9 ก.พ. เวลา 00:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม ?? กองทุนรวมต่างประเทศ ที่กองไทยไปลงทุน Master fund กองเดียวกัน แต่ผลตอบแทนต่างกัน

กองทุนรวมต่างประเทศ หรือ FIF (Foreign Investment Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน มี 2 แบบหลักๆ และในแบบที่ 2 แบ่งได้ 2 แบบย่อย จึงสามารถแบ่งเทียบได้ รวมเป็น 3 แบบ
1. แบบที่ บลจ. ไทย ไปลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศนั้นโดยตรงเอง ซึ่งแบบนี้ค่าธรรมเนียม ผลตอบแทน การจัดการความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน กองทุนไทยเป็นผู้ดูแล บริหารจัดการทั้งหมด
2. แบบที่ บลจ.ไทยไปซื้อกองทุนรวมที่บริหารโดยต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตรงนี้จะแบ่งอีก 2 ลักษณะย่อย ที่เราเรียกว่า Feeder Fund และ Fund of Funds
- Feeder fund เป็นการที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว กองทุนรวมในต่างประเทศที่ บลจ. ไทยไปลงทุนจะเรียกว่า Master Fund ตรงนี้จะเห็นว่า บลจ. ไทยเหมือนเป็นตัวกลางพาเงินลงทุนของเราไปลงทุนใน Master Fund และผลตอบแทนหลักๆ จะขึ้นอยู่กับ Master Fund
- Fund of Funds เป็นการนำเงินไปซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายๆ กอง โดยบลจ. ไทยกำหนดในนโยบายว่าจะลงทุนกองทุนรวมในต่างประเทศกองใดบ้าง สัดส่วนอย่างไร และสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้ตามความเหมาะสม ตรงนี้จะเห็นว่า ผลตอบแทนจะขึ้นกับกองทุนรวมในต่างประเทศที่ไปลงทุนและส่วนผสมของกองทุน
แบบ Feeder fund ที่เป็นลง Master fund เดียวกัน แต่ผลตอบแทนต่างกัน จะมี 2 ประเด็นหลัก
1. เรื่องนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศนั้น เรื่องค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า สามารถส่งผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับได้ บางกองทุนรวมต่างประเทศ ที่ไปลงทุนใน Master fund เดียวกัน แต่นโยบายการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต่างกัน ก็ทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนอย่างเราได้รับต่างกันได้
ค่าเงินบาทแข็งค่า อ่อนค่า ส่งผลกับผลตอบแทนกองทุนรวมต่างประเทศยังไง?? https://www.blockdit.com/posts/66ff2d9997421348070e4088
ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund fact sheet) ของกองทุน จะมีเขียนว่ามีการป้องกันความเสี่ยงไว้ไหม ในตารางข้อมูลเชิงสถิติ >> FX Hedging แสดงเป็นเปอร์เซ็นต์ของการลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
2. ค่าธรรมเนียม เนื่องจากจะมีการคิดค่าธรรมเนียมทั้งของกองไทย (Feeder fund) และค่าธรรมเนียมของ Master fund ด้วย ซึ่งค่าธรรมเนียมที่มีผลต่อลตอบแทนคือ Total expense ratio (TER) ซึ่งเป็นหลักคือการบริหารจัดการกองทุนรวม
สำหรับ Feeder fund เราก็ดูในหนังสือชี้ชวนได้ ซึ่งที่เขามีการคิด เนื่องจากกองไทย จะเป็นคนดูแลเรื่องการบริหารเงินสด การบริหารความเสี่ยงค่าเงิน
ส่วนจะดูค่าธรรมเนียมของ Master fund ต้องตามไปดูตามชื่อกองทุนหลักและ ISIN code ซึ่งในหนังสือชี้ชวนที่กองไทยเขียนไว้จะมีบอกไว้ และอาจมีลิงค์ให้กดไปอ่านต่อได้
ดังนั้นลงใน Master fund กองเดียวกัน ผลตอบแทนอาจต่างกันได้จากเรื่องค่าเงิน และค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #กองทุนรวมต่างประเทศ #กองทุนรวม #ค่าเงิน #อัตราแลกเปลี่ยน
โฆษณา