10 ก.พ. เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ตราสารหนี้สีเขียว” ทางเลือกเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สนค. แนะตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) ทางเลือกในการส่งเสริมธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาแนวโน้มการขยายตัวของตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) พร้อมแนะภาครัฐและภาคเอกชนใช้เป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค.
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค. เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความท้าทายทุกภาคส่วนทั่วโลก มาตรการ กฎเกณฑ์ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และหาแหล่งเงินทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ
โดยในรายงาน Global Warming of 1.5°C ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดว่าในปี 2583 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศา จากปี 2564 (19 ปี) และในช่วงระหว่างปี 2559 - 2578 ทั่วโลกจะมีค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ขณะที่ในรายงาน Labelled Bonds for the Net-Zero Transition in South-East Asia : The Way Forward จัดทำโดย World Economic Forum ร่วมกับ ETH Zurich ระบุว่าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงิน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
ความต้องการเงินทุนสำหรับดำเนินการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของภาคเอกชน ก่อให้เกิดทางเลือกในการระดมทุนสำหรับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ได้แก่ ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียน
การคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะ และการสร้างอาคารสีเขียว ทั้งนี้ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “พันธบัตรสีเขียว” และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่า “หุ้นกู้สีเขียว”.....นายพูนพงษ์ กล่าว
“ตราสารหนี้สีเขียว” ทางเลือกเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันตราสารหนี้สีเขียวเป็นตราสารหนี้ที่มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับรายงาน Sustainable Debt Market Summary ประจำไตรมาส 3 ของปี 2567 ของ Climate Bonds Initiative ที่ระบุว่าตลาดตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (Green, Social, Sustainability and Sustainability-linked Debts) เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่มีการออกตราสารหนี้ครั้งแรกในปี 2550
โดยในไตรมาส 3 ของปี 2567 ตราสารหนี้สีเขียวทั่วโลกมีมูลค่าสะสมตั้งแต่ปี 2550 ประมาณ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ของตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 5.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้า
สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกกำลังเร่งระดมทุนเพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่มีตราสารหนี้สีเขียวมากที่สุดคือ จีน มีมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และรองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ.....นายพูนพงษ์ กล่าว
ตัวอย่างตราสารหนี้สีเขียวของต่างประเทศ
อินเดีย ออกพันธบัตรสีเขียวสำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เพื่อให้อินเดียสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
เบลเยียม ออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สหรัฐอเมริกา บริษัท Apple ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และโครงการพลังงานลม
แคนาดา ออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเครื่องมือดักจับคาร์บอน
ซาอุดีอาระเบีย บริษัท Saudi Electricity Company ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียวและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
สำหรับในประเทศไทยมีการออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งแรกในปี 2558 ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้สีเขียวในปี 2561 โดยในรายงาน Emerging Market Green Bonds ที่จัดทำโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) และ Amundi ระบุว่า ตราสารหนี้สีเขียวของไทยในปี 2566 มีมูลค่าสะสมประมาณ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตราสารหนี้สีเขียวในไทยส่วนใหญ่ออกโดยภาคเอกชนและธนาคาร อาทิ
  • บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด
  • บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมในออสเตรเลีย และโครงการรถไฟฟ้าในไทย
  • บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกพันธบัตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อ SMEs (SME Green Bond) สำหรับนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะดำเนินโครงการพลังงานสะอาด
  • ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB THAI) ออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อระดมเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ให้กับโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแสวงหาเงินทุนโดยใช้ตราสารหนี้สีเขียวได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero).....นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/sustainability/242452
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา