ว่านจุก กล้วยไม้ที่สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัย...รู้จักกล้วยไม้ป่า ความสวยงามที่ควรอยู่คู่ป่าเท่านั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอแนะนำให้รู้จักกับกล้วยไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งนั่นคือ ว่านจุก Spathoglottis plicata Blume
โดยกล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช ความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 - 700 เมตร เป็นกล้วยไม้ดิน เจริญทางข้าง ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ใบ รูปแถบ ยาวได้ถึง 1 เมตร ปลายเรียวแหลม เส้นใบขนาน
ช่อดอก แบบ กระจะ ออกข้างต้นใต้ดิน ชี้ขึ้น ก้านช่อดอกสีเขียว ยาวกว่า 1 เมตร มีข้อเป็นระยะๆ ที่ข้อมีกาบแหลมหุ้มกาบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ดอกในช่อมีได้ถึง 20 ดอก หรือมากกว่า ใบประดับดอกสีม่วงแดง พับกลับ กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1.5 เซนติเมตร
ดอก มีสีม่วงถึงม่วงแดง กว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง รูปแถบแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลม กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร กลีบดอก รูปรี ปลายแหลม กว้าง 1.3 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร กลีบปาก ยาว 1.5 เซนติเมตร หูกลีบปากสีม่วงเข้มและงอนขึ้น ถัดจากหูกลีบปาก มีตุ่มเนื้อเยื่อสีขาวจนถึงเหลือง 2 ตุ่ม ปลายตุ่มมน แผ่ออกข้าง ปลายตุ่ม มีขน สีขาว ปลายกลีบปากยื่นยาวไปข้างหน้า
ฐานดอก ปลายแผ่ออกเป็นรูปครึ่งวงกลม ตรงกลางเว้าบุ๋มสีม่วง เส้าเกสรยื่นตัวโค้งไปข้าง หน้า ยาว 1.3 เซนติเมตร โคนสีม่วงอ่อน ปลายสีม่วงเข้ม ฝาครอบกลุ่มอับเรณูสีม่วงอ่อน ขึ้นตามที่ดินร่วนและชุ่มชื้น ตามป่าโปร่ง แสงแดดจัด
มีช่วงเวลาในการออกดอกตลอดทั้งปี
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
#ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ #สุราษฎร์ธานี #ว่านจุก #กล้วยไม้ #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา