Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
10 ก.พ. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“เซเว่น” ร้านสะดวกซื้อหมายเลข 1 ในไทย กำเนิดจาก “ร้านขายน้ำแข็ง” ในสหรัฐฯ
เปิดประวัติหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ใกล้ชีวิตคนไทยที่สุดอย่าง “7-Eleven” กับจุดเริ่มต้นจาก “ร้านขายน้ำแข็ง” ในสหรัฐฯ สู่การเป็นเจ้าของโดยบริษัทญี่ปุ่น
ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนในประเทศไทย อาจเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีวันอดตาย เพราะทุกป้ายรถเมล์ ทุกหัวมุมถนน ทุกปั๊มน้ำมัน ทุกหมู่บ้าน/คอนโดมิเนียม ทุกสถานที่สำคัญ จะต้องมี “7-Eleven” (เซเว่นอีเลฟเว่น) ตั้งอยู่เสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร้านสะดวกซื้อที่คนไทยเรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่า “เซเว่น” นี้มีสินค้าแทบจะทุกอย่างที่ผู้คนต้องการ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันโทรศัพท์มือถือ ยังไม่นับบริการจ่ายบิล-จองตั๋วต่าง ๆ รวมถึงเปิดบริการ 24 ชั่วโมง
7-Eleven ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วโลก
เรียกได้ว่า บ้านไหนขาดแคลนอะไรหรือใครมีความจำเป็นต้องซื้อของจำเป็นเร่งด่วน เซเว่นจะเป็นตัวเลือกแรกในความคิดของหลายคนเสมอ น้อยคนมากที่จะไม่เคยเข้าเซเว่นเลยในชีวิตนี้ หรือบางคนอาจถึงขั้นขาดเซเว่นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ
และเซเว่นเองก็ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คน ด้วยการขยายเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง จนเป็นเครือร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย โดย ณ ปี 2023 มีมากกว่า 14,000 สาขา เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น
ด้วยความที่มีสาขามากขนาดนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า เซเว่นเป็นแบรนด์ของคนไทยและมีต้นกำเนิดในประเทศไทย แต่ความจริงแล้ว เซเว่นมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นของบริษัทญี่ปุ่นต่างหาก
เริ่มจากการเป็น “ร้านขายน้ำแข็ง”
จุดเริ่มต้นของเซเว่นนั้นต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1927 ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ โรงน้ำแข็งหลายแห่งได้รวมกันตั้งบริษัท “Southland Ice Company” ขึ้นมา โดยมี โจ ทอมป์สัน ซีเนียร์ เป็นประธานบริษัท และเปิดร้านขายน้ำแข็งสำหรับเก็บความเย็นในตู้เย็น ก่อนที่ต่อมาจะจำหน่ายสินค้าจำเป็นเพิ่ม เช่น ไข่ นม และขนมปัง
1 ปีถัดมาหลังก่อตั้ง โจได้เปลี่ยนชื่อร้านเป็น “Tote’m Stores” มาจากคำว่า “Tote” ที่แปลว่า “หิ้วสินค้า” เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ต้องหิ้วของจากร้านกลับบ้าน นอกจากนี้ยังเล่นคำกับคำว่า Totem หรือเสาไม้แกะสลักขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมชาวอินเดียนแดง โดยในเวลาต่อมาเมื่อร้านขยายสาขา บางสาขามีการตั้งเสาโทเทมไว้หน้าร้านด้วย
Southland Ice Company จุดเริ่มต้นของ 7-Eleven
Tote’m Stores ได้ขยายร้านค้าและประเภทสินค้าที่ขายมาเรื่อย ๆ จนปี 1946 มีการปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดร้าน คือเปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้า (7 a.m.) และปิด 5 ทุ่ม (11 p.m.) โดยเปิดทุกวันไม่มีวันหยุด ทำให้โจตัดสินใจเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “7-11” เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ว่าร้านเปิดทำการกี่โมง รวมถึงมีการเปลี่ยนโลโก้เป็น “7-ELEVEN” ที่ใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด
จากนั้นราว ๆ ปี 1960 โจได้วางมือ และส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชาย คือ จอห์น ทอมป์สัน ซีเนียร์ ซึ่งเริ่มช่วยทำงานในธุรกิจของพ่อมาตั้งแต่ยังเด็ก และเขาคนนี้เองที่มีส่วนในการพัฒนาธุรกิจจนคำว่า “ร้านสะดวกซื้อ” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
จอห์นเป็นผู้ริเริ่มบริการชงกาแฟให้ลูกค้าในปี 1964 รวมถึงเปิดตัว “Slurpee” (สเลอร์ปี) เครื่องดื่มปั่นเป็นเกล็ด หลังซื้อลิขสิทธิ์มาจาก The Icee Company ในปี 1966 และยังเปิดตัวเครื่องดื่ม “Big Gulp” ในปี 1980 ด้วย
เซเว่นเปิดตัว Slurpee ในปี 1966
พูดง่าย ๆ คือ เอกลักษณ์หลายอย่างของเซเว่นที่เรารู้จักในปัจจุบันมีจอห์นเป็นผู้ให้กำเนิด
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือโลโก้ของร้าน โดยภรรยาของจอห์นเสนอให้เปลี่ยนตัว N ในโลโก้ให้เป็นตัวพิมพ์เล็ก n เพราะเธอคิดว่าเวอร์ชันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดดูแข็งไปนิด เธอจึงเสนอให้เปลี่ยนแปลง “เพื่อให้โลโก้ดูสง่างามขึ้น”
จอห์นใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการขยายสาขาเซเว่นจากราว 600 สาขาเป็นมากกว่า 3,800 สาขาทั่วสหรัฐฯ รวมถึงนำระบบ “แฟรนไชส์” มาใช้ด้วย
โดยสรุปแล้ว จอห์นได้ทำให้เซเว่นกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ในปี 1985 มีรายได้รวมต่อปีเกิน 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หากเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบัน) และทำให้แนวคิดร้านสะดวกซื้อแพร่กระจายไปสู่ตลาดโลกทั้งในเม็กซิโก ญี่ปุ่น ประเทศตะวันออกไกล ออสเตรเลีย และยุโรป จนอาจพูดได้ว่า ความสำเร็จทุกวันนี้ มีเขาเป็นผู้วางรากฐานที่สำคัญ
“อิโตะ มาซาโทชิ” ชายผู้พลิกโฉมเซเว่น
ณ ปี 2024 ทั่วโลกมีเซเว่นกว่า 85,000 สาขาใน 19 ประเทศ อยู่ในญี่ปุ่นมากที่สุด คือ 21,000 สาขา หรือเกือบ 1 ใน 4 ของสาขาทั้งหมด
หากบอกว่า จอห์น ทอมป์สัน ซีเนียร์ เป็นผู้วางรากฐานให้กับเซเว่นแล้วล่ะก็ บุคคลที่ต่อยอดและทำให้แบรนด์ร้านสะดวกซื้อนี้เติบโตในระดับโลกแบบติดจรวดคือนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น “อิโตะ มาซาโทชิ”
อิโตะเกิดในกรุงโตเกียวเมื่อปี 1924 โดยครอบครัวของเขามีร้านขายเสื้อผ้าชื่อ “โยคาโดะ” (Yokado) ในย่านอาซากุสะ หลังเรียนจบเขาไปทำงานกับมิตซูบิชิอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาช่วยกิจการของที่บ้าน
เขาเข้ามาบริหารร้านเต็มตัวในปี 1956 และเปลี่ยนชื่อเป็น “อิโตะ-โยคาโดะ” (Ito-Yokado) รวมถึงเปลี่ยนธุรกิจดังกล่าวให้กลายเป็นเครือข่ายร้านค้าแบบครบวงจรที่ขายสินค้าทุกอย่างตั้งแต่ของชำ อาหาร สิ่งของจำเป็น ไปจนถึงเสื้อผ้า จนมีลักษณะคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ
ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จอย่างมากจนบริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1972
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซูซูกิ โทชิฟูมิ หนึ่งในผู้บริหารของอิโตะ-โยคาโดะได้เดินทางไปสหรัฐฯ และพบเห็นร้านเซเว่นแห่งหนึ่ง ซึ่งเขามองว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมาก จึงนำกลับมาปรึกษาอิโตะ
อิโตะเห็นตรงกันกับซูซูกิ จึงเริ่มเจรจาขอซื้อสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าในญี่ปุ่นจาก Southland ซึ่งเป็นเจ้าของเซเว่น และตั้งบริษัท York Seven จนเปิดร้าน 7-Eleven แห่งแรกในญี่ปุ่นได้เมื่อปี 1974 ในเขตโคโตะของกรุงโตเกียว จากนั้นใช้เวลา 2 ปีในการขยายเป็น 100 สาขา
เซเว่นในญี่ปุ่นขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จนมีมากกว่า 4,000 สาขาในปี 1990 ด้วยความสำเร็จอย่างท่วมท้นนี้เอง ทำให้ปีถัดมาอิโตะคิดการณ์ใหญ่ นั่นคือการขอเข้าซื้อหุ้นของ Southland เกือบ 70% ในเดือน มี.ค. 1991 และกลายเป็นเจ้าของแบรนด์เซเว่นโดยสมบูรณ์ รวมถึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “7-Eleven, Inc.” ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 1992 อิโตะต้องลาออกจากตำแหน่งในบริษัทอิโตะ-โยคาโดะ เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่า ผู้บริหาร 3 คนของบริษัทจ่ายเงินผิดกฎหมายให้กับแก๊งยากูซ่า
ต่อมาบริษัทอิโตะ-โยคาโดะเปลี่ยนชื่อเป็น “Seven & i Holdings” ในปี 2005 มีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งของอิโตะ-โยคาโดะและ Seven-Eleven Japan โดยอักษร “i” ในชื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อบริษัทอิโตะ-โยคาโดและอิโตะ ซึ่งได้รับตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท
อิโตะได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes ให้เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 8 ของญี่ปุ่น และอันดับ 622 ของโลกในปี 2022
เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2023 ด้วยโรคชรา ขณะมีอายุ 98 ปี
เซเว่นในประเทศญี่ปุ่น (แฟ้มภาพ)
เซเว่นในไทยโตวันโตคืน
สำหรับเซเว่นในประเทศไทยนั้น บริษัท CP All ได้รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าจาก 7-Eleven, Inc. และได้เปิดร้านสาขาแรกที่ซอยพัฒน์พงษ์ เมื่อปี 1989 โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการขยายเป็น 1,000 สาขา และในปี 2002 เริ่มมีการเปิดให้บริการเซเว่นในปั๊มน้ำมัน
โดยปี 2023 ที่ผ่านมา CP All เปิดร้านเซเว่นครบ 14,000 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาของบริษัทฯ 7,336 สาขา, ร้านรูปแบบ Store Business Partner (SBP) 6,335 สาขา และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงในอาณาเขต 874 สาขา
แบบแรกคือร้านที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของและบริหารงานเองทั้งหมด รวมถึงเป็นลงทุนในอุปกรณ์ค้าปลีกต่าง ๆ การตกแต่งร้าน และต้นทุนค่าสินค้า
ส่วนแบบ SBP คือให้ผู้ที่สนใจรวมถึงพนักงานเซเว่นเองเข้ามาบริหารร้าน โดยบริษัทฯ จะให้ความช่วยเหลือและความรู้ความเข้าใจอย่างใกล้ชิด ทั้งการบริหาร การคัดเลือกสินค้า ระบบการเงิน ฯลฯ สามารถเลือกได้ทั้งสาขาที่เปิดดำเนินการอยู๋แล้ว หรือเปิดใหม่เองในทำเลที่สนใจก็ได้ โดยบริษัทฯ จะช่วยวิเคราะห์ทำเลให้โดยไม่คิดค่าใชจ่าย
และแบบรับสิทธิช่วงในอาณาเขต คือร้านที่บริษัทฯ ทำสัญญาอนุญาตให้สิทธิช่วงแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเปิดเซเว่นเฉพาะอาณาเขตที่กำหนด ปัจจุบันมี 4 ราย ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา เชียงใหม่ และอุบลราชธานี โดยผู้รับสิทธิช่วงจะรับผิดชอบการเปิดสาขาและบริหารร้าน ส่วนบริษัทฯ จะช่วยสนับสนุนตามเงื่อนไข
ไม่เพียงเท่านั้น CP All ยังได้รับสิทธิในการเปิดเซเว่นในกัมพูชาและ สปป.ลาว ด้วย
โดยเปิดเซเว่นสาขาแรกของกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2021 ในเขต Chroy Changvar กรุงพนมเปญ และ ณ ปี 2023 ขยายจนมี 82 สาขาแล้ว
ส่วนที่ สปป. ลาว เปิดเซเว่นสาขาแรกเมื่อ 7 ก.ย. 2023 ที่ถนนสุภานุวงศ์ ในนครเวียงจันทน์ และขยายจนมี 3 สาขา ณ สิ้นปี 2023
ด้วยสาขามากกว่า 14,000 แห่งในประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาวนี้ ทำให้ในปี 2023 เซเว่นในเครือ CP All ทำรายได้รวมทั้งหมดกว่า 4.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 44% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ
ทิศทางของเซเว่นประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สามารถขยายสาขาได้เฉลี่ยปีละประมาณ 700 แห่ง และยิ่งเมื่อขยายสาขาในเพื่อนบ้านอาเซียนได้ด้วยแล้ว ทำให้คาดว่าเซเว่นประเทศไทยจะมีสาขาทะลุ 15,000 ได้อย่างไม่ยากเย็น
เซเว่นในประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
บริษัทตะวันตกจ้องเทกโอเวอร์
ด้วยสถานะความเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่เครือร้านสะดวกซื้อของโลก และติด 1 ใน 10 แบรนด์ที่มีแฟรนไชส์มากที่สุดในโลก ทำให้เมื่อเดือน ก.ย. 2024 บริษัท Alimentation Couche-Tard (ACT) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อและค้าปลีกเชื้อเพลิงสัญชาติแคนาดา ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ Seven & i Holdings ด้วยมูลค่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท ณ เวลาที่มีการยื่นข้อเสนอ)
อย่างไรก็ตาม ทาง Seven & i Holdings ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ข้อเสนอของบริษัท ACT “ประเมินค่าบริษัทต่ำเกินไปอย่างมาก” และมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ
Seven & i Holdings เปิดเผยว่า ข้อเสนอเริ่มต้นของ ACT ประเมินค่าบริษัทไว้ที่ 14.86 ดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 500 บาท ณ เวลาที่ยื่นข้อเสนอ) ต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาหุ้นของบริษัทมากกว่า 20% ก่อนที่ข้อเสนอจะได้รับการประกาศ
ข้อเสนอของ ACT ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Seven & i ดูมีมูลค่าถูกลงสำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติ
“ข้อเสนอของคุณไม่ได้ระบุถึงความท้าทายหลายประการและสำคัญที่ธุรกรรมดังกล่าวจะต้องเผชิญจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันของสหรัฐฯ” Seven & i Holdings ระบุเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ACT เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ Circle K และ Couche-Tard มีร้านสะดวกซื้อประมาณ 17,000 แห่งในกว่า 30 ประเทศและเขตการปกครองทั่วอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย
ความเคลื่อนไหวของ ACT ที่จ้องจะเทกโอเวอร์ Seven & i Holdings ทำให้เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2025 ที่ผ่านมามีการรายงานของสื่อญี่ปุ่นว่า “ครอบครัวผู้ก่อตั้งเซเว่นญี่ปุ่นกำลังขอให้บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ของประเทศไทย เจ้าของ CP All ร่วมลงทุนในการซื้อกิจการคืนจาก Seven & i Holdings และถอดสถานะจากการเป็นบริษัทในจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์”
มีรายงานด้วยว่า ครอบครัวผู้ก่อตั้งเซเว่นกำลังจัดเตรียมการเพื่อสรุปข้อเสนอซื้อกิจการภายในปีงบประมาณ โดยจะเป็นการซื้อกิจการแบบ Management Buyout (MBO) หรือการที่ผู้บริหารขอซื้อกิจการหรือหุ้นในการบริหารคืน
แผนการซื้อกิจการคืนครั้งนี้คาดว่าเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ ACT เทกโอเวอร์ Seven & i Holdings สำเร็จ
แต่ทาง CPALL ชี้แจงว่า “ตามที่ปรากฏข่าวโดยสื่อต่างประเทศ เรื่องบริษัทค้าปลีกญี่ปุ่นมองหาผู้ร่วมลงทุนหลายราย ซึ่งบริษัทฯ เป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกอ้างถึงในข่าว โดยยังไม่มีข้อสรุปเงื่อนไข และการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนแต่ประการใด”
“บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทฯ มีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ ในกรณีที่บริษัทฯ พิจารณาข้อเสนอใด ๆ ในการลงทุน บริษัทฯ จะดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง โดยเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เป็นสำคัญ”
จากเนื้อความจะพบว่า ไม่ได้มีการปฏิเสธอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ดีลธุรกิจมูลค่ามหาศาลนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่
ประวัติธุรกิจ 7-Eleven
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/242322
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
ลงทุน
3 บันทึก
3
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย