14 ก.พ. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

14 กุมภาพันธ์ วันรักษ์พญาแร้ง

พญาแร้ง สูญพันธ์จากผืนป่าประเทศไทยไปนานกว่า 30 ปีแล้ว
ฝูงสุดท้าย ซึ่งอาศัยอยู่กลางป่าห้วยขาแข้ง จบชีวิตลงหลังกินซากเก้งผสมฟูราดาน (ยาเบื่อ) ที่พรานนำมาวางไว้ล่อเสือโคร่ง
แต่เป็นพญาแร้งที่ตาไวกว่า ลงมากินซากก่อน และจากไปอย่างทุรนทุราย
ปัจจุบัน กลุ่มนักอนุรักษ์และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมกำลังพยายามนำฟื้นฟูประชากรแร้งให้กลับมามีชีวิตกลางป่าอีกครั้ง
โดยได้เพาะพันธุ์พญาแร้งที่อาศัยอยู่ในกรงเลี้ยงของสวนสัตว์ เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563
ถึงตอนนี้มีลูกพญาแร้งเกิดใหม่แล้ว 2 ตัว
ตัวหนึ่งอยู่ที่กรงเลี้ยงสวนสัตว์นครราชสีมา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2566
ตัวที่สองอยู่ที่กรงเลี้ยงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2567
และต้นปีที่ผ่านมามีข่าวดีอีกครั้ง เมื่อคู่พ่อแม่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วางไข่ใบแรกของฤดูกาล
ถึงตอนนี้เรากำลังรอการยืนยันว่าไข่มีเชื้อ และพร้อมฟักออกมาเป็นตัวได้สำเร็จ
ซึ่งเราต่างหวังให้เป็นอย่างนั้น
โดยความสำคัญ พญาแร้งเป็นสัตว์กินซาก เมื่อมีพวกเขาอยู่ในระบบนิเวศ นั่นหมายถึงการมีผู้คอยทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เก็บกวาดซากอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย
ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ป่า และตัดวงจรการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้นๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ถ่ายเทพลังงาน เมื่อซากที่ถูกกินถูกสะสมและดูดซึมแร่ธาตุไว้ในร่างกาย พอสัตว์กินซากขับถ่ายหรือย่อยสลาย แร่ธาตุเหล่านั้นจะถูกปล่อยกลับคืนสู่ดิน ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
เป็นการหมุนเวียนวัฏจักรพลังงาน คงความสมดุล และความสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศ
หมายเหตุ วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ มีกิจกรรม Scavenger “เขากำลังจะกลับมา” วันรักษ์พญาแร้ง 3 ดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/ThailandredheadedVultureproject
โฆษณา