“อ่าวมาหยา” เมืองหลวงฉลามครีบดำ พื้นที่สำรวจฉลามครีบดำแห่งแรกของประเทศไทย ล่าสุดอวดโฉมพบถึง 172 ตัว

เมื่อวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) สำรวจติดตามประชากรและพฤติกรรมของฉลามครีบดำ
โดยใช้วิธีถ่ายภาพทางอากาศ (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อนับประชากรฉลาม และติดตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUV (Baited Remote Underwater Video) เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม จากการสำรวจเบื้องต้น พบประชากรของฉลามครีบดำมากที่สุด ล่าสุดในช่วงเช้าของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนถึง 172 ตัว ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จะนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึก
ฉลามครีบดำ หรือ ปลาฉลามหูดำ มีชื่อสามัญว่า Blacktip reef shark และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝘾𝙖𝙧𝙘𝙝𝙖𝙧𝙝𝙞𝙣𝙪𝙨 𝙢𝙚𝙡𝙖𝙣𝙤𝙥𝙩𝙚𝙧𝙪𝙨 วงศ์ : Carcharhinidae มีแถบดำที่ครีบหลัง กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่นๆ นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง
"อ่าวมาหยา" ยังเป็นพื้นที่วิจัยในโครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำ (Shark Watch Project) โดยศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี สำรวจวิจัย “ฉลามครีบดำ” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและหาแนวทางอนุรักษ์ฉลามครีบดำในพื้นที่ต่อไป
ที่มา : ส่วนอุทยานแห่งชาติ
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)
ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง)
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่
#ฉลามครีบดำ #อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี #กระบี่ #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา