8 ก.พ. เวลา 13:55 • สิ่งแวดล้อม

จากผลสำรวจของ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับ 4 ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลัก ได้แก่

ภาวะโลกร้อน (20.3%)
ปัญหาขยะมูลฝอยที่จัดการไม่ถูกต้อง (19.1%)
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ (13.1%)
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (8.2%)
เครดิตภาพจาก : สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
การที่ปัญหาเหล่านี้ถูกพูดถึงมากขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่มีมาตรการแก้ไขที่จริงจัง ย่อมส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
อันดับ 1 โลกร้อน : ผลกระทบและแนวทางแก้ไข
ปัญหา: ปี 2567 เป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงเกิน 1.5°C จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์สุดขั้วทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
แนวทางแก้ไข:
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
สนับสนุนการใช้พาหนะไฟฟ้า (EV)
ส่งเสริมโครงการลดคาร์บอน เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว
อันดับ 2 ขยะมูลฝอย : ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งจัดการ
ปัญหา:  ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยมากถึง 28-29 ล้านตันต่อปี แต่ยังขาดระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
แนวทางแก้ไข:
สร้างความตระหนักรู้เรื่องการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
บังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางภาษีสำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก
สนับสนุนธุรกิจรีไซเคิล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อันดับ 3 ฝุ่น PM2.5 : ภัยเงียบต่อสุขภาพคนเมือง
ปัญหา: แหล่งกำเนิดหลักมาจากการจราจร การเผาไหม้ในภาคเกษตร และการปล่อยควันจากอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประชาชนในเมืองใหญ่เผชิญกับปัญหาสุขภาพ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจและมะเร็งปอด
แนวทางแก้ไข:
ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม
พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ใช้มาตรการลดการเผาในที่โล่งอย่างเข้มงวด
อันดับ 4 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ : ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม
ปัญหา: การขยายตัวของเมืองและการใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้สัตว์ป่าและระบบนิเวศถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง
แนวทางแก้ไข:
อนุรักษ์พื้นที่ป่า และออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเข้มงวด
ส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ (Nature-Based Solutions)
ควบคุมการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืนและสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ทาง TEI ดำเนินการยังได้สำรวจเหตุการณ์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ ๆ ในปี 2567 ที่คนให้ความสำคัญ พบว่า เรื่องกากแคดเมียม 15,000 ตันในโรงงานสมุทรสาคร ปัญหาฝุ่นPM2.5 ในภาคเหนือ ขยะพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล ที่มาเป็นอันดับ 5 (ประเด็นละ 7.4%) ถัดมาคือ สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย (5.3%) ปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์รุกล้ำน้ำน่านไทย (5.7%) พะยูนตายที่จังหวัดตรัง 2.5% และกากสารเคมีและไฟไหม้โรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (1.6%)
ดร.วิจารย์ สิมายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทุกเรื่องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ดังนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ไม่ใช่เพียงคนหนึ่งคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้นเพราะหากลงมือทำโดยไม่ได้รับความร่วมมือก็ไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้
อ่านเพิ่มเติม :
โฆษณา