9 ก.พ. เวลา 08:59 • ประวัติศาสตร์

คดีแย่งผลแตงที่พาไปไกลถึงกำแพงจักรวาล

แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่าที่สุดขอบจักรวาลนั้นอยู่ที่ใด หากแต่คดีแย่งผลแตงซึ่งดูเหมือนจะเป็นคดีธรรมดา ๆ นี้ กลับก่อให้เกิดเรื่องราวที่เลยเถิดไกลได้ถึงกำแพงจักรวาลมาแล้ว
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อครั้งอดีตกาลนานมาแล้วในสมัยของพระมหาสมมุติราช มีข้าราชการนายหนึ่งชื่อว่า “พระมโนสาร” มีหน้าที่เป็นผู้พิพากษาคอยตัดสินคดีความต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน
ครั้งอยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุข้อพิพาทระหว่างชายสองคนที่มีไร่แตงอยู่ข้างกัน โดยแตงที่ชายคนแรกปลูกขึ้นในไร่ของตนได้เลื่อยข้ามเข้าไปในไร่แตงของชายคนที่สองแล้วออกผลอยู่ในที่ดินนั้น ทั้งสองจึงทะเลาะกันว่าใครที่เป็นเจ้าของแตงผลดังกล่าวกันแน่ และได้มาร้องขอให้พระมโนสารช่วยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว
เมื่อพระมโนสารทราบเรื่องจึงได้ไตร่ตรองดูแล้วตัดสินว่า “ผลแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด ผู้นั้นย่อมเป็นเจ้าของผลแตง” คำตัดสินดังกล่าวของพระมโนสารก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ชายซึ่งเป็นผู้ปลูกต้นแตงเป็นอย่างมากจึงได้นำความไปกราบทูลพระมหาสมมุติราช จนพระมหาสมมุติราชต้องมอบหมายให้อำมาตย์ผู้นึ่งทำการตัดสินคดีเสียใหม่ โดยอำมาตย์ผู้นั้นได้ทำการตรวจดูไปตามเถาต้นแตงแล้วตัดสินว่า “หากผลแตงนั้นเกิดขึ้นจากลำต้นแตงที่อยู่ในที่ดินของผู้ใด ผลแตงย่อมเป็นของเจ้าของต้นแตงนั้น”
ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความพอใจแก่ชายทั้งสอง ตลอดจนประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก จนต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญพระมหาสมมุติราชเป็นอันมาก ในทางกลับกันประชาชนต่างก็ตำหนิพระมโนสารว่าตัดสินคดีไม่เป็นธรรม
แต่แม้ว่าคดีจะจบลงด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่่าย แต่เรื่องมิได้จบลงเพียงเท่านี้ เนื่องจากเมื่อทราบเรื่องพระมโนสารก็รู้สึกผิดและเสียใจเป็นอย่างมาก จนตัดสินใจออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญเพียรภาวนาจนได้อภิญญา 5 อรรถสมบัติ 8 และมีความประสงค์ที่จะให้พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินธำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลอันเป็นสถานที่ที่มี “พระธรรมศาสตร์” จารึกไว้ แล้วจดจำเอามาเขียนเป็น “คำภีร์พระธรรมศาสตร์” ถวายให้แก่พระมหาสมมุติราชเพื่อใช้ในการกครองแผ่นดินสืบไป
และคัมภีร์พระธรรมศาสตร์นี้เองที่เป็นหลักการที่อยู่เบื้องหลังของกฎหมายไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงสมัยกฎหมายตราสามดวง โดยเชื่อกันว่าแต่เดิมเป็นคัมภีร์ของชาวฮินดูและไทยได้รับอิทธิพลผ่านทางมอญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
โฆษณา