Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
9 ก.พ. เวลา 03:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สงครามการค้า สหรัฐฯ - จีน
ได้อ่านบทความที่เขียนโดยลอรา บิกเกอร์ ของสำนักข่าว BBC News ที่นำมาลงโดย บีบีซี นิวส์ ไทย เมื่อวันที่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 แล้วเห็นว่าน่าสนใจ ขอนำมาเผยแพร่ต่อครับ แต่ขอสรุปจากบทความอีกที พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมจาก Nikkei Asia ตามนี้ครับ
ในปี 2019 ทรัมป์ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในจีน เช่น เสื้อผ้า และรองเท้า ในอัตรา15% จุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่นั้นมาคำสั่งซื้อรองเท้าของโรงงานผลิตรองเท้าจำนวนมากในจีนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โรงงานแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของจีนที่มี เผิง เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย เคยมีพนักงานมากกว่า 500 คน ก็ลดลงเหลือเพียง 200 กว่าคน
สถานการณ์ที่แย่ลงต่อเนื่องทำให้บริษัทใหญ่ ๆ เช่น ไนกี้ (Nike), อาดิดาส (Adidas) และพูมา (Puma) ตัดสินใจย้ายไปยังเวียดนามแล้ว
โรงงานของเผิงเองก็กำลังพิจารณาย้ายโรงงานผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับบริษัทคู่แข่งอีกหลายราย เพราะวิธีนี้จะช่วยบริษัทได้ แต่พนักงานจำนวนมากจะต้องตกงาน และนั่นหมายถึงการสูญเสียแรงงานที่มีทักษะที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 1 สัปดาห์ในการผลิตรองเท้าหนึ่งคู่ ตั้งแต่การทำให้หนังให้เรียบ ขัดเงารองเท้าที่ผลิตเสร็จแล้ว และการบรรจุเพื่อส่งออก การผลิตซึ่งใช้แรงงานราคาถูกที่มีความชำนาญการคือสิ่งที่ทำให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก และต้นทุนเหล่านี้ต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างขึ้นมา
สินค้าทุกประเภทตั้งแต่สิ่งทอไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้า คือกลุ่มสินค้ามูลค่าหลายร้อยพันล้านดอลลาร์ที่จีนส่งไปยังสหรัฐฯ ในแต่ละปี ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สถานะดังกล่าวถดถอยลงภายใต้การนำของ ทรัมป์ ในสมัยแรก และต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ แต่เมื่อสงครามการค้าเกิดขึ้น การย้ายฐานการผลิตทั้งของนักลงทุนต่างชาติและของนักลงทุนจีนเองคือทางออกและประเทศเป้าหมายคือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม ไทย กัมพูชา
อีกตัวอย่างหนึ่งของโรงงานนักธุรกิจจีนที่ย้ายฐานออกจากจีนคือโรงงานของ หวง เจาตง ซึ่งตัดสินใจย้ายโรงงานไปอยู่กัมพูชาเพื่อผลิตเสื้อผ้าเดือนละประมาณ 500,000 ตัว รองรับคำสั่งซื้อจำนวนมากจากวอลมาร์ท (Walmart) และคอสต์โก (Costco) ห้างค้าปลีกและค้าส่งยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะการขึ้นภาษีจะทำให้ผู้ขายปลีกเช่นวอลมาร์ทและคอสต์โก ต้องขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย และมีผลต่อกำไรของวอลมาร์ทและคอสต์โกเอง หากยังสั่งซื้อสินค้าที่ผลิตในจีน
ยกตัวอย่างวอลมาร์ท ซื้อสินค้าจากโรงงานของหวงที่อยู่ในจีน ในราคา 5 ดอลลาร์ ซึ่งปกติพวกเขาจะตั้งราคาขายปลีกที่ 3.5 เท่าของต้นทุนสินค้าที่ซื้อจากจีน ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีที่สูงขึ้น ราคาที่ หวง ขายให้พวกเขาเมื่อบวกภาษีนำเข้าแล้วอาจเพิ่มขึ้นเป็น 6 ดอลลาร์ ถ้าพวกเขาตั้งราคา 3.5 เท่าเหมือนเดิม ราคาขายปลีกก็จะเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 1 เหรียญ ซึ่งอาจจะทำให้คนซื้อน้อยลงมาก หากวอลมาร์ทไม่ต้องการเสียลูกค้ามากเกินไป ก็อาจจะต้องยอมตั้งราคาน้อยกว่า 3.5 เท่า ซึ่งจะกระทบกับกำไรของวอลมาร์ทเอง
การเก็บภาษีนำเข้าจึงไม่เป็นผลดีทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับผู้ขายจากจีนที่จะขายได้น้อยลง แต่กระทบกับกำไรของวอลมาร์ท และกระทบกับอำนาจซื้อของผู้บริโภคด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว ผู้นำเข้าจากสหรัฐฯ หลายหลายจึงต้องคุยกับซัพพลายเออร์ในจีนว่า ถ้าไม่ย้ายการผลิตออกจากจีน ก็จะหยุดซื้อสินค้าจากหวง ซึ่งสินค้าอื่นและกิจการอื่นก็เจอสถานการณ์เดียวกัน
ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนตั้งแต่ 100% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึง 25% สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียม และจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 สินค้าขายดีหลายรายการได้รับการยกเว้นภาษี เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวีและโทรศัพท์มือถือไอโฟน แต่ภาษีนำเข้า 10% ที่ทรัมป์เสนอจะส่งผลกระทบต่อราคาของสินค้าทุกชนิดที่ผลิตในจีนและส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งใช้ได้กับสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่ของเล่น ถ้วยชา ไปจนถึงแล็ปท็อป
นายหวงกล่าวว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้จะกระตุ้นให้โรงงานต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นมากขึ้น โรงงานแห่งใหม่หลายแห่งผุดขึ้นรอบ ๆ โรงงานของเขาในกัมพูชา บริษัทจีนจากศูนย์กลางการผลิตสิ่งทอ เช่น มณฑลซานตง เจ้อเจียง เจียงซู และกวางตุ้ง ต่างก็ย้ายเข้ามาเพื่อผลิตแจ็คเก็ตฤดูหนาวและเสื้อผ้าขนสัตว์ในกัมพูชา โดยรายงานจากกลุ่มรีเสริชแอนด์มาร์เก็ตส์ (Research and Markets) ซึ่งเป็นกลุ่มวิเคราะห์และวิจัยเชิงลึก ระบุว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชาประมาณ 90% ดำเนินการโดยชาวจีนหรือมีเจ้าของเป็นชาวจีน
แต่กัมพูชาไม่ใช่ผู้รับผลประโยชน์เพียงรายเดียว จีนได้ลงทุนอย่างหนักในส่วนต่าง ๆ ของโลกภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของประธานาธิบดีสี ซึ่งเป็นโครงการด้านการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มอิทธิพลของปักกิ่งด้วย ซึ่งหมายความว่าการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องหาทางออก
สื่อของรัฐบาลจีนอ้างว่า ปัจจุบันการนำเข้าและส่งออกของจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากประเทศในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกิดธุรกิจใหม่เพื่อให้คำแนะนำแก่บริษัทจีนในการพิจารณาขยายธุรกิจไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น แอฟริกาหรือละตินอเมริกา เพราะในขณะที่อเมริกาประกาศว่า "อเมริกาต้องมาก่อน" ปักกิ่งก็กำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะแสดงตนว่าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มั่นคง
และมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่จีนทำกำลังได้ผล โดยจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นตัวเลือกอันดับ 1 สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามผลสำรวจของสถาบันวิจัย ISEAS Yusof-Ishak ในสิงคโปร์
แม้ว่าการผลิตจะย้ายไปต่างประเทศแล้ว แต่เงินก็ยังคงไหลมายังประเทศจีนผ่านการสั่งซื้อวัตถุดิบของโรงงานจีนในต่างประเทศกลับมายังประเทศจีน เช่น 60% ของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าในโรงงานของนายหวงในพนมเปญมาจากประเทศจีน ในขณะที่การส่งออกจากจีนในสาขาการผลิตอื่นก็ยังเติบโต โดยปักกิ่งลงทุนมากขึ้นในการผลิตสินค้าระดับไฮเอนด์ ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ เมื่อปี 2024 ดุลการค้าของจีนกับโลกเกินดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 6% จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นปีต่อปี โดยทำสถิติสูงสุดที่ 992,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความของบีบีซี
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2025 สำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ สมัยแรก ทำให้การนำเข้าจากจีนลดลงมาก แต่ก็ทำให้การนำเข้าจากประเทศอื่นที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มากกว่า เพิ่มขึ้นมากในทุกประเทศเช่นกัน
เศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกา
ข่าวรอบโลก
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย