Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิด.ตระ.ธานี #ให้ภาพเล่าเรื่อง
•
ติดตาม
9 ก.พ. เวลา 16:12 • ความคิดเห็น
ทูตส่งวิญญาณ..?
วันนี้ผมกับครอบครัว เตรียมอาหารไปถวายพระเพลที่วัดใกล้บ้าน เนื่องในวาระครบรอบวันตายของเตี่ย และถือโอกาสตั้งจิตระลึกถึง อ.ตุล (คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง) นักวิชาการด้านปรัชญาศาสนา ที่ผมเพิ่งทราบข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เมื่อเช้าวันที่ 9 ก.พ. 2568 นี้ด้วย
วัดในกรุงเทพฯ สมัยนี้ ปรับวิธีการต้อนรับญาติโยมที่มาทำบุญ ถวายสังฆทาน หรืออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับได้สะดวกมาก ครอบครัวผมจัดเตรียมเพียงอาหารที่จะถวายเพล ซองสำหรับถวายพระ จากนั้นก็ไม่ต้องเตรียมอะไรอีก เพราะที่วัดมีให้ทุกอย่าง ทั้งถาดสำหรับใส่อาหาร ถังสีเหลืองๆ ที่เราคุ้นตา (ผมชอบเรียกว่า “ถังฆทาน”) ซึ่งมักเป็นถังสำหรับถวายเวียน (หมายถึงเมื่อถวายพระเสร็จแล้ว ถังจะถูกนำมาเวียนให้ญาติโยมคนถัดไปใช้ถวายต่อ) กรณีนี้สำหรับญาติโยมที่มาแต่ตัว
โดยจะมีหลวงพ่อผู้นำพิธี นั่งประจำที่อยู่ตรงจุดถวายสังฆทานหนึ่งองค์ ญาติโยมก็จะผลัดกันเข้าไปถวายเป็นรอบๆ ถ้าจำบทสวดไม่ได้ (คนสมัยนี้ คงหาได้ยากที่จะจำบทสวดได้ครบ) ทางวัดก็จะมีป้ายเขียนบทสวดด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ แปะติดกับกำแพงด้านหลัง เพื่อให้อ่านกันได้สะดวก อาทิ คำอารธนาศีล ๕ และบทสวดไตรสรณคมณ์
ในแต่ละรอบหลวงพ่อนำพิธี จะเป็นฝ่ายสวดนำก่อน แล้วให้ญาติโยมพูด (หรืออ่าน) ตาม ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ก่อนจะจบที่การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับในแต่ละรอบ ซึ่งทางวัดก็มีชุดกรวดน้ำเตรียมไว้ให้พร้อม หลังกรวดน้ำเสร็จ จึงนำน้ำไปเทรดต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบๆ ศาลา แล้วนำกลับมากรอกน้ำใหม่ สำหรับให้ญาติโยมหยิบมาใช้ต่อในรอบถัดไป
พิธีกรรมแบบนี้...ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่เคยบวชเมื่อหลายปีก่อน ผมสังเกตว่า...ญาติโยมมักมองพระเหมือนกับเป็น “ทูต” หรือสื่อกลางที่สามารถติดต่อสื่อสารกับวิญญาณผู้ล่วงลับได้ เมื่อถวายของอะไรให้พระ หากเป็นของกิน มักเข้าใจว่าสามารถส่งของกินนั้น (ผ่านพระ) ไปถึงผู้ตายได้ แต่ที่แน่ๆ คือ “ช่วยให้พระอิ่มท้อง” มีชีวิตรอดไปได้อีกหนึ่งมื้อ ส่วนจะส่งต่อไปถึงญาติผู้ล่วงลับของท่านหรือไม่นั้น ตอนที่บวชเป็นพระผมก็ไม่ทราบได้
คำว่า ‘ภิกฺขุ’ ในภาษาบาลีแปลว่า ‘ผู้ขอ’ ส่วนคำว่า ‘บิณฑบาต’ มาจากคำว่า ‘ปิณฺฑ’ (ปิน-ทะ) แปลว่า ‘ก้อนกลม หรือข้าวที่ปั้นเป็นก้อน’ กับคำว่า ‘บาต’ ที่แปลว่า ‘การตก’ คำว่า ‘ปิณฺฑปาต’ (อ่านว่า ปิน-ทะ-บา-ตะ สะกดตามรากศัพท์บาลีเดิม) จึงหมายถึง ‘การตกของก้อนข้าว’ ซึ่งหมายถึงการรับอาหารจะญาติโยมนั่นเอง ส่วนคำว่า ‘บาตร’ (ที่มี ร.เรือ สะกดข้างท้ายด้วย ในภาษาสันสกฤตเขียนว่า ‘ปตฺร’) หมายถึงภาชนะที่พระใช้สำหรับรับอาหารนั่นเอง
สมัยผมบวชมีเรื่องให้แปลกใจหลายอย่าง เพราะญาติโยมไม่เพียงแต่ใส่อาหารให้เท่านั้น บางทีก็ถวายของแปลกๆ (แต่...ไม่ใช่ของขลัง หรือของลี้ลับอะไรหรอกนะครับ ไม่งั้นผมก็ไม่กล้ารับ) แล้วขอร้องให้เรา (ซึ่งขณะนั้นเป็นพระ) ให้นำไปไว้ในกุฏิ หน้าหิ้งพระ เพราะเชื่อว่าเมื่ออยู่ตรงนั้นจะทำให้ได้บุญ ผมจึงสรุปว่า...ในสายตาของประชาชน พระเหมือนกับผู้ที่สามารถสื่อสารกับโลกหน้าหรือโลกวิญญาณได้...ทำนองนั้น
จิด.ตระ.ธานี: #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
▸ Link tree:
https://linktr.ee/Jitdrathanee
ทำบุญ
วัด
พระสงฆ์
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าสู่กันฟังนะครับ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย