8 ก.พ. เวลา 11:06 • ข่าว

เจตนาดี แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ไม่ใช่จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคดีสำคัญสำหรับผู้บริโภค และฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารของประเทศไทย คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ศาลชั้นต้น) ได้อ่านคำพิพากษาคดี บริษัทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวพิรงรอง รามสูต กรณี กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มิให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม True ID
.
ข่าวหลายสำนักนำเสนอเพียงด้านเดียวคือ ด้านที่เป็นการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่ได้เสนอข่าวการประพฤติมิชอบหรือทุจริตเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองหรืออำนาจบริหารของหน่วยงานรัฐ
.
หลายคนอ่านแต่ข่าว หรือซ้ำร้ายบางคนอ่านแต่หัวข้อข่าวเสียด้วยซ้ำ แล้วด่าศาลเสียหาย โดยไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งในภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ด่าเอามันส์” ซึ่งแท้ที่จริงควรจะต้องอ่านคำพิพากษาของศาลไม่ว่าจะเป็นฉบับเต็มหรือฉบับย่อ หรืออย่างน้อยต้องอ่านข่าวของศาลที่ได้นำเสนอออกมา
.
แต่กรณีดังกล่าว ก็ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลออกมาแต่อย่างใด คงมีเพียงข่าวของศาล แต่ข่าวของศาลก็ให้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดในคดีพอสมควร เพียงพอที่จะรู้ได้ว่า เหตุใดศาลจึงตัดสินลงโทษจำเลย
.
จากข่าวของศาลให้ข้อเท็จจริงตามรูปความว่า
.
“… ต่อมาวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๖ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ ซึ่งจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยได้มีการต่อว่าและตำหนิฝ่ายเลขานุการที่มีการจัดทำหนังสือ โดยไม่ได้ระบุหรือเจาะจงถึงการให้บริการ True ID ของโจทก์ และในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยระบุเจาะจงถึงบริการ True ID ของโจทก์
.
แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่าที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ และเห็นควรมีหนังสือแจ้งให้ผู้บริการกรจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการประชุมคณะอนุกรรมการครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ …” [1]
.
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ศาลวินิจฉัยว่า “จำเลยได้มีการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ” ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ประเด็นหลัก ประกอบกับศาลเห็นว่า คำว่า “ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์” นั้นประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ [2] เนื่องจากเห็นว่า เจตนาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด
.
ดังนั้น ตรงประเด็นนี้ จึงต้องทำความเข้าใจว่า ที่บริษัทเอกชนเขาฟ้องดังนั้น ก็เนื่องมาจากปกป้องตนเอง ไม่ใช่เป็นการฟ้องปิดปาก ส่วนการที่ศาลลงโทษ ก็เป็นเพราะจำเลยกระทำผิด ไม่ใช่ศาลจะหลงกลการฟ้องปิดปากของเอกชน ถ้าหากกระทำโดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่และสุจริต ศาลย่อมคุ้มครองช่วยเหลืออยู่แล้ว
.
จึงเป็นข้อเตือนใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มติการประชุมของค์กรกลุ่มมีความสำคัญมาก เพราะกฎหมายมุ่งให้มีการทำงานเป็นกลุ่ม ได้ถกเถียง ใช้เหตุผล พิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ให้อำนาจใครคนใดคนหนึ่งในการกระทำต่าง ๆ ไปเองโดยลำพัง เจตนาดีมีได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่อ้างว่ามีเจตนาดี แล้วทำผิดกฎหมาย
เชิงอรรถ
.
[1] ดูภาพข่าวหน้า ๓
[2] มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษณา