Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
NTP59
•
ติดตาม
10 ก.พ. เวลา 02:10 • ข่าวรอบโลก
รัฐช่วยแก้เรื่องแรงงานเก็บผลไม้ด้วย
นิติการุณย์
มิ่งรุจิราลัย
จันทบุรีและตราดเป็นแหล่งผลิตผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ นำรายได้จำนวนมหาศาลเข้าประเทศ
คาดว่า พ.ศ.2568 ทุเรียนภาคตะวันออกจะมีผลผลิต 1.045 ล้านตัน เริ่มทยอยสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์จนถึงสิงหาคม
1
ปีนี้จะมีมังคุดจากภาคตะวันออกมากถึง 2.3 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 จากปีก่อนหน้า มังคุดจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนมีนาคมจนถึงสิงหาคม
พอถึงเดือนเมษายนก็จะมีเงาะออกมา ปีนี้จะมีผลผลิตเงาะ 1.69 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 จากปีที่แล้ว
ผมอ่านจดหมายที่เขียนโดยนายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออก 2 ลงนามเมื่อ 1 ธันวาคม 2566 ถึงอธิบดีกรมจัดหางานและปลัดกระทรวงแรงงาน
ข้อใหญ่ใจความที่ประธานฯ พิพัฒน์เขียนก็คือ...
'แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้ใช้แรงงานกัมพูชาตามมาตรา 64 แล้ว ทว่ายังมีปัญหาในเรื่องแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้’
เมื่อเก็บผลไม้ที่จันทบุรีเสร็จแล้ว แรงงานก็ต้องเดินทางกลับไปที่กัมพูชา เพื่อทำเรื่องขออนุญาตกลับเข้ามาทำงานที่ตราด
การขออนุญาตใหม่ต้องใช้ทุนและใช้เวลานาน ทว่า อ้า ผลไม้รอไม่ได้ เมื่อสุกแล้วก็ต้องเก็บ
แรงงานไทยมีไม่พอ แรงงานต่างด้าวก็ไม่สามารถข้ามจังหวัดได้ แถมแรงงานกัมพูชาก็ไม่ได้มีมากพอที่จะกระจายไปเก็บได้ทั้ง 2 จังหวัดหรือหลายจังหวัดได้พร้อมกัน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน และผู้บริหารกระทรวงประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อ 5 สิงหาคม 2567 มีมติว่า...
“จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้เป็นการด่วน โดยจะเสนอ ครม.”
อ้า ทว่าบัดนี้ ผ่านมาเนิ่นนาน ใกล้ถึงเวลาที่จะต้องเก็บผลผลิตแล้ว
ที่จะช่วยชาวสวนได้ก็คือ ครม. ต้องมีมติให้แรงงานเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับอนุญาตทำงานอยู่แล้วตาม ม.64 เก็บผลผลิตทางการเกษตรในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวได้ทั่วประเทศ
‘โดยไม่ต้องขออนุญาตออก-เข้าพื้นที่ของแต่ละจังหวัดก่อนทุกครั้ง’
เพราะการขออนุญาตออก-เข้าพื้นที่ของแต่ละจังหวัดเป็นช่องทางการหาเงินของเจ้าหน้าที่และทำให้เสียเวลามาก ผลไม้เสียหายก่อนจะเก็บเกี่ยว
เกษตรกรไทยในปัจจุบันมีปัญหากับประเทศผู้ซื้อปลายทางมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะระบบ Traceability หรือระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งปัจจุบันเป็นข้อบังคับในหลายประเทศ ทว่าเกษตรกรไทยหลายรายยังไม่มีระบบนี้
หลังจากโควิด-19 ค่าขนส่งทางเรือและทางอากาศก็สูงขึ้น ภาวะสงครามกระทบกับเส้นทางเดินเรือ มีปัญหาความล่าช้าในการขนส่ง ผลไม้จำนวนไม่น้อยเน่าเสียก่อนถึงปลายทาง
เขียนอย่างไม่เกรงใจนะครับว่า ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีนักการเมืองคนไหนท่านใดลงมาช่วยเกษตรในเรื่อง Cold Chain Logistics ที่มีคุณภาพสูงสำหรับผลไม้อย่างทุเรียน มังคุด และมะม่วง
สินค้าเกษตรไทยโดน Trade Barriers หรือนโยบายกีดกันทางการค้า ทั้งโควตาการนำเข้า ภาษีศุลกากร มาตรการป้องกันสินค้า Dumping สินค้าผลไม้ไทยส่วนใหญ่ส่งไปจีน จีนก็ไม่ค่อยแน่นอนเรื่องความเข้มงวดที่ด่านศุลกากร
เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ปลูกผลไม้คล้ายไทย แต่รัฐมนตรีของเวียดนามขยันเดินทางไปทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศ ทำให้ผลไม้ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เสียเปรียบเรื่องภาษีศุลกากร
รัฐบาลไทยที่เคารพ ท่านก็ทราบว่าคนไทยรุ่นใหม่ไม่นิยมอาชีพเกษตรกรรม ทำให้เราขาดแรงงานภาคเกษตร ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงก็ถีบราคา ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้นจนแทบจะทำกันไม่ไหว
เกษตรกรมองไปที่รัฐบาลไทยทุกสมัย อยากให้ท่านไปขยายตลาดที่อื่นนอกจากจีนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อินเดีย เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง
ทว่าท่านทั้งหลายก็ยังนั่งนิ่งยิงฟันงันงงปลงๆ
เม็ดเงินหลายแสนล้านบาทต่อปีที่เกษตรกรเติมลงไปในระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้มีความมั่งคั่งหมุนเวียนหลายรอบ ขยายเป็นเงินถึงล้านล้านบาท รัฐบาลได้ภาษีก็เอาไปใช้จ่ายให้ข้าราชการและนักการเมือง
1
เกษตรกรไทยอยากขอความเมตตากรุณาอนุเคราะห์ให้รัฐบาลไทยสนใจความทุกข์ของเกษตรกรบ้าง
ขอความเมตตากรุณาด้วยเถิด กราบท่านรัฐบาลไทย ช่วยมีมติด่วนในเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ข้างต้นด้วย
กราบ กราบ กราบ.
2 บันทึก
48
3
7
2
48
3
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย