่ใช่องค์กรธุรกิจที่ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มรูปแบบเช่นบริษัทมหาชน
แต่เป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยจุดเด่นอย่างการมองการณ์ไกล และการควบคุมบริหารอย่างใกล้ชิด แม้จะเผชิญความ ท้าทาย เช่น การสืบทอดกิจการหรือความขัดแย้งในครอบครัว แต่พวกเขาก็มักมีวิธีจัดการที่เหมาะสมในแบบของตนเอง
ด้วยจำนวนและบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจครอบครัวจึงควรได้รับความสนใจมากขึ้น
🔺เมื่อธุรกิจครอบครัวคือหัวใจของระบบทุนนิยม🔺
นักวิเคราะห์ธุรกิจควรลองใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อขยายมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพาหนังสือชี้ชวนบริษัทหรือรายงานนักวิเคราะห์ เช่น การศึกษาตลาดการแต่งงานผ่านวรรณกรรม Pride and Prejudice ของ Jane Austen หรือการติดตามข่าวซุบซิบในสังคม เพราะชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลวของผู้ประกอบการ อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำลายอาณาจักรธุรกิจทั้งหมดลงได้
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ควรจับตา คือ ปัญหาการสืบทอดกิจการ ซึ่งกำลังเกิดการถ่ายโอนอำนาจ และความมั่งคั่งครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์มากนักในเรื่องนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือชะตากรรมของบริษัทใหญ่อย่าง Samsung และ Hutchison Whampoa ที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญของการสืบทอดกิจการครอบครัว รวมถึงอีกหลายพันบริษัทที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
Vikram Bhalla จาก BCG (Boston and Consulting Group) แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาลงทุนในบริษัทครอบครัวหลังจากที่ CEO คนใหม่ดำรงตำแหน่งได้ 4-5 ปี เพราะช่วงเวลานี้ผู้บริหารจะปรับตัวเข้าที่ และมีโอกาสบริหารงานต่อเนื่องได้อย่างมั่นคงในทศวรรษถัดไป
🔺นักวิเคราะห์ธุรกิจกับมุมมองใหม่ต่อธุรกิจครอบครัว🔺
นักวิเคราะห์ธุรกิจมักเชื่อว่าการรวมกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Conglomerates) จะลดลงเมื่อเศรษฐกิจเติบโตและตลาดพัฒนา แต่ในความเป็นจริง การรวมกลุ่มเหล่านี้ยังคงขับเคลื่อนด้วยความต้องการของครอบครัวที่อยากสร้างโอกาสให้ลูกหลาน นอกจากนี้ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions) ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นแรงผลักดันจากตลาด บางครั้งก็เกิดจาก "สายสัมพันธ์ของครอบครัว"
เช่น LVMH ที่สามารถซื้อบริษัทเจ้าของสินค้าหรูหราหลายแห่งได้ เพราะผู้ขายที่เป็นเจ้าของธุรกิจ รู้สึกสบายใจที่จะขายให้บริษัทครอบครัว (LVMH) มากกว่าบริษัทมหาชนที่ไม่มีเจ้าของที่แท้จริง เช่นเดียวกับ Estée Lauder ที่ใช้ กลยุทธ์นี้ในการเข้าซื้อกิจการบริษัทความงามที่ดำเนินการโดยครอบครัวหลายแห่ง
ในเดือนพฤศจิกายน 2012 Harvard Business Review ตีพิมพ์บทความ "What You Can Learn from Family Business" ซึ่งเปลี่ยนมุมมองของวงการบริหารจัดการที่มีต่อธุรกิจครอบครัว จากที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องมือสมัครเล่น มาเป็นการยอมรับถึงคุณค่าและความสำคัญ บทความนี้นำเสนอโดยที่ปรึกษาชั้นนำจาก BCG อย่าง Nicolas Kachaner, George Stalk และ Alain Bloch ที่ช่วยชี้ให้เห็นบทเรียนสำคัญจากธุรกิจครอบครัว
🔺บทเรียนสำคัญจากธุรกิจครอบครัวที่บริษัทมหาชนควรรู้🔺
กลุ่มนักวิเคราะห์จาก BCG ชี้ให้เห็นว่าบริษัทมหาชนสามารถเรียนรู้หลายสิ่งจากธุรกิจครอบครัว เช่น การมองการณ์ไกลในระยะยาวและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แม้ธุรกิจครอบครัวอาจจะไม่โดดเด่นเรื่องการดึงดูดบุคลากรระดับสูง แต่สามารถสร้างทีมงานที่จงรักภักดี มีประสิทธิภาพ และร่วมงานกันได้ยาวนาน
พวกเขายังยกตัวอย่างบริษัทมหาชนที่มีแนวทางคล้ายธุรกิจครอบครัว เช่น Nestlé บริษัทอาหารจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่อาจไม่ได้โดดเด่นในช่วงเศรษฐกิจดี แต่สามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในช่วงวิกฤต หรือ Essilor ผู้นำด้านเลนส์สายตาระดับโลก ที่เน้นควบคุมต้นทุน มีหนี้สินต่ำ และมีพนักงานลาออกน้อย
อย่างไรก็ตาม พวกเขามองข้ามข้อได้เปรียบสำคัญอีกประการของธุรกิจครอบครัว นั่นก็คือ "การเล่าเรื่อง" (Storytelling) เกี่ยวกับธุรกิจตนเอง เช่น Berry Bros. & Rudd ที่ใช้เรื่องราวประวัติศาสตร์ เช่น การขายไวน์ให้ Pitt the Younger และ Lord Byron เพื่อสร้างเอกลักษณ์ ซึ่งธุรกิจใหม่ ๆ ยากที่จะเลียนแบบได้
ในยุคที่บริษัทไม่ได้แข่งขันแค่ขายสินค้า แต่ยังขาย "ความหมาย" ธุรกิจครอบครัวจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
🔺ธุรกิจครอบครัว: ความสำเร็จที่ท้าทายทฤษฎีองค์การสมัยใหม่🔺
ความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวได้ท้าทาย “ทฤษฎีองค์การ” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ โดยทฤษฎีนี้มองว่าบริษัทมหาชนคือรูปแบบที่เป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์กรธุรกิจ
ในปี 1932 Adolph Berle และ Gardiner Means ตีพิมพ์หนังสือ The Modern Corporation and Private Property ที่ระบุว่าบริษัทมหาชนกำลังเข้ามาแทนที่ธุรกิจครอบครัวในฐานะเสาหลักของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญในบริษัทมหาชน คือความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น (เจ้าของ) และผู้จัดการมืออาชีพที่บริหารงานในแต่ละวัน
Ronald Coase เสนอในหนังสือ The Nature of the Firm ว่า บริษัทมีเหตุผลในการดำรงอยู่ก็ต่อเมื่อ ต้นทุนการดำเนินงานภายในบริษัทต่ำกว่าการจ้างงานภายนอก
ต่อมา Michael Jensen ได้ต่อยอดแนวคิดของ Berle และ Means โดยพัฒนาเป็น ทฤษฎีตัวแทน (Agency Theory) ซึ่งอธิบายว่าผู้ถือหุ้นต้องมีวิธีป้องกันไม่ให้ผู้จัดการสร้างความเสียหายให้บริษัท เช่น การทำงานที่ไม่เต็มที่ หรือการขยายกิจการโดยไม่มีเหตุผล Jensen เสนอว่าแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการทำให้ผู้จัดการคิดเหมือนเจ้าของบริษัท ด้วยการให้พวกเขามีส่วนแบ่งในหุ้น ซึ่งจะกระตุ้นความรับผิดชอบและความมุ่งมั่นต่อผลประโยชน์ขององค์กร
🔺ธุรกิจครอบครัว: การผสมผสานที่ทรงพลังระหว่างธุรกิจและความสัมพันธ์🔺
ความแพร่หลายของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกสะท้อนว่า นักทฤษฎีองค์กรควรมองในมุมของกลุ่มบริษัท มากกว่าจำกัดมุมมองเฉพาะบริษัทเดี่ยวๆ เช่นที่ Berle, Means และ Coase ศึกษาไว้ในบริบทของประเทศตะวันตก ซึ่งจำกัดมิติของความเข้าใจ
ประเด็นสำคัญที่ควรได้รับความสนใจมากขึ้นคือ "ความเป็นเจ้าของ" และ "การสืบทอดกิจการ" ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องความขัดแย้งระหว่างเจ้าของและผู้จัดการ หรือต้นทุนการบริหารงาน
ธุรกิจครอบครัวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสืบทอดกิจการ เมื่อครอบครัวสร้างและพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป รวมถึงบทบาทของ "ความเป็นเจ้าของ" ซึ่งช่วยให้ครอบครัวมีมุมมองที่ชัดเจน และการตัดสินใจที่มั่นคงกว่าผู้จัดการมืออาชีพที่เข้ามาบริหารเพียงชั่วคราว
แม้ความเป็นเจ้าของและการสืบทอดกิจการจะมาพร้อมปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ความขัดแย้งเรื่องมรดกหรือเจ้าของที่ขาดความรับผิดชอบ แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับคงทน และมีบทบาทสำคัญในหลายแวดวง ตั้งแต่การเมือง การศึกษา กีฬา ไปจนถึงบันเทิง เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจเป็นการแข่งกันระหว่างตระกูลคลินตันและบุช หรือแม้แต่วงการเพลงแร็ปที่เริ่มกลายเป็นธุรกิจครอบครัว
ในอดีตนักคิดสมัยใหม่ เช่น Ferdinand Tönnies และ Max Weber เชื่อว่าครอบครัวจะลดบทบาทในยุคที่สังคมพัฒนาสู่ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นส่วนตัว และการจัดสรรงานตามกฎเกณฑ์ แต่ในความเป็นจริง ครอบครัวยังคงทรงพลัง ไม่เพียงส่งต่อทรัพย์สิน แต่ยังรวมถึงวัฒนธรรม และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป
เมื่อผสานบทบาทของครอบครัวเข้ากับบริษัท องค์กรเหล่านี้จะยิ่งทรงพลัง เช่น ตระกูล Rothschild และ Baring ที่มีบทบาทในการสร้างระบบทุนนิยมยุคใหม่ หรือครอบครัว Godrej (กลุ่มธุรกิจในอินเดีย) และ Lee (กลุ่มธุรกิจในฮ่องกง) ที่กำลังเป็นผู้นำในการปรับตัวระบบทุนนิยมให้สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์
อ้างอิง: The Economist. (2015). “Survival of the fittest.”
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย: คุณนวพล วิริยะกุลกิจ
ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย
โฆษณา